การผุพังอยู่กับที่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 138.6K views



การผุพังอยู่กับที่ เป็นกระบวนการที่ทำให้หินผุพังสลายตัวเป็นเศษหินขนาดต่างๆ การผุพังอยู่กับที่แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การผุพังทางกายภาพ ที่ทำให้หินมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะภายนอก และการผุพังทางเคมี เป็นกระบวนการที่ทำให้หินแตกสลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางเคมี

ภาพ : shutterstock.com

 

การผุพังอยู่กับที่ (Weathering) เป็นกระบวนการที่ทำให้หินผุพัง สลายตัวเป็นเศษหินขนาดต่างๆ การผุพังอยู่กับที่แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. การผุพังทางกายภาพ

ภาพ : shutterstock.com

 

เป็นกระบวนการผุพังของหินที่ทำให้หินมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะภายนอก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในเนื้อหิน ปัจจัยที่ทำให้เกิดการผุพังอยู่กับที่ทางกายภาพ ได้แก่

        - ประเภทและชนิดของหิน หินที่มีแร่ธาตุที่ละลายน้ำยากเป็นองค์ประกอบ จะผุพังช้ากว่าหินที่มีแร่ธาตุที่ละลายน้ำง่ายเป็นองค์ประกอบ เช่น หินชนวนจะทนทานต่อการผุพังได้ดีกว่าหินอ่อน
        - ลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยา เช่น ภูเขาหินที่มีรอยแตกเป็นแนวตั้งแต่เริ่มกำเนิดเป็นภูเขา เมื่อเวลาผ่านไป แนวแตกเหล่านี้จะทำให้หินผุพังแตกออกจากกันได้
        - สิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์

               การกระทำของพืช การเจริญเติบโตของพืชบนหินที่มีรอยแตก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หินเกิดการผุพังสลายตัวเป็นเศษหิน เนื่องจากรากที่ชอนไชลงไปตามรอยแตกของหินเป็นเวลานาน จำนวนรากที่เพิ่มขึ้น และขนาดของรากที่เพิ่มขึ้น ทำให้รอยแตกของหินมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีขนาดกว้างขึ้นจนทำให้หินแตกออกจากกัน

               การกระทำของสัตว์ สัตว์บางชนิดเจาะเนื้อหิน จนทำให้หินเกิดเป็นรูจำนวนมาก

               การกระทำของมนุษย์ มนุษย์ระเบิดภูเขาเพื่อนำหินมาสร้างถนน สร้างเขื่อน การเจาะอุโมงค์ใต้ดิน การทำเหมืองแร่หรือเหมืองหินต่างๆ

        - ลม ธารน้ำแข็ง และแรงโน้มถ่วงของโลก กระแสลมและแรงโน้มถ่วงของโลกทำให้น้ำ น้ำแข็ง เคลื่อนที่สู่บริเวณที่ต่ำกว่า ขณะเคลื่อนที่จะเกิดการเสียดสีระหว่างหินกับทราย และเศษหินเล็กๆ ที่มากับกระแสน้ำ ธารน้ำแข็ง และลม ทำให้หินถูกเสียดสีเกิดการผุพังและแตกออกจากกัน
        - การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศ ความร้อน และความเย็น โดยความร้อนจากดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน ทำให้ด้านนอกของหินร้อนกว่าด้านในของหิน ช่วงเวลากลางคืนอุณหภูมิอากาศลดลง ทำให้หินที่ร้อนจะเย็นตัวย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุณหภูมิอากาศสลับกันเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้หินเกิดการแตกร้าวและผุพังขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงลักษณะเช่นนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่สูง และมีอุณหภูมิอากาศในช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนแตกต่างกันมาก
        - การเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำ ตามธรรมชาติของน้ำ เมื่ออากาศมีอุณหภูมิต่ำลงจนทำให้น้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง น้ำขังที่อยู่ตามรอยแตกของหินนั้น เมื่อกลายเป็นน้ำแข็งจะมีปริมาตรเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแรงดันของน้ำแข็งดันรอยแตกของหินให้มีขนาดกว้างขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ จะเกิดซ้ำกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนทำให้หินแตกร้าวหรือหลุดออกจากกันในที่สุด

 

2. การผุพังทางเคมี

ภาพ : shutterstock.com

 

เป็นกระบวนการที่ทำให้หินแตกสลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการผุพังทางเคมี ได้แก่ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ แก๊สนี้จะละลายในน้ำฝนทำให้ฝนมีสมบัติเป็นกรดคาร์บอนิก กรดจะทำปฏิกิริยาเคมีกับหินปูนและหินอ่อน ซึ่งเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ทำให้หินกร่อนลง จนมีลักษณะเว้าแหว่งหรือมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ เรียกภูมิลักษณ์ที่มีลักษณะนี้ว่า คาสต์ (Karst)

และถ้าน้ำที่มีสภาพเป็นกรดคาร์บอนิกไหลซึมลงสู่ใต้ดิน จะทำปฏิกิริยากับหินที่มีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบ ทำให้หินดังกล่าวผุกร่อนจนทำให้เกิดเป็นโพรง หรือถ้ำใต้ดิน และถ้าพื้นที่ด้านบนของโพรงหรือถ้ำใต้ดินเกิดการยุบตัวลง หรือเกิดการพังทลายลง ก็จะเกิดเป็นหลุมยุบนั่นเอง