กล้องจุลทรรศน์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 148.5K views



เซลล์ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก เราจำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ในการศึกษา ส่วนประกอบของกล้องจุลทรรศน์นั้นมีหลายส่วน ก่อนใช้งานเราต้องรู้จัก และทำความเข้าใจวิธีใช้กล้องจุลทรรศน์ให้ดี นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องรู้วิธีการหากำลังขยายของกล้องนั้นอีกด้วย เนื่องจากเลนส์ของกล้องแต่ละตัวสามารถขยายภาพได้แตกต่างกัน

ภาพ : shutterstock.com

กล้องจุลทรรศน์ (microscope) เป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายรายละเอียดของวัตถุที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าให้มีขนาดใหญ่ เช่น การศึกษาเซลล์ของสิ่งมีชีวิต กล้องจุลทรรศน์แบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเป็นกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง ภาพที่เห็นจากกล้องจุลทรรศน์เป็นภาพเสมือนหัวกลับกับวัตถุ มีขนาดโตกว่าวัตถุจริง กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงมีส่วนประกอบดังนี้

1. เลนส์ใกล้ตา (eyepiece) ทำหน้าที่ขยายภาพที่ได้จากเลนส์ใกล้วัตถุให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจนมองเห็นได้
2. ปุ่มปรับภาพหยาบ ทำหน้าที่ปรับภาพที่เกิดจากเลนส์ใกล้วัตถุ โดยเปลี่ยนระยะของเลนส์ใกล้วัตถุ
3. ปุ่มปรับภาพละเอียด ทำหน้าที่ปรับภาพเช่นเดียวกับปุ่มปรับภาพหยาบ แต่ช่วงการเลื่อนขึ้นลงจะสั้นกว่า ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้น
4. เลนส์ใกล้วัตถุ (objective lens) ทำให้เกิดภาพของวัตถุ แล้วนำไปขยายต่อที่เลนส์ใกล้ตา
5. ไดอะแฟรม (diaphragm) ทำหน้าที่ปรับปริมาณแสงที่เข้าสู่เลนส์
6. กระจกเงา (mirror) ทำหน้าที่สะท้อนแสงจากธรรมชาติหรือแสงจากหลอดไฟภายในห้องให้ผ่านวัตถุ
7. ลำกล้อง เชื่อมโยงเลนส์ใกล้ตากับเลนส์ใกล้วัตถุ ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้แสงภายนอกมารบกวน
8. แขน (arm) ทำหน้าที่ยึดระหว่างลำกล้องกับฐาน
9. แท่นวางวัตถุ (specimen stage) เป็นแท่นใช้วางสไลด์ที่ต้องการศึกษา
10. ที่หนีบสไลด์ (stage clips) ใช้หนีบสไลด์ให้ติดอยู่กับแท่นวางวัตถุ
11. ฐาน (base) เป็นส่วนที่ใช้ในการตั้งกล้องและรับน้ำหนักตัวกล้อง

 

วิธีใช้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง

1. วางกล้องให้ฐานอยู่บนพื้นรองรับที่เรียบสม่ำเสมอ เพื่อให้ลำกล้องตั้งตรง
2. หมุนเลนส์ใกล้วัตถุอันที่มีกำลังขยายต่ำสุด มาอยู่ตรงกับลำกล้อง
3. ปรับกระจกเงาใต้แท่นวางวัตถุ ให้แสงสะท้อนเข้าลำกล้องเต็มที่
4. นำสไลด์ที่จะศึกษาวางบนแท่นวางวัตถุ ให้วัตถุอยู่กลางบริเวณที่แสงผ่าน แล้วค่อยๆ หมุนปุ่มปรับภาพหยาบ ให้ลำกล้องเลื่อนลงมาอยู่ใกล้สไลด์ที่จะศึกษาให้มากที่สุด โดยระวังอย่าให้เลนส์ใกล้วัตถุสัมผัสกับกระจกปิดสไลด์
5. มองผ่านเลนส์ใกล้ตาลงตามกล้อง พร้อมกับหมุนปุ่มปรับภาพหยาบขึ้นช้าๆ จนมองเห็นวัตถุที่จะศึกษา แล้วจึงเปลี่ยนมาหมุนปุ่มปรับภาพละเอียดเพื่อปรับภาพ ลำกล้องจะเคลื่อนที่ขึ้นและลงหรือแท่นวางวัตถุเลื่อนขึ้นลง
6. ถ้าต้องการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ให้หมุนเลนส์ใกล้วัตถุอันที่มีกำลังขยายสูงขึ้นเข้ามาในแนวลำกล้อง และไม่ควรขยับสไลด์อีก แล้วหมุนปุ่มปรับภาพละเอียดเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน
7. การปรับแสงที่เข้าในลำกล้องให้มากหรือน้อย ให้หมุนไดอะแเฟรม

เลนส์ใกล้วัตถุอาจมีกำลังขยาย 3-4 ระดับ เช่น 4X กำลังขยาย 4 เท่า, 10X กำลังขยาย 10 เท่า, 40X กำลังขยาย 40 เท่า เราสามารถหาค่ากำลังขยายของกล้องจุลทรรศน์ได้จากสูตร

กำลังขยายของกล้องจุลทรรศน์=กำลังขยายของเลนส์ใกล้วัตถุ×กำลังขยายของเลนส์ใกล้ตา