จันทรุปราคา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 14.6K views



เมื่อดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์ โคจรมาเรียงตัวกันเป็นเส้นตรง ก็จะเกิดคราส หรืออุปราคา ซึ่งถ้าโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ก็จะเกิดเป็น “จันทรุปราคา” (Lunar Eclipse) หรือจันทรคราส คือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เพ็ญเคลื่อนเข้าสู่บริเวณเงาของโลก ทำให้แสงสะท้อนของดวงจันทร์นั้นหายไป ดวงจันทร์ในค่ำคืนนั้นจะดับไปช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาสว่างอีกครั้งเมื่อเคลื่อนออกจากเงามืดของโลก

ภาพ : shutterstock.com


จันทรุปราคานั้น จะเกิดในตอนกลางคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันเพ็ญเท่านั้น เพราะดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อยึดโลกเป็นศูนย์กลาง ซึ่งตำแหน่งของดวงจันทร์ในวันเพ็ญทำให้เรามองเห็นด้านที่สะท้อนแสงอาทิตย์ของดวงจันทร์ได้เต็มดวง และก็เป็นด้านที่เงามืดของโลกทอดออกไปเช่นกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์ว่าเรียงเป็นเส้นตรงกับโลกและดวงอาทิตย์หรือไม่

เช่นเดียวกันกับที่สุริยคราสไม่ได้เกิดขึ้นทุก ๆ วันเดือนดับ จันทรคราสก็ไม่ได้เกิดขึ้นในทุก ๆ คืนวันเพ็ญเช่นกัน เพราะระนาบวงโคจรที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกทำมุมตัดกับระนาบวงโคจรที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 5 องศา ดาวทั้งสามดวงจึงไม่ได้เรียงตัวกันเป็นเส้นตรงได้บ่อยนัก

เนื่องจากเงามืดของโลกที่ทอดไปสู่อวกาศนั้นกินบริเวณพื้นที่มากกว่าเงามืดของดวงจันทร์ที่ตกลงมายังผิวโลก ทำให้จันทรคราสอยู่นานกว่าสุริยคราส และยังสามารถแบ่งจันทรุปราคาได้ 3 ประเภทตามลักษณะการถูกบดบังของดวงจันทร์ คือ จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) และจันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Lunar Eclipse)

ภาพ : shutterstock.com

จันทรุปราคาเต็มดวง คือจันทรุปราคาที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามืดของโลกทั้งดวง จันทรุปราคาบางส่วน คือจันทรุปราคาที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่พาดผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่เหลือถูกบดบังด้วยเงามัว ทำให้เห็นดวงจันทร์แหว่งไปบางส่วน และจันทรุปราคาเงามัว คือจันทรุปราคาที่วงโคจรของดวงจันทร์ไม่ได้พาดผ่านเขตเงามืดของโลกเลย แต่ยังเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่เป็นเงามัวของโลก ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่มีแสงหรี่ลง แต่ไม่แหว่งเว้า

ภาพ : shutterstock.com

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย