การแยกสารละลาย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 30.9K views



อย่างที่ทราบว่า การละลาย เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสาร โดยที่สมบัติทางเคมีของสารไม่เปลี่ยนแปลง สารที่ผสมกันเป็นสารละลายย่อมมีสมบัติต่างกัน โดยเฉพาะจุดหลอมเหลวและจุดเดือด เราจึงสามารถแยกสารละลายออกจากกันได้โดยการให้ความร้อน เพื่อให้เกิดการระเหย การควบแน่น การตกผลึก ของสารหนึ่ง จนสารทั้งสองแยกตัวออกจากกันนั่นเอง

วิธีการแยกสารละลายต้องดูที่สมบัติของสารเดิมทั้งสองชนิดว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ถ้าหากสารละลายเป็นส่วนผสมระหว่างของแข็งและของเหลว เราสามารถใช้วิธีการระเหยแห้ง คือการค่อย ๆ ให้ความร้อน จนของเหลวซึ่งมีจุดเดือดต่ำกว่าของแข็งระเหยออกไปจนหมด ก็จะเหลือเพียงของแข็งตามที่ต้องการ วิธีการนี้ ใช้ในการทำนาเกลือ คือปล่อยให้แสงแดดระเหยน้ำทะเลในนาเกลือจนได้เกลือสมุทร นอกจากนี้ การทำน้ำตาลทราย น้ำตาลปึก ก็ใช้วิธีการระเหยแห้งด้วยเช่นกัน โดยน้ำตาลจากต้นตาลจะถูกเคี่ยวด้วยไฟอ่อน เพื่อให้น้ำระเหยออกไปจนเกิดการตกผลึกของน้ำตาลกลายเป็นของแข็ง

สารละลายที่เกิดจากของเหลวและแก๊ส ก็สามารถใช้ความร้อนเป็นตัวแยกสารออกจากกันได้ โดยแก๊สเมื่อได้รับความร้อนก็จะแยกตัวออกจากของเหลวอย่างรวดเร็ว

หากสารละลายเป็นส่วนผสมของของเหลวและของเหลวด้วยกัน เราจะใช้การกลั่นเพื่อแยกสารละลาย โดยที่ของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำกว่าก็จะระเหยเป็นไอหรือแก๊สออกมาก่อน ซึ่งเราก็จะทำให้กลับไปเป็นของเหลวอีกครั้งด้วยการควบแน่น ส่วนของเหลวที่มีจุดเดือดสูงกว่าก็จะยังอยู่ในภาชนะที่ให้ความร้อน

ภาพ : shutterstock.com

สารละลายส่วนใหญ่สามารถแยกออกจากกันได้ด้วยการให้ความร้อน เพราะสารตั้งต้นมักมีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดต่างกัน เราจึงสามารถให้ความร้อนในระดับที่เหมาะสมเพื่อแยกให้สารหนึ่งเปลี่ยนสถานะ แต่อีกสารหนึ่งยังคงสถานะเดิมนั่นเอง

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย