ปัญหาของดิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 65.4K views



ปัญหาของดินในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพรุ เป็นต้น หรือดินบางพื้นที่เป็นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราสามารถแก้ไขปัญหาของดินเหล่านี้ได้ด้วยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสม

ภาพ : shutterstock.com


ปัญหาที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากดินในแต่ละท้องถิ่น มีทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ จำเป็นต้องแก้ปัญหา และปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้นด้วยวิธีดังนี้

1. ดินเปรี้ยว (ดินกรด)
เป็นดินที่มีกรดกำมะถันอยู่ในดิน เป็นดินที่มีค่า pH ต่ำมาก จนเพาะปลูกพืชไม่ได้ผลดี เนื่องจากแร่ธาตุบางอย่างที่จำเป็นต่อพืชจะถูกตรึงไว้จนไม่อาจละลายออกมาให้พืชใช้ได้ หรือสารบางอย่างในดินจะละลายออกมามากเกินไป จนเป็นพิษต่อพืช ดินเปรี้ยวพบมากในที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคตะวันออก ดินเปรี้ยวสามารถแบ่งได้อีก 3 ประเภทดังนี้

      - ดินกรด เกิดขึ้นในพื้นที่เขตร้อนชื้น มีฝนตกชุก เป็นดินที่ผ่านกระบวนการชะล้าง หรือดินที่ถูกใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื่องจากดินเหนียว และอินทรียวัตถุถูกชะล้างไปด้วย และทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำลง
      - ดินกรดจัด เป็นดินที่เกิดจากการตกตะกอนของน้ำทะเล หรือตะกอนน้ำกร่อย ที่มีสารประกอบของกำมะถัน จะถูกเปลี่ยนเป็นกรดกำมะถันตามกระบวนการธรรมชาติ เป็นดินที่มีความเป็นกรดสูงมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างรุนแรง
      - ดินพรุ เป็นดินในที่ลุ่มที่มีน้ำขังตลอด เกิดจากการทับถมของพืชต่างๆ ที่เน่าเปื่อยผุพังเป็นชั้นหนา มีการสลายตัวอย่างช้าๆ ทำให้กรดอินทรีย์ถูกปล่อยออกมาสะสมอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณดินเหนียวต่ำ มีปริมาณธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองที่จำเป็นต่อพืชน้อย

2. ดินเค็ม
เป็นดินที่มีปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์ หรือโซเดียมคาร์บอเนตปะปนอยู่มาก ทำให้ดินเค็ม พืชไม่สามารถดูดน้ำจากดินมาใช้ได้ เพราะมีเกลือละลายอยู่ในน้ำที่พืชดูดขึ้นมาเลี้ยงลำต้น ทำให้ใบพืชไหม้และลำต้นเหี่ยว ดินเค็มในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

      - ดินเค็มบก พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง
      - ดินเค็มชายทะเล พบอยู่ตามชายฝั่งทะเลภาคใต้และภาคตะวันออก

3. ดินฝาด
เป็นดินที่มีสภาพเป็นเบสมาก ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช การแก้ไขค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน

4. ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์
มีเนื้อหยาบ ดูดซับน้ำและแร่ธาตุได้น้อย หรือมีเนื้อละเอียดแน่น รากพืชชอนไชได้ยาก

 

การปรับปรุงคุณภาพดิน

      - ดินเปรี้ยว แก้ได้โดยเติมปูนขาว หินปูนบดละเอียด หรือดินมาร์ล (ดินสอพอง) ลงไปในดิน
      - ดินเค็ม แก้ได้โดยใส่กำมะถันผง หรือยิปซัม (แคลเซียมซัลเฟต) หรือใช้น้ำจืดชะล้างแล้วทำทางระบายน้ำเกลือทิ้ง
      - ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แก้ได้โดยเติมอินทรียวัตถุลงในดินอย่างสม่ำเสมอ