การบอกตำแหน่งของวัตถุ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 49.5K views



การเคลื่อนที่ของวัตถุมีหลายลักษณะ เช่น การเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง การเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้ง เราสามารถใช้จุดอ้างอิงในการบอกตำแหน่งของวัตถุเมื่อวัตถุเกิดการเคลื่อนที่

ภาพ : shutterstock.com

การเคลื่อนที่ (motion) คือ การเปลี่ยนตำแหน่งของวัตถุ หรืออาจกล่าวได้ว่า เมื่อวัตถุเคลื่อนที่ วัตถุจะเปลี่ยนตำแหน่งไปยังจุดต่างๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้าย การเคลื่อนที่ของวัตถุมักเกิดจากการมีแรงกระทำต่อวัตถุนั้น เช่น การออกแรงขว้างหรือปาก้อนหิน ทำให้ก้อนหินเคลื่อนที่ออกไปจากมือเราได้

 

ถ้าใช้สถานที่เป็นหลักในการอ้างอิง ลักษณะของการเคลื่อนที่อาจแบ่งได้เป็น

1. การเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง คือ การที่วัตถุเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงไปตลอดเวลา เช่น การที่วัตถุตกลงสู่พื้นโลกอย่างอิสระ การที่รถไฟเคลื่อนที่ไปตามรางที่เป็นเส้นตรง การโยนลูกบอลขึ้นไปในอากาศในแนวดิ่ง

2. การเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้ง คือ การที่วัตถุเคลื่อนที่เป็นแนวโค้ง เช่น การที่รถเลี้ยวไปตามทางโค้ง การปาวัตถุขึ้นไปในแนวโค้ง การโยนลูกบาสเก็ตบอลลงห่วง การแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกา การนั่งแกว่งชิงช้า

3. การเคลื่อนที่รอบวงกลม คือ การที่วัตถุเคลื่อนที่ไปตามแนวของเส้นรอบวงของวงกลม เช่น การเคลื่อนที่ของจุดต่าง ๆ บนขอบล้อหรือเพลา การเคลื่อนที่ของลูกบอลที่ผูกไว้ด้วยเส้นด้ายแล้วใช้มือจับเส้นด้ายไว้ให้แน่นแล้วเหวี่ยงให้ลูกบอลเคลื่อนที่

 

ถ้าใช้เวลาเป็นหลักในการอ้างอิง ลักษณะของการเคลื่อนที่อาจแบ่งได้เป็น

1. เคลื่อนที่ไปโดยมีอัตราเร็วคงที่ตลอดเวลา

2. เคลื่อนที่ไปโดยมีความเร็วเปลี่ยนแปลง เช่น ขณะออกรถมีอัตราเร็วเพิ่มขึ้น ขณะหยุดรถมีอัตราเร็วลดลง

การบอกตำแหน่งของวัตถุ สามารถทำได้โดยเทียบกับแนวเส้นตรง 2 เส้นที่ตั้งฉากกัน แล้วระบุว่า วัตถุอยู่ห่างจากแนวเส้นตรงทั้งสองเป็นระยะทางเท่าไร เส้นตรงทั้งสองคือ จุดอ้างอิงหรือจุดที่ใช้เปรียบเทียบ

 

จุดอ้างอิงหรือจุดที่ใช้เปรียบเทียบควรมีลักษณะดังนี้

- อยู่ใกล้ตัวเรา ถ้าไม่มีจุดอ้างอิงที่อยู่ใกล้ ให้ใช้จุดอ้างอิงที่อยู่ไกลออกไป
- เป็นที่ที่สังเกตได้ชัดเจน
- จุดอ้างอิงอาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ต้นไม้ หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ถนน สะพาน หลักกิโลเมตร เสาไฟฟ้า อาคารต่าง ๆ

 

จากรูป เส้นตรง AB และเส้นตรง BC ตั้งฉากกันที่จุด B วัตถุอยู่ห่างจากเส้นตรง AB เป็นระยะ 5 เซนติเมตร อยู่ห่างจากเส้นตรง BC เป็นระยะ 4 เซนติเมตร