ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
19 พ.ค. 65
 | 262.5K views



ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster) คือ ภัยอันตรายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อชีวิตและทรัพย์สิน ต่อสภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจตลอดจนสิ่งแวดล้อมโดยรวม ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้แก่ ธรณีพิบัติภัย อุทกภัย วาตภัยหรือภัยทางสภาพอากาศ อัคคีภัยและภัยพิบัติจากอวกาศ

ภาพ : shutterstock.com

1) ธรณีพิบัติภัย (Geological Disasters) เป็นภัยที่เกิดจากพื้นดิน หรือใต้แผ่นเปลือกโลก เช่น แผ่นดินไหว (Earthquake) ดินถล่ม (Landslide) หิมะถล่ม (Avalanche) หลุมยุบ (Sinkhole) ภูเขาไฟระเบิด (Volcanic Eruption)

ธรณีพิบัติภัยเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงมาก ยากที่จะป้องกันหรือหลีกหนีได้ทัน เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด นอกจากชีวิตของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วนจะต้องสูญเสียไปแล้ว สภาพภูมิประเทศยังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอีกด้วย เทือกเขาสูง ๆ ของโลกใบนี้ ก็เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก แผ่นดินไหว และภูเขาไฟปะทุในครั้งบรรพกาล

ถึงแม้ว่าจะก่อความเสียหายอย่างมากมาย แต่ภายหลังจากเหตุการณ์สงบลง เถ้าถ่านและแร่ธาตุจากลาวาที่ไหลออกมาก็มอบความอุดมสมบูรณ์คืนแก่ผืนดิน ให้เหล่าสิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดได้ใช้ประโยชน์นานัปการ

ภาพ : shutterstock.com

2) อุทกภัย (Hydrological Disasters) เป็นภัยที่เกิดจากน้ำ ทั้งน้ำป่า และน้ำทะเล เช่น น้ำท่วม (Flood) คลื่นยักษ์ (Tsunami)

อุทกภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ไม่รุนแรงเท่ากับธรณีพิบัติภัย แต่ก็สร้างความเสียหายอย่างมาก น้ำท่วมฉับพลัน ทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยล้มตาย คนต้องอพยพทิ้งบ้านเรือน ถ้าน้ำท่วมเป็นเวลานาน

โรคระบาดมักจะตามมาภายหลัง เนื่องจากน้ำขังจนเน่า น้ำป่าไหลหลากมีพลังทำลายบ้านเรือนที่กีดขวางทางน้ำได้ในทันที บางครั้งเกิดโคลนถล่มตามมา

แต่เมื่อน้ำลดลง ผืนดินก็อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก พืชเจริญเติบโตได้ดีเพราะได้รับแร่ธาตุอย่างเต็มที่ ก่อให้เกิดระบบนิเวศใหม่ที่อุดมสมบูรณ์

ภาพ : shutterstock.com

3) ภัยพิบัติทางสภาพอากาศ (Meteorological Disasters) เป็นภัยที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน มีตัวแปรคืออุณหภูมิและความกดอากาศ เช่น วาตภัย (Strom) ได้แก่ พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในทะเล (Tropical Storm) พายุแนวตั้งที่เกิดบนบกอย่างพายุงวงช้างหรือทอร์นาโด (Tornado) ฟ้าผ่า (Lightning) พายุลูกเห็บ (Hailstorm) พายุหิมะ (Blizzard) นอกจากวาตภัยแล้ว ก็ยังมีภัยที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน เช่น คลื่นความร้อน (Heat Wave) คลื่นความเย็น (Cold Wave) และภัยแล้ง (Drought)

พายุหมุนเขตร้อน เรียกชื่อตามสถานที่เกิดในท้องทะเล เช่น พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) คือพายุหมุนเขตร้อนความเร็วลมสูงที่เกิดในแถบทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก พายุไซโคลน (Cyclone) เกิดขึ้นในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย และพายุเฮอริเคน (Hurricane) คือพายุที่เกิดในแถบมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกตะวันออก พายุที่มีกำลังและความเร็วลมมากระดับนี้ สามารถพัดทำลายที่อยู่อาศัยของประชากรในพื้นที่ที่มันพัดผ่าน เกิดความเสียหายรุนแรง โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดกับสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์

แต่ความเสียหายต่อระบบนิเวศในธรรมชาติกลับไม่มากนัก พายุยังเป็นตัวพัดพาเอาความชุ่มชื้นมามอบให้แก่ผืนป่า ผิวดิน และแหล่งน้ำอีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

4) อัคคีภัย (Conflagration) เป็นภัยที่เกิดจากไฟ เช่น ไฟป่า (Wildfire)

ไฟไหม้ป่า เป็นภัยที่บางครั้งก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากความแห้งแล้ง ต้นไม้เกิดการเสียดสีกันจนเกิดประกายไฟ บางครั้งก็เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม หลายครั้งกินเวลานานจนขยายเป็นวงกว้าง สิ่งมีชีวิตล้มตายแทบจะทันทีที่ไฟลามไปถึง โดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังทำรังวางไข่ สัตว์ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และแน่นอนที่สุด ต้นไม้ทุกต้นที่ไฟลุกลามไปถึง

นอกจากระบบนิเวศที่ล่มสลายลงทันที ไฟป่ายังก่อให้เกิดฝุ่นควันลอยไปในอากาศ สร้างมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสัตว์และมนุษย์ที่อยู่ไกลออกไปอีกด้วย อย่างไรก็ตามแต่ เมื่อมอดดับลง สิ่งที่ไฟป่าเหลือทิ้งไว้ก็คือ เถ้าถ่านและปุ๋ยอันอุดมสมบูรณ์แก่ผืนดิน ความชื้นที่ถูกขับออกไปตอนไฟไหม้ ก็รวมตัวกัน

ก่อตัวเป็นเมฆฝน หยดลงมาคืนความชุ่มฉ่ำให้แก่ดิน เพื่อรอให้เมล็ดพันธุ์ที่เหลือรอด ได้หยั่งรากเจริญเติบโตเป็นผู้ผลิต เริ่มต้นระบบนิเวศใหม่อีกครา

ภาพ : shutterstock.com

5) ภัยพิบัติจากอวกาศ (Space Disasters) เป็นภัยที่มาจากภายนอกโลก เช่น อุกกาบาตพุ่งชน (Impact Event) พายุสุริยะ (Solar Flare)

ภัยจากอวกาศ เช่น อุกกาบาตพุ่งชนโลก หรือ พายุสุริยะที่ก่อให้เกิดมหันตภัยครั้งร้ายแรง เป็นทฤษฎีที่ถูกใช้อธิบายถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดมหึมาที่เคยครองโลกในอดีตกาลนับล้านปีอย่างไดโนเสาร์

ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ๆ อีกครั้ง อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วนเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการสูญสิ้นอารยธรรมของมนุษยชาติเลยทีเดียว

บางครั้ง ภัยธรรมชาติก็เกิดต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เช่นเกิดภัยแล้งยาวนาน ทำให้พืชล้มตายจำนวนมาก สัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อก็อดอยากล้มตายตามเป็นทอด ๆ เกิดเป็นภาวะทุพภิกขภัย หรือภัยจากความอดอยาก แล้วตามมาด้วยภัยจากโรคระบาด อีกทอดหนึ่ง ซึ่งคร่าสิ่งมีชีวิตไปมากมาย

ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีพลังทำลายล้างอย่างที่มนุษย์ไม่อาจรับมือได้ แต่ทว่าในปัจจุบัน มนุษย์กลับมีส่วนในการเร่งให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงเสียเอง โดยการบริโภคทรัพยากรอย่างไม่มีขีดจำกัด

การแผ้วถาง ตัดไม้ทำลายป่า และการทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลที่ย่อยสลายกลับคืนสู่ระบบนิเวศตามธรรมชาติไม่ได้ จนกลายเป็นภาระแก่โลก บ้านที่เราอาศัยอยู่เอง

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย