การบริหารจิตและเจริญปัญญา
• การมีสุขภาพดีนั้นจะต้องประกอบไปด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทุกหมู่ การพักผ่อนร่างกายอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เรียกว่า การบริหารร่างกาย ร่างกายก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
• จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ในวันหนึ่ง ๆ เราคิดเรื่องต่าง ๆ มากมาย จิตย่อมจะเหนื่อยล้า หากไม่ได้มีการบำรุงรักษาหรือบริหารจิตของเราให้เข้มแข็งผ่องใสบริสุทธิ์ จิตจะอ่อนแอ หวั่นไหวต่อเหตุการณ์รอบตัวได้ง่าย เช่น บางคนจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาจนเกินเหตุ เมื่ออยู่ในอาการตกใจ ดีใจ เสียใจ โกรธหรือเกิดความอยากได้ เพราะจิตใจอ่อนแอ ขุ่นมัว
• การบำรุงรักษาจิตให้เข้มแข็งผ่องใสบริสุทธิ์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การบริหารจิต ซึ่งต่างกับการบริหารกาย เพราะการบริหารกายต้องทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอแต่การบริหารจิตจะต้องฝึกฝนให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งการฝึกจิตให้สงบ คือการทำสมาธินั่นเอง
• การทำจิตใจให้ผ่องใสหรือการฝึกจิต คือ การฝึกสติควบคุมจิตใจให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำโดยระลึกอยู่เสมอว่า ตนกำลังทำอะไรอยู่ ต้องทำอย่างไร พร้อมกับระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาด
• การทำสมาธิ คือ การฝึกควบคุมจิตใจให้จดจ่อแน่วแน่อยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง โดยไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะหยุดทำสมาธิ
ประโยชน์ของการทำจิตใจให้ผ่องใส มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของนักเรียน ดังนี้
๑. ทำให้เรียนหนังสือดีขึ้น เพราะจิตมีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน ใจจึงจดจ่ออยู่กับการเรียนก่อให้เกิดปัญญา เป็นสัมมาทิฎฐิ
๒. สุขภาพดี เพราะจิตใจผ่องใสเบิกบาน ร่างกายก็จะสดชื่นไปด้วย
๓. บุคลิกภาพดี เมื่อจิตใจสงบเยือกเย็นสะอาด จิตใจปลอดโปร่งผ่องใส มีความมั่นคงใน
อารมณ์ เชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้มีบุคลิกภาพที่ดี
เมื่อได้เห็นประโยชน์แล้ว ทุกคนควรฝึกจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสจนสามารถเป็นพื้นฐานในการพัฒนาปัญญาต่อไป และจะทำให้ตนเองประสบกับความสุขความเจริญในชีวิต
การฝึกจิตให้มั่นคงแน่วแน่อยู่กับสิ่งที่ปฏิบัตินี้ คือ การบริหารจิตและเจริญปัญญา
การพัฒนาจิตให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว และบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ จะต้องบำเพ็ญภาวนาทางจิต ที่เรียกว่า “สมาธิ” หมายถึง จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ซึ่งมีวิธีที่หลากหลาย เช่น การนั่ง การยืน การเดิน และการนอน ซึ่งก่อนที่จะปฏิบัติสมาธินั้น ทุกคนควรปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
๑. สวดมนต์ไหว้พระสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
การสวดมนต์ไหว้พระ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตมีสมาธิ
คำนมัสการพระพุทธเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (กล่าว ๓ จบ)
คำบูชาพระรัตนตรัย
อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ
วิธีนั่งสมาธิ
ผู้บำเพ็ญสมาธิควรนั่งขัดสมาธิราบ คือ ให้ขาขวาทับขาซ้าย และมือขวาทับมือซ้ายวางมือหงายไว้บนหน้าตัก ตั้งตัวตรงมองทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๒ ศอกแล้วหลับตา มีสติสัมปชัญญะระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นหลัก
• คำบริกรรมขณะบำเพ็ญสมาธิ
ขณะลมหายใจเข้านึกถึงพระพุทธคุณ ว่า “พุท”
ขณะลมหายใจออกนึกถึงพระพุทธคุณ ว่า “ โธ”
ขณะบำเพ็ญสมาธิ พึงมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกและระลึกถึงพระพุทธคุณควบคู่กันไปก่อนจะเลิกบำเพ็ญสมาธิให้กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง เมื่อนั่งสมาธิเสร็จแล้วให้แผ่เมตตาและกรวดน้ำทุกครั้ง
การแผ่เมตตา
การแผ่เมตตาเป็นการส่งความปรารถนาดีให้มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายให้อยู่เป็นสุข ปราศจากความทุกข์ยากลำบาก
• บทแผ่เมตตา
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพพะยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กาย ทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
บทกรวดน้ำย่อ
อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย. ขอผลแห่งบุญกุศลนี้ จงมีแก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลาย จงมีความสุขเถิด (กราบ ๓ ครั้ง)
ประโยชน์ของการบริหารจิตและเจริญปัญญา
๑. ทำให้จิตใจสงบสุขผ่องใสไม่ขุ่นมัว ความจำดีสมองปลอดโปร่ง
๒. เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุข สามารถเข้าใจบทเรียนได้ตลอด
๓. รู้จักไตร่ตรองหาเหตุผลให้รอบคอบก่อนที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อป้องกันความผิดพลาด
๔. สุขภาพกายและสุขภาพจิตดี สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
๕. จิตที่เป็นสุข จิตสงบสะอาด ผ่องใส พร้อมที่จะใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา หรือตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก พระมหาปรีชา ปภสสโร