ระบบขับถ่าย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 27.8K views



เมื่อร่างกายดูดซึมสารอาหาร และออกซิเจนไปเผาผลาญเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงร่างกาย ก็จะเกิดของเสียที่ร่างกายต้องกำจัดออกไปด้วยระบบขับถ่าย (Excretory System) ของเสียจากระบบหมุนเวียนโลหิตที่อยู่ในรูปแก๊ส เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ จะถูกระบายออกด้วยปอด ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในระบบหายใจ ของเสียจากระบบหมุนเวียนโลหิตที่เป็นของเหลว เช่น สารละลายยูเรีย จะถูกกรองโดยไต และขับออกผ่านทางกระเพาะปัสสาวะคือปัสสาวะ ของเสียจากระบบย่อยอาหารที่ปรกติจะอยู่ในรูปของแข็ง จะถูกขับถ่ายออกทางทวารหนักคืออุจจาระ นอกจากนี้ ร่างกายของเรายังสามารถขับความร้อนส่วนเกินออกได้ โดยการระบายของเหลวออกทางรูขุมขนในรูปของเหงื่ออีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

เมื่อเราหายใจเข้า ปอดจะแลกเปลี่ยนแก๊สกับเลือดในหลอดเลือดฝอยที่ถุงลม โดยให้ออกซิเจนกับเลือดและรับคาร์บอนไดออกไซด์กับไอน้ำที่เลือดลำเลียงมา เมื่อเราหายใจออก ปอดก็จะระบายแก๊สส่วนเกินนั้นออกไปจากร่างกาย จะเห็นได้ว่า นอกจากปอดจะเป็นอวัยวะสำคัญทั้งในระบบหายใจและระบบหมุนเวียนโลหิตแล้ว ปอดยังเป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบขับถ่ายอีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com


ระบบหมุนเวียนโลหิตนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปส่งยังเซลล์ต่าง ๆ โดยการแพร่ผ่านหลอดเลือดฝอย เมื่อเซลล์รับสารอาหารและแก๊สไปสันดาปก็จะได้พลังงานมาใช้ในกิจกรรมของเซลล์ รวมทั้งได้ของเสียที่เกิดขึ้นจากการสันดาปอย่างเช่น ยูเรีย และคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

คาร์บอนไดออกไซด์จะถูกลำเลียงไประบายออกที่ปอด ส่วนยูเรียที่เป็นสารละลายอยู่ในสถานะของเหลว จะถูกลำเลียงไปยังไตทั้งสองข้าง (Kidneys) ไตจะทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือดกลายเป็นน้ำปัสสาวะ แล้วถูกขับออกไปพักไว้ที่กระเพาะปัสสาวะเพื่อรอขับถ่ายออกจากร่างกายต่อไป

ภาพ : shutterstock.com


ในส่วนของเสียจากระบบย่อยอาหาร เมื่อกากอาหารถูกลำเลียงมาที่ลำไส้ใหญ่ ก็จะถูกดูดซึมน้ำ แร่ธาตุและวิตามิน และถูกลำไส้ใหญ่บีบรัดให้เคลื่อนไปยังทวารหนัก เพื่อขับถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ แต่หากเกิดอาการท้องเสีย กากอาหารถูกลำเลียงผ่านลำไส้ใหญ่ไปอย่างรวดเร็ว ก็จะขับถ่ายออกมาเป็นน้ำ เพราะน้ำในกากอาหารยังไม่ทันถูกดูดซึมกลับเข้าร่างกาย และเป็นเหตุให้ร่างกายขาดน้ำ

ในทางกลับกัน หากอั้นอุจจาระไว้หลายวัน กากอาหารถูกดูดน้ำจนแห้งแข็ง ก็จะเป็นสาเหตุของอาการท้องผูก ขับถ่ายยาก อาจเป็นริดสีดวงทวารได้ และหากรับประทานอาหารที่เกิดแก๊สสูงในระบบย่อยอาหาร ก็จะทำให้เกิดการระบายแก๊สออกทางทวารหนักหรือผายลมบ่อย

 

เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย