การกร่อน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 174.5K views



กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ที่ทำให้ผิวโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิประเทศต่างๆ นอกจากการผุพังอยู่กับที่แล้ว ยังเกิดจากการกร่อนอีกด้วย ซึ่งการกร่อนนั้น อาจมีสาเหตุมาจากกระแสน้ำ กระแสลม หรือสาเหตุอื่นๆ เช่น ปฏิกิริยาเคมี

ภาพ : shutterstock.com


การกร่อน เป็นกระบวนการที่ทำให้สารที่เป็นองค์ประกอบของเปลือกโลกหลุดออก หรือสลายตัวไปจากผิวโลก เช่น กระแสน้ำกัดเซาะเปลือกโลกให้พังทลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พัดพาให้เคลื่อนไปตามแนวทางน้ำไหล เมื่อฝนตกน้ำไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก เกิดการกัดเซาะผิวหน้าดิน แล้วพัดพาไปทับถมภูมิประเทศที่มีพื้นที่ต่ำกว่า

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดการกัดกร่อนมีดังนี้

ภาพ : shutterstock.com


1. การกร่อนของเปลือกโลกเนื่องจากกระแสน้ำ
การกัดเซาะของกระแสน้ำเกิดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ซึ่งมีผลทำให้เปลือกโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง การกัดกร่อนหินที่เกิดจากน้ำทำให้เกิดภูมิลักษณ์ต่างๆ ดังนี้

- โกรกธารหรือออบ เกิดจากน้ำกัดเซาะภูเขาที่ขวางอยู่ให้เป็นช่องเขาขาด ทำให้น้ำไหลผ่านไปได้ เช่น “ออบหลวง” ที่จังหวัดเชียงใหม่
- ซุ้มหิน เกิดในพื้นที่ชายฝั่งทะเล น้ำขึ้นน้ำลงและคลื่นจากทะเลกัดเซาะหินที่ยื่นออกไปในทะเลจนกร่อนเป็นโพรง จนทะลุถึงกันเป็นช่องหิน เช่น ซุ้มหินชายฝั่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
- สะพานหินธรรมชาติ เกิดในลักษณะเดียวกับซุ้มหิน แต่มีน้ำไหลผ่านโพรงที่ทะลุได้
- โพรงถ้ำริมทะเล เกิดจากรอยน้ำทะเลเซาะหินในอดีต เนื่องจากน้ำทะเลมีระดับสูงกว่าในปัจจุบัน

ภาพ : shutterstock.com


2. การกร่อนของเปลือกโลกเนื่องจากปฏิกิริยาเคมี 
เกิดจากน้ำฝนละลายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศ ทำให้เกิดฝนกรดไปกัดกร่อนเปลือกโลกให้ผุพัง

ภาพ : shutterstock.com


3. การกัดกร่อนเปลือกโลกเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ 
ทำให้เกิดการกัดกร่อนของเปลือกโลกได้ เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศทำให้เปลือกโลกเกิดการขยายตัว และหดตัว ถ้าการขยายตัวของหินชั้นในกับหินชั้นนอกไม่เท่ากัน อาจทำให้หินเกิดการแตกร้าวได้ และในบางครั้ง น้ำในโพรงก้อนหินกลายเป็นน้ำแข็ง ทำให้เกิดการขยายตัวดันให้ก้อนหินแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้

ภาพ : shutterstock.com


4. การกัดกร่อนเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก 
ในธรรมชาติ แรงโน้มถ่วงของโลกจะพยายามดึงดูดสิ่งต่างๆ ให้ตกลงสู่พื้นผิวโลก และดึงดูดวัตถุให้เกิดการเคลื่อนที่จากที่สูง ลงสู่ที่ต่ำกว่า ทำให้เกิดการถล่มของภูเขาหินได้เมื่อเกิดพายุหรือฝนตกหนัก

ภาพ : shutterstock.com


5. การกัดกร่อนเนื่องจากกระแสลม
เช่น บริเวณที่ราบสูง ทะเลทราย ภูเขาสูงซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสลมเป็นประจำ กระแสลมจะทำให้เปลือกโลกเกิดการกัดกร่อนได้เช่นกัน ตัวอย่างภูมิลักษณ์ที่เกิดจากการกัดกร่อนโดยลม เช่น เนินทราย เกิดจากลมพัดพาตะกอน จากที่หนึ่งให้ปลิวขึ้นไปในอากาศ แล้วไปสะสมตัวในอีกที่หนึ่ง