การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืช
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 177.9K views



พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยต้องมีสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อม มีผลต่อการดำรงชีวิตของพืช การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืช แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สิ่งเร้าภายนอก ได้แก่ แสงสว่าง อุณหภูมิ เสียง สัมผัส น้ำ แรงโน้มถ่วงของโลก เป็นต้น และสิ่งเร้าภายใน ได้แก่ ระยะการเจริญเติบโต เป็นต้น

เมื่อพืชมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ พืชจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อปรับตัวไม่ได้ พืชนั้นจะลดน้อยลงหรือสูญพันธุ์ไป

การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชได้แก่

1. การตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของโลก เช่น รากของพืชจะเจริญเข้าหาน้ำหรือความชื้นเสมอ ยอดของพืชจะเจริญตรงข้ามกับแรงดึงดูดของโลกเสมอ การงอกของหลอดละอองเรณูไปยังรังไข่ของพืชมีดอก เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

2. การตอบสนองต่อแสงแดด ได้แก่ การหุบและบานของดอกไม้และใบไม้ เกิดจากการกระตุ้นของแสงหรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง ต้นก้ามปู ต้นมะขาม ต้นแค เป็นต้น

3. การตอบสนองต่ออุณหภูมิ พืชต้องการแสงแดดและอุณหภูมิที่แตกต่างกัน พืชบางชนิดชอบอากาศร้อน เช่น เฟื่องฟ้า กระบองเพชร ชบา แต่พืชบางชนิดเจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น เช่น สนสองใบ สนสามใบ และแอปเปิล ส่งผลให้เกิดการบานของดอกไม้บางชนิด ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ หรือมีการเปลี่ยนสีดอกตามอุณหภูมิในแต่ละวัน เช่น ดอกพุดตาน ดอกเล็บมือนาง เป็นต้น

4. การตอบสนองต่อน้ำหรือความชื้น เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นรากของพืชจึงมีการเจริญเติบโตตลอดเวลา เพื่อลำเลียงน้ำเข้าสู่ลำต้น ตัวอย่างเช่น พืชที่อยู่ในทะเลทราย มีอากาศร้อนและแห้ง พืชจะเปลี่ยนใบให้เป็นหนามเพื่อป้องกันการคายน้ำ เช่น ต้นกระบองเพชร ส่วนพืชในเขตร้อนจะมีความเขียวชอุ่มตลอดปี พืชที่อยู่ในเขตหนาวเมื่ออากาศหนาวจัดมีหิมะตกจะพากันสลัดใบทิ้ง

5. การตอบสนองต่อการสัมผัส การสัมผัสเป็นสิ่งเร้า พืชบางชนิดหุบใบเพื่อป้องกันอันตราย พืชบางชนิดเพื่อล่าแมลงเป็นอาหาร เช่น ใบของต้นไมยราบและผักกระเฉด ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ก้นกาบหอยแครง ต้นหยาดน้ำค้าง เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

 

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร