กระบวนการเกิดดิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 71.7K views



ดินเกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ รวมไปถึงซากของสิ่งมีชีวิต กลายเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน กระบวนการเกิดดินนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน ผ่านเงื่อนไขหรือปัจจัยต่างๆ มากมายจนสุดท้ายกลายเป็นดินที่เราเห็นอยู่ทุกวัน

ภาพ : shutterstock.com

ดิน เป็นวัตถุที่เกิดตามธรรมชาติ โดยเกิดจากการสลายตัวทางกายภาพและทางเคมี ของหินและแร่ธาตุต่างๆ ผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุปกคลุมผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ เป็นวัตถุที่ช่วยในการเจริญเติบโต และการทรงตัวของพืช มีสมบัติทางกายภาพที่แตกต่างกัน มีการแบ่งชั้นที่สามารถสังเกตเห็นได้จากตอนบนลงไปตอนล่าง มีอาณาเขตและลักษณะประจำตัวของมันเอง

กระบวนการเกิดดินมี 2 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้

ภาพ : shutterstock.com

1. กระบวนการทำลาย
เป็นกระบวนการที่ หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เกิดการอ่อนตัวลง สลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือเปลี่ยนเป็นสารใหม่ และทับถมรวมตัวกันเกิดเป็นวัตถุต้นกำเนิดดินขึ้น ซึ่งอาจเกิดอยู่กับที่ หรืออาจถูกพาหะต่างๆ พัดพาออกไปจากที่เดิมและไปสะสมรวมตัวกันใหม่ในแหล่งอื่นก็ได้

ภาพ : shutterstock.com


2. กระบวนการสร้างตัวของดิน​
เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดพัฒนาการของลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในดิน เช่น สีดิน เนื้อดิน โครงสร้าง ความเป็นกรดเบส รวมถึงการเกิดเป็นชั้นต่างๆ ขึ้นในหน้าตัดดิน ซึ่งลักษณะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างของดินแต่ละชนิด แต่ละประเภท และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงชนิดของวัตถุต้นกำเนิด กระบวนการ และผลของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อกระบวนการสร้างตัวของดิน​

ปัจจัยในการเกิดดิน

1. วัตถุต้นกำเนิดดิน เมื่อหินเกิดการผุพังตามธรรมชาติ จะแตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้เกิดเนื้อดินที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน

2. ลักษณะภูมิอากาศ

          - ความชื้น หรือปริมาณน้ำฝน ช่วยกัดกร่อนหินให้กลายเป็นดิน
          - อุณหภูมิ ช่วยให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในดิน ถ้าอุณหภูมิสูง จะทำให้หินและแร่สลายตัวได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน ทำให้เกิดการย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินได้ดีขึ้นด้วย
          - ลม ช่วยกัดกร่อนหินและพัดพาดินจากบริเวณหนึ่งไปยังบริเวณอื่น

3. สิ่งมีชีวิต

          - สัตว์ มีการเหยียบย่ำ ทำให้หินแตก
          - พืช มีรากชอนไชลงไปตามรอยร้าวของหินและดันให้หินแตก
          - จุลินทรีย์ ช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังกลายเป็นฮิวมัสต่อไป ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

4. ลักษณะภูมิประเทศ ที่ราบจะมีชั้นดินที่หนากว่าที่ลาดเอียง เนื่องจากมีการสะสมและทับถมของตะกอนจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ

5. เวลา ถ้าเวลายิ่งนาน การพังทลายของหินยิ่งเกิดได้มาก และยิ่งเกิดการทับถมของอินทรียวัตถุมาก