กลุ่มดาว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 167.8K views



มีการศึกษากลุ่มดาวบนท้องฟ้ากันมาแต่โบราณ มนุษย์จินตนาการมองกลุ่มดาวเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ เพื่อให้สังเกตและจดจำได้ง่าย กลุ่มดาวบนท้องฟ้ามีมากมาย เช่น ดาวเหนือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ กลุ่มดาวจระเข้ กลุ่มดาวค้างคาว กลุ่มดาวนายพราน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มดาวจักรราศีที่เป็นตัวแทนของเดือนต่างๆ

ภาพ : shutterstock.com

 

คนในสมัยก่อนเชื่อว่า เบื้องบนเป็นสวรรค์ เบื้องล่างเป็นนรก โดยมีโลกมนุษย์อยู่ตรงกลาง มนุษย์จินตนาการว่า โลกที่เราอยู่นั้น มีทรงกลมท้องฟ้าล้อมรอบ โดยมีดวงดาวติดอยู่ที่ทรงกลมนั้น ดังนั้น คนโบราณจึงคิดว่า ดวงดาวแต่ละดวงอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางเท่าๆ กัน เนื่องจากบนท้องฟ้ามีดวงดาวอยู่เป็นจำนวนมาก มนุษย์จึงแบ่งดวงดาวออกเป็นกลุ่มๆ และวาดภาพจินตนาการว่าเป็นรูป คน สัตว์ สิ่งของ ไปต่างๆ นานา ตามความเชื่อและวิถีชีวิตของแต่ละวัฒนธรรม

การมองกลุ่มดาว (Constellations) บนท้องฟ้ามีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม เช่น ชาวยุโรปซึ่งอยู่บนภูเขาดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์เป็นหลัก มองเห็นกลุ่มดาวนายพราน (Orion) เป็นรูปนายพราน แต่ชาวสยามทำการเพาะปลูก หรือเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงมองเห็นกลุ่มดาวเดียวกันนี้เป็นรูปเต่า และคันไถ ในกรณีของกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa major) ก็เช่นกัน ชาวยุโรปซึ่งใช้ชีวิตบนภูเขามองเห็นเป็นรูปหมีใหญ่ แต่ชาวสยามใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำจึงมองเห็นเป็นรูปจระเข้

ในอดีตกลุ่มดาวเป็นเพียงเรื่องของจินตนาการ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ฉะนั้น เพื่อให้สื่อความหมายตรงกัน สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากลจึงกำหนดมาตรฐานเดียวกัน โดยแบ่งกลุ่มดาวบนทรงกลมท้องฟ้าออกเป็น 88 กลุ่ม โดยมีชื่อเรียกให้เหมือนกันโดยถือเอาตามยุโรป เช่น กลุ่มดาวนายพราน และกลุ่มดาวหมีใหญ่ ส่วนชื่อกลุ่มดาวเต่า กลุ่มดาวจระเข้นั้น ถือเป็นชื่อท้องถิ่นภายในประเทศไทย

 

การหาตำแหน่งของดาวเหนือ

ภาพ : shutterstock.com

 

ทรงกลมท้องฟ้าหมุนเคลื่อนที่ไปตลอดเวลา เราจึงมองเห็นกลุ่มดาวหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวันเวลา และตามฤดูกาล ดังนั้น ในการเริ่มต้นสังเกตการณ์ท้องฟ้า เราจะต้องรู้จักตำแหน่งของทิศทั้งสี่เสียก่อน หากไม่มีเข็มทิศเราก็สามารถใช้กลุ่มดาวเป็นประโยชน์ในการบอกทิศได้

โลกหมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และกลุ่มดาวบนท้องฟ้า เคลื่อนที่จากทางตะวันออกไปยังทางตะวันตก ดาวเหนือเป็นดาวดวงเดียวที่ปรากฏอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนที่ไปไหน อย่างไรก็ตามดาวเหนือมีความสว่างไม่มาก และอยู่สูงเหนือเส้นขอบฟ้าไม่มากเมื่อมองดูจากประเทศไทย

 

การหาดาวเหนือจากกลุ่มดาวหมีใหญ่ (กลุ่มดาวจระเข้)

ในบางครั้งเรามองหาดาวเหนือได้จากการดู “กลุ่มดาวหมีใหญ่” (Ursa major) หรือที่คนไทยเราเรียกว่า “กลุ่มดาวจระเข้” กลุ่มดาวนี้มีดาวสว่างเจ็ดดวง เรียงตัวเป็นรูปกระบวยตักน้ำ เส้นตรงจากดาวสองดวงแรกของกระบวยตักน้ำจะชี้ไปยังดาวเหนือเสมอ ไม่ว่าทรงกลมท้องฟ้าจะหมุนไปอย่างไรก็ตาม ดาวเหนือจะอยู่ห่างออกไป 4 เท่าของระยะทางระหว่างดาวสองดวงแรกเสมอ

 

การหาดาวเหนือจากกลุ่มดาวค้างคาว

ในบางคืนกลุ่มดาวหมีใหญ่เพิ่งตกไป หรือยังไม่ขึ้นมา เราก็สามารถมองหาทิศเหนืออย่างคร่าวๆ ได้โดยอาศัย “กลุ่มดาวค้างคาว” (Cassiopeia) กลุ่มดาวค้างคาวประกอบด้วย ดาวสว่าง 5 ดวง เรียงเป็นรูปตัว “M” หรือ “W” คว่ำ กลุ่มดาวค้างคาวจะอยู่ในทิศตรงข้ามกับกลุ่มดาวหมีใหญ่เสมอ ดังนั้น ในขณะที่กลุ่มดาวหมีใหญ่กำลังตก กลุ่มดาวค้างคาวก็กำลังขึ้น และเมื่อกลุ่มดาวหมีใหญ่กำลังจะขึ้นกลุ่มดาวค้างคาวก็กำลังจะตกเช่นกัน

 

การหาดาวเหนือจากกลุ่มดาวนายพราน (กลุ่มดาวเต่า)

ในบางครั้งเมฆเข้ามาบังท้องฟ้าทางด้านทิศเหนือ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือ กลุ่มดาวค้างคาวได้เลย ในกรณีนี้เราอาจใช้ “กลุ่มดาวนายพราน” (Orion) ในการนำทางได้อย่างคร่าวๆ เพราะกลุ่มดาวนายพรานจะหันหัวเข้าหาดาวเหนือเสมอ นอกจากนั้นกลุ่มดาวนายพรานยังตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรฟ้า นั่นหมายความว่า กลุ่มดาวนายพรานจะขึ้น-ตก ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เสมอ

 

กลุ่มดาวจักรราศี

ภาพ : shutterstock.com

 

โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 1 ปี  ทำให้ตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์ เมื่อเปรียบเทียบกับตำแหน่งของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าเปลี่ยนแปลงไป ดังภาพที่ 1 ยกตัวอย่าง ในเดือนมิถุนายน เรามองเห็นดวงอาทิตย์อยู่หน้ากลุ่มดาวคนคู่ (ราศีเมถุน) หนึ่งเดือนต่อมา ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ในทิศทวนเข็มนาฬิกาไป 30° เราก็จะมองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปอยู่หน้ากลุ่มดาวปู (ราศีกรกฎ) ซึ่งอยู่ถัดไป 30° เช่นกัน

เราเรียกกลุ่มดาวซึ่งบอกตำแหน่งดวงอาทิตย์ในแต่ละเดือนว่า “จักราศี” (Zodiac) ผู้คนในสมัยก่อนใช้กลุ่มดาวจักราศีเป็นปฏิทินในการกำหนดเดือน โดยการเปรียบเทียบตำแหน่งของดวงอาทิตย์ กับตำแหน่งของกลุ่มดาวจักราศีบนท้องฟ้า โดยถือเอาเส้นสุริยวิถีเป็นเส้นรอบวง 360° หารด้วยจำนวนกลุ่มดาวประจำราศีทั้ง 12 กลุ่ม ซึ่งห่างกันกลุ่มละ 30° (30° x 12 = 360°)

จากรูปตัวอย่าง ผู้สังเกตบนโลกจะเห็นดวงอาทิตย์ทับกลุ่มดาวราศีตุล แสดงว่าเป็นช่วงเดือนตุลาคม ในช่วงเดือนนี้กลุ่มดาวราศีตุลจะขึ้นจากท้องฟ้าพร้อมกับดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองไม่เห็นกลุ่มดาวนี้ เพราะเราจะเห็นดาวได้ในตอนกลางคืน คือหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว แต่กลุ่มดาวราศีตุลก็จะลับฟ้าไปพร้อมๆ กับดวงอาทิตย์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ดวงอาทิตย์จะค่อยๆ ย้ายตำแหน่งออกจากการทับกลุ่มดาวราศีตุล โดยจะเคลื่อนที่แบบทวนเข็มนาฬิกาออกจากกลุ่มดาววันละ 1° จนกระทั่งเข้าสู่ราศีพิจิกในที่สุด ซึ่งแต่ละกลุ่มดาวจักรราศีกินมุม 30° ของทรงกลมท้องฟ้า ดวงอาทิตย์จึงทับกลุ่มดาวจักรราศีแต่ละกลุ่มเป็นเวลาราว 30 วัน หรือ 1 เดือนนั่นเอง

และเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายตำแหน่งไปจนครบทั้ง 12 กลุ่มดาวจักรราศีหรือครบรอบ 360° ของวงกลมท้องฟ้าก็จะกินเวลาราว 360 วัน หรือเท่ากับ 1 ปี (365-366 วัน)