ฤดูกาล แผนที่ดวงดาว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.3K views



โลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 1 วัน แต่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลาราว 365 วัน หมายความว่า โลกต้องหมุนรอบตัวเองครบ 365 รอบ จึงจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ และกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมได้ การโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น ฤดูกาล และแผนที่ดวงดาว​

ภาพ : shutterstock.com

การหมุนตามแกนขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของโลกไม่ได้ตั้งตรงเหมือนลูกข่างที่สมดุล แกนหมุนของโลกนั้นเอียง พื้นที่แต่ละส่วนบนโลกจึงมีช่วงเวลาที่ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน บริเวณพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์มากอย่างบริเวณเส้นศูนย์สูตร (equator) ก็จะร้อนกว่าบริเวณอื่น พื้นที่ที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรค่อนไปทางขั้วโลกทั้งสองด้าน จะมีช่วงเวลาที่แกนโลกเอียงเข้าหาแสงอาทิตย์ ทำให้ได้รับแสงแดดเต็มที่เกิดเป็นฤดูร้อน และช่วงเวลาที่แกนโลกเอียงหลบแสงอาทิตย์ เกิดเป็นฤดูหนาว โดยบวกกับพฤติกรรมการผลัดใบของต้นไม้ เราจึงกำหนดเป็นฤดูกาลทั้งสี่ฤดู คือฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

ภาพ : shutterstock.com

ในเขตที่มี 4 ฤดูกาล ในฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้จะทิ้งใบเพื่อเตรียมรับหิมะในฤดูหนาว และจะเริ่มแตกใบใหม่เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ เพื่อเตรียมพร้อมรับแสงแดดในฤดูร้อน ก่อนที่จะทิ้งใบอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง วนซ้ำเป็นวงจรเช่นนี้ทุกรอบปี

ภาพ : shutterstock.com

ไม่เพียงแต่ฤดูกาลต่าง ๆ ที่วนเวียนครบรอบใน 1 ปี ดวงดาวต่าง ๆ ที่เราเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนก็จะเวียนมาอยู่ตรงตำแหน่งเดิมใน 1 ปี เช่นเดียวกัน หากเราสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้า จะพบว่าดวงดาวกลุ่มหนึ่งจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมในเวลาเดียวกันของทุกวัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ตำแหน่งของโลกก็เปลี่ยนไปในทุกวันเช่นกันเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ ดังนั้น เราจะเห็นกลุ่มดาวต่าง ๆ ในตำแหน่งเดิมได้ก็ต่อเมื่อครบรอบปีเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงสามารถสังเกตตำแหน่งและเวลาที่เห็นดาวกลุ่มหนึ่งเพื่อบอกได้ว่าขณะนั้นควรเป็นเดือนอะไร และนี่ก็เป็นที่มาของการตั้งชื่อเดือนทั้งสิบสองเดือนตามราศีหรือกลุ่มดาวที่ประจำท้องฟ้าในเวลานั้น ๆ

ภาพ : shutterstock.com

อนึ่ง เนื่องจากเส้นศูนย์สูตร แบ่งโลกออกเป็นขั้วเหนือและขั้วใต้ คนที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ก็จะสังเกตเห็นแต่เพียงดวงดาวที่ประจำอยู่บนท้องฟ้าทางทิศเหนือ และในทางกลับกัน คนที่อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร ก็จะเห็นดวงดาวที่ประจำท้องฟ้าด้านทิศใต้เท่านั้น แผนที่ดวงดาวจึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือแผนที่ดวงดาวซีกโลกเหนือ และแผนที่ดวงดาวซีกโลกใต้ ซึ่งหากนำมารวมเป็นแผนที่เดียว ก็จะเขียนเส้นแบ่งไว้ตรงกลางด้วยเส้นโค้งเป็นรูปคลื่น แทนเส้นศูนย์สูตรที่เอียงขึ้นเอียงลงตามแกนโลกที่หมุนเอียงไปมา

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย