ธรณีพิบัติภัย (Geohazard)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 18K views



ธรณีพิบัติภัย เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์ (สึนามิเกิดจากแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร) หลุมยุบ ดินถล่ม การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น ธรณีพิบัติภัยส่วนมาก มนุษย์ยากที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ แต่ ดินถล่ม และ การกัดเซาะชายฝั่ง บางครั้งเกิดจากฝีมือของมนุษย์ร่วมด้วย เราจึงพอมีวิธีป้องกันและแก้ไขหรือบรรเทาได้

ดินถล่ม

ภาพ : shutterstock.com


ตามภูเขาสูง ๆ มีดินและหินอยู่มากมาย ดินและหินเป็นของแข็ง จึงสามารถเรียงตัวต่อกันสูงขึ้นไปได้ ไม่ไหลลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลกเหมือนของเหลว ถ้ามีฝนตกหนักบนยอดเขา น้ำฝนที่ตกลงมาจะทำให้ดินเปียกชุ่มและมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง ดินโคลนและหินจำนวนมหึมาอาจจะถล่มลงมาจากยอดเขา

ตามแรงโน้มถ่วงของโลก น้ำจะช่วยลดแรงเสียดทานทำให้ดินเลื่อนไหลลงมาพังทลายทุกสิ่งที่อยู่เบื้องล่าง กลายเป็นธรณีพิบัติภัยในรูปของ "ดินถล่ม"

แต่เพราะบนภูเขามีต้นไม้ พืชน้อยใหญ่ขึ้นปกคลุม เมื่อฝนตกหนัก รากไม้ที่หยั่งลึกจะเป็นตัวช่วยยึดเกาะหน้าดินไว้ไม่ให้หลุดไหลไปกับสายน้ำ และเมื่อฝนหยุดตก น้ำที่ดินและรากไม้อุ้มไว้ก็จะค่อย ๆ ไหลลงมาเป็นลำธารหล่อเลี้ยงชีวิตพืชและสัตว์นานา ดังนั้น นอกจากป่าไม้จะเป็นแหล่งที่มาของอาหารและพลังงานแล้ว ป่าไม้ยังเป็นเสมือนกำแพงป้องกันและบรรเทาภัยจากธรรมชาติอย่างเช่นดินถล่มให้กับเราอีกด้วย

เราอาจไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ดินถล่มได้อย่างถาวร แต่เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดดินถล่มได้ ด้วยการหยุดตัดไม้ทำลายป่าบนเขาสูง ไม่ทำไร่เลื่อนลอยบนเขา หยุดเผาป่า เพื่อให้ต้นไม้และพืชต่าง ๆ ช่วยยึดและพยุงหน้าดิน ไม่ทำเหมืองบนภูเขา ไม่ขุดดินหินแร่ออกไปจากภูเขา ไม่ทำการก่อสร้างอาคารบนเขาสูง เพื่อเป็นการไม่ไปรบกวนโครงสร้างในการรับน้ำหนักของดินและหินบนภูเขา

 

การกัดเซาะชายฝั่ง

ภาพ : shutterstock.com


บริเวณริมแม่น้ำและริมทะเลมักมีการเปลี่ยนแปลงสัณฐานของตลิ่งและชายฝั่งอยู่เสมอ ริมตลิ่งมักทรุดตัวถล่มลงในแม่น้ำ เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรง พัดพาเอาเศษดินทรายใต้แม่น้ำและบริเวณฐานของตลิ่งไป ทำให้โครงสร้างของตลิ่งไม่มั่นคง จึงพังลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก แต่หากแม่น้ำพัดพาเอาดินโคลนและทรายไปมาก ๆ ช่วงลำน้ำที่น้ำไหลเอื่อยก็จะเกิดการตื้นเขินของแม่น้ำนั้น เนื่องจากดินทรายที่พัดพามาด้วยเกิดการตกตะกอนจมตัวลงที่ก้นแม่น้ำ

พื้นที่ชายฝั่งก็เช่นกัน คลื่นลมในทะเลพัดพาเอาเศษดินทรายมาทับถมเพิ่มเติมบนชายหาด แต่เวลาที่คลื่นไหลกลับลงทะเลก็จะดึงเอาดินทรายกลับลงไปด้วย หากทรายที่ถูกซัดเข้ามามีมากกว่า ก็จะเกิดเป็นชายหาดงอกขึ้นมา แต่หากทรายที่ถูกดึงออกไปมีมากกว่า ก็จะกลายเป็นการกัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลที่มีความลาดชันมาก ๆ การกัดเซาะชายฝั่งก็จะเป็นไปอย่างรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ พื้นที่อยู่อาศัยก็จะลดน้อยลง

เราสามารถช่วยลดการซัดเกาะชายฝั่งให้บรรเทาเบาบางลงได้ โดยไม่รุกล้ำหรือทำลายป่าชายเลน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่สุดรูปแบบหนึ่ง เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์นานาชนิด ทั้งยังเป็นแนวกำแพงป้องกันคลื่นลมแรงที่เป็นสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย รวมทั้งช่วยกันปลูกป่าชายเลน ป่าชายหาดเพื่อเพิ่มแนวกำบังทางธรรมชาติ ในด้านของตลิ่งทรุดตัว เราก็สามารถมีส่วนช่วยได้ โดยไม่สูบน้ำบาดาลซึ่งเป็นสาเหตุของดินทรุด ไม่สร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำ อันจะทำให้โครงสร้างดินริมตลิ่งได้รับความเสียหายและพังทลายลง

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย