มรสุม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 138.4K views



มรสุม คือ ลมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ลมประจำฤดู ในประเทศไทยมีลมมรสุมที่พัดผ่านอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะพัดผ่านในช่วงเวลาที่ต่างกัน นอกจากนี้ ลมมรสุมยังทำให้เกิดร่องมรสุม อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนตกในฤดูต่างๆ

ภาพ : shutterstock.com

มรสุม (monsoon) เป็นการหมุนเวียนส่วนหนึ่งของลมที่พัดตามฤดูกาล คือลมประจำฤดู เป็นลมแน่ทิศและสม่ำเสมอ สาเหตุใหญ่ๆ เกิดจากความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดินและพื้นน้ำ

 

ในฤดูหนาว อุณหภูมิของพื้นดินเย็นกว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร อากาศเหนือพื้นน้ำจึงมีอุณหภูมิสูงกว่า และลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน อากาศเหนือทวีปซึ่งเย็นกว่าไหลไปแทนที่ ทำให้เกิดเป็นลมพัดออกจากทวีป

พอถึงฤดูร้อน อุณหภูมิของดินภาคพื้นทวีปร้อนกว่าน้ำในมหาสมุทร เป็นเหตุให้เกิดลมพัดในทิศทางตรงข้าม ลมมรสุมที่มีกำลังแรงจัดที่สุดได้แก่ ลมมรสุมที่เกิดในบริเวณภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย

ภาพ : shutterstock.com

ลมมรสุมที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย มีอยู่ 2 ชนิดคือ

 

1. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้​
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูง ในซีกโลกใต้บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งพัดออกจากศูนย์กลางเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อพัดข้ามเส้นศูนย์สูตร

มรสุมนี้จะนำมวลอากาศชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ประเทศไทย ทำให้มีเมฆมากและฝนชุกทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณชายฝั่งทะเล และเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น

 

2. มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
หลังจากหมดอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้แล้ว ประมาณกลางเดือนตุลาคม จะมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์

มรสุมนี้มีแหล่งกำเนิดจากบริเวณความกดอากาศสูงบนซีกโลกเหนือ แถบประเทศมองโกเลียและจีน จึงพัดพาเอามวลอากาศเย็น และแห้งแล้งเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ท้องฟ้าโปร่ง อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้จะมีฝนชุกโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก เนื่องจากมรสุมนี้พัดจากภาคพื้นทวีปสู่อ่าวไทย จึงนำเอาความชุ่มชื้นจากอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้จากทางด้านตะวันออก

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาการเริ่มต้น และสิ้นสุดมรสุมทั้งสองชนิด อาจผันแปรไปจากปกติได้ในแต่ละปี

ร่องมรสุม มีลักษณะเป็นแนวพาดขวางทิศตะวันตกตะวันออก ในเขตร้อนใกล้ๆ เส้นศูนย์สูตร ร่องมรสุมเริ่มพาดผ่านประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม โดยร่องมรสุมกำลังอ่อนจะพาดผ่านภาคใต้ของประเทศไทยและเลื่อนขึ้นไปเป็นลำดับ ประมาณปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฏาคม ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง แล้วเลื่อนกลับมาพาดผ่านภาคเหนือของประเทศไทยอีกครั้งประมาณเดือนกันยายน และเลื่อนลงไปทางเส้นศูนย์สูตรตามลำดับ

ช่วงที่เลื่อนกลับมานี้ ร่องมรสุมมีกำลังแรงกว่าในระยะแรก บริเวณร่องมรสุมจะมีเมฆมาก มีฝนตกหนักอย่างหนาแน่น ฝนที่ตกมีลักษณะตกชุกเป็นครั้งแรก โดยตกๆ หยุดๆ วันละหลายครั้งแต่ตกไม่หนัก