แหล่งที่อยู่และการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 29.8K views



แหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ นั้น มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป เช่น บนภูเขาสูง ในทะเลลึก ในเขตที่หนาวจัดเต็มไปด้วยหิมะหรือในเขตที่ร้อนจัดอย่างทะเลทราย สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศหนึ่ง ๆ ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งเหมาะสมที่จะอยู่รอดในแหล่งที่อยู่นั้น ๆ หากสภาพของแหล่งที่อยู่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในแหล่งที่อยู่นั้นก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

ภาพ : shutterstock.com

ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าลึก มักจะมีลำต้นที่สูงเพื่อให้ได้รับแดดอย่างเต็มที่ ต้นไม้ที่ขึ้นบนภูเขาสูง ลำต้นและรากมักเลื้อยเกาะไปตามหินได้ดี กระบองเพชรที่ขึ้นในทะเลทราย ใบจะเป็นหนาม เพื่อลดพื้นที่ผิวของใบในการคายน้ำ

ภาพ : shutterstock.com

ต้นโกงกางที่ขึ้นในป่าชายเลน จะแผ่รากออกไปในแนวตั้งฉากกับลำต้น เพื่อช่วยค้ำยันให้ลำต้นมั่นคงบนพื้นเลน ผักตบและผักปอดจะมีโพรงอากาศในลำต้นเพื่อพยุงให้ลอยน้ำ ต้นสนมีใบเป็นเส้น เพื่อลดน้ำหนักจากการเกาะตัวของหิมะในเขตอากาศหนาวเย็น

ภาพ : shutterstock.com

เต่าบกจะมีนิ้วเท้าและเล็บเพื่อใช้ในการคลาน ในขณะที่เต่าทะเลจะมีเท้าเป็นใบพายเพื่อความถนัดในการว่ายน้ำ

นกกระจอกเทศมีขาที่ยาวและแข็งแรง มีนิ้วเท้าข้างละสองนิ้วเพื่อความสะดวกในการวิ่งบนพื้น ส่วนนกเพนกวินขาสั้น มีพังผืดระหว่างนิ้วเท้าเพื่อช่วยในการว่ายน้ำ นกมีโครงสร้างกระดูกเป็นรูพรุนแต่แข็งแรง รวมทั้งมีจงอยปากที่ใช้กินอาหารแทนกระดูกฟันและกราม เพื่อลดน้ำหนักของร่างกายในการบิน เหยี่ยวยังมีประสาทตาที่ยอดเยี่ยม สามารถมองเห็นเหยื่อตัวเล็ก ๆ ในระยะไกลได้จากบนเวหา

ภาพ : shutterstock.com

ลิงมีนิ้วมือนิ้วเท้าที่ยาวและมีนิ้วโป้งที่เคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับอีกสี่นิ้วได้ เพื่อใช้ในการปีนป่ายต้นไม้สูงได้อย่างคล่องแคล่ว

ปลามีเหงือกเพื่อช่วยในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในน้ำ

ลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทำให้มันสามารถดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป หากเป็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติที่หมุนเวียนเป็นปกติ สิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ก็ต้องรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด หรือไม่ก็อาจจะสูญพันธุ์ ตามทฤษฎี "การคัดเลือกโดยธรรมชาติ" ของ ชาร์ล ดาร์วิน

การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตมีหลายรูปแบบ เช่นการเปลี่ยนสีผิวของจิ้งจก หรือผีเสื้อกลางคืน ที่ต้องปรับสีของตัวให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลง ตามสภาพที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป เพื่อการอำพรางตัว

กระบือมีลำตัวสีดำจึงดูดความร้อนจากแสงแดดมาก ทั้งยังมีต่อมเหงื่อน้อย ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ความร้อนในตัวกระบือไม่สามารถถ่ายเทออกมาได้ จึงต้องลงไปแช่ปลักเพื่อช่วยระบายความร้อนแทน

สัตว์ที่หากินในเขตที่มีฤดูหนาวอันโหดร้าย อาหารขาดแคลนเป็นเวลานาน หาทางออกโดยการจำศีล คือการลดกิจกรรมของร่างกายให้เหลือน้อยที่สุด เช่น หมีกริซลี โดยจะกินอาหารกักตุนเป็นชั้นไขมันหนาไว้ก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง

สัตว์เลือดเย็นอย่าง เต่า กบ หรือปลา บางชนิดก็สามารถจำศีลในสภาพถูกแช่แข็งได้เช่นกัน

ในกรณีที่สิ่งมีชีวิตทนกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้จริง ๆ เช่นสัตว์เลือดอุ่นอย่างนก ก็อาจจะอพยพย้ายถิ่นชั่วคราวโดยบินหนีฤดูหนาวในทุกปีเพื่อหาอากาศที่อุ่นกว่าในการผสมพันธุ์และวางไข่

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย