ระบบย่อยอาหารของมนุษย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 43.4K views



ระบบย่อยอาหารของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะต่างๆ มากมาย อวัยวะที่มีหน้าที่ย่อยอาหารโดยตรง ได้แก่ ปาก ฟัน ลิ้น คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตับ ตับอ่อน ถุงน้ำดี

ภาพ : shutterstock.com

เมื่อกินอาหารเข้าไป อาหารจะผ่านปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ กากอาหารจะถูกขับออกทางทวารหนัก นอกจากนั้น ในระบบย่อยอาหารยังมีต่อมน้ำลาย ลิ้น ตับ ตับอ่อน ร่วมทำงานอยู่ด้วย ระบบย่อยอาหารของมนุษย์ประกอบด้วยอวัยวะหลักๆ ดังนี้

1. ปาก (Mouth) ในช่องปากประกอบด้วย 3 อวัยวะหลัก

ภาพ : shutterstock.com

         - ฟัน (Teeth) ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารที่รับประทานให้เล็กลง โดยมนุษย์จะมีฟัน 2 ชุด ชุดแรก คือ ฟันน้ำนม มี 20 ซี่ ส่วนชุดที่ 2 คือ ฟันแท้มี 32 ซี่ แบ่งเป็นฟันบนข้างละ 8 ซี่ ฟันล่างข้างละ 8 ซี่ แต่ละข้างแบ่งเป็น ฟันตัด 2 ซี่ ฟันเขี้ยว 1 ซี่ ฟันกรามน้อย 2 ซี่ และฟันกราม 3 ซี่ เรียงตามลำดับจากหน้าไปหลัง

         - น้ำลาย (Saliva) ถูกผลิตจากต่อมน้ำลาย (Salivary gland) โดยน้ำลายนั้นจะมีเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) หรือไทยาลีน (Ptyalin) ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งให้มีขนาดเล็ก นอกจากนี้น้ำลายยังช่วยให้อาหารอ่อนตัว เพื่อให้กลืนอาหารได้ง่ายขึ้น

         - ลิ้น (Tongue) ทำหน้าที่รับรสอาหาร เกลี่ยอาหารเพื่อให้ฟันบด คลุกเคล้าอาหารเพื่อให้สะดวกในการกลืน ประกอบด้วยกล้ามเนื้อโครงร่างขนาดใหญ่ ที่พื้นผิวปกคลุมไปด้วยปุ่มรับรส (Taste bud) ซึ่งสามารถรับรสได้แตกต่างกันตามตำแหน่งของลิ้น

2. คอหอย (Pharynx)

อยู่หน้ากระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นทางผ่านของอาหารจากปากไปยังหลอดอาหาร โดยระหว่างการกลืน ขณะที่อาหารผ่านคอหอย หลอดลมจะปิดเพื่อไม่ให้อาหารไหลเข้าไป บริเวณนี้ไม่มีการย่อยเกิดขึ้น

3. หลอดอาหาร (Esophagus)

มีทั้งส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อลาย และส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อเรียบ ทำหน้าที่รับอาหารจากคอหอย และส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร โดยการบีบรัดกล้ามเนื้อหลอดอาหารในลักษณะของการหด และคลายกล้ามเนื้อเป็นจังหวะ ๆ เรียกการบีบตัวแบบเพอริสตัลซิส (Peristalsis)

4. กระเพาะอาหาร (Stomach)

ภาพ : shutterstock.com

อยู่ระหว่างปลายของหลอดอาหาร กับส่วนต้นของลำไส้เล็ก มีลักษณะคล้ายถุงมีผนังกล้ามเนื้อเป็นลูกคลื่น มีความแข็งแรง เป็นที่รองรับอาหาร คลุกเคล้าอาหาร และหลั่งน้ำย่อยโปรตีน ซึ่งจะทำให้อาหารกลายเป็นของเหลวเหนียวข้น แล้วส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก บริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างกระเพาะอาหาร กับหลอดอาหาร จะมีหูรูดป้องกันน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร ส่วนบริเวณที่เชื่อมต่อกับลำไส้เล็ก จะมีหูรูดเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารไหลเข้าสู่ลำไส้เล็กเร็วเกินไป

5. ลำไส้เล็ก (Small intestine)

ภาพ : shutterstock.com

มีลักษณะคล้ายท่อกลวงขดไปมาในช่องท้อง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ลำไส้เล็กส่วนต้นเรียกว่าดูโอดีนัม (Duodenum) ส่วนกลางเรียกว่าเจจูนัม (Jejunum) และส่วนปลายเรียกว่าไอเลียม (Ileum) เป็นบริเวณที่มีการย่อยและดูดซึมสารอาหารมากที่สุด บริเวณลำไส้เล็กจะมีเอนไซม์จากตับอ่อน (Pancreas) มาช่วยย่อยสารอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต รวมถึงน้ำดีจากตับ (Liver) ที่ช่วยย่อยไขมันและกำจัดของเสียในเลือด

6. ลำไส้ใหญ่ (Large intestine) ประกอบด้วย 3 ส่วน

ภาพ : shutterstock.com

เริ่มจากส่วนที่เรียกว่าซีคัม (Caecum) ซึ่งมีส่วนของไส้ติ่ง (Appendix) ยื่นออกมา ส่วนโคลอน (Colon) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ยาวที่สุด มีหน้าที่ดูดซึมน้ำและวิตามินบางชนิด รวมถึงการขับกากอาหารให้เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่าไส้ตรง (Rectum) เพื่อรอขับถ่ายผ่านทางทวารหนัก (Anus) ต่อไป

 

นอกจากนี้ระบบย่อยอาหารยังมีอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1. ต่อมน้ำลาย (Salivary gland) มี 3 คู่ คือ ต่อมข้างกกหู ถ้าอักเสบจะมีอาการ บวมแดง เรียก คางทูม ต่อมใต้ขากรรไกร และต่อมใต้ลิ้น ผลิตน้ำลายลักษณะต่างๆ เข้าสู่ปาก

2. ตับ (Liver) เป็นอวัยวะภายในที่มีหน้าที่สำคัญในขบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกาย เช่น การควบคุมปริมาณน้ำตาลกลูโคส (Glucose) โดยเซลล์ตับจะเก็บไว้ในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) การสลายเซลล์เม็ดเลือดแดง (Red blood cell) การสังเคราะห์พลาสมาโปรตีน การผลิตฮอร์โมน (Hormones) และการกำจัดสารพิษ และที่สำคัญ ตับยังเป็นต่อมช่วยย่อยอาหาร โดยผลิตน้ำดี (Bile) ส่งเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม เพื่อย่อยอาหารประเภทไขมัน

3. ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะที่จัดอยู่ในระบบย่อยอาหารและระบบต่อมไร้ท่อ โดยในระบบย่อยอาหารนั้นตับอ่อนจะสร้างน้ำย่อยที่มีเอนไซม์หลายชนิด เพื่อทำหน้าที่ย่อยคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน โดยเอนไซม์เหล่านี้จะถูกหลั่งออกมา และรวมเข้ากับน้ำดีจากถุงน้ำดี ก่อนที่จะเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม นอกจากนี้ในระบบต่อมไร้ท่อ ตับอ่อนยังมีการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) โดยฮอร์โมนทั้งสองตัวมีผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

4. ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะในช่องท้องมีหน้าที่เก็บสะสมน้ำดี (bile) ที่ผลิตจากตับ โดยจะส่งน้ำดีผ่านท่อถุงน้ำดี เข้าท่อน้ำดีตับ ท่อน้ำดีใหญ่ ท่อตับอ่อน ก่อนเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปล่อยน้ำดีออกสู่ทางเดินอาหาร