ปัญหาน้ำเน่าเสีย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 14.9K views



แหล่งน้ำเป็นเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ทั้งพืชและสัตว์ต่าง ๆ ล้วนต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น คุณภาพของแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก ความขุ่น, อุณหภูมิ, ความเป็นกรดด่าง, ความกระด้าง และปริมาณออกซิเจนในน้ำต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ในปัจจุบัน มนุษย์กำลังทำร้ายแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ด้วยการทิ้งขยะพลาสติกลงในแหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำเกิดการอุดตันและยังเร่งการเน่าเสียของน้ำด้วยสารเคมีและผงซักฟอกอีกด้วย

ภาพ : shutterstock.com

คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำ

คุณภาพน้ำ หมายถึง ความเหมาะสมของน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ และความเหมาะสมสำหรับการเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสิ่งมีชีวิตในน้ำ

คุณภาพของน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติขึ้นอยู่กับ สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา พืชพรรณตามธรรมชาติ รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงแหล่งน้ำนั้น ๆ

คุณภาพน้ำประกอบไปด้วย

     สีของน้ำ (Colour)

สีของน้ำตามธรรมชาติ เป็นผลจากการที่น้ำไหลผ่านสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ แร่ธาตุที่ละลายในน้ำ และสารเคมีต่าง ๆ เช่น น้ำที่มีหินปูนละลายอยู่มาก จะมีสีออกเขียวใส​ น้ำบริสุทธิ์จะใส มีสีออกฟ้าอ่อนๆ ซึ่งจะเห็นได้ต้องมองผ่านน้ำบริสุทธิ์ที่ลึกมากพอ
 

     ความขุ่น (Turbidity)

ความขุ่นของน้ำเกิดจากการที่น้ำมีสารแขวนลอยหรือตะกอนอยู่ เช่น เศษดินละเอียด อินทรียสาร หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น แพลงค์ตอน ถ้าน้ำมีความขุ่นมาก แสงแดดก็จะส่องลงไปได้ไม่ลึกพอให้พืชใต้น้ำเจริญเติบโต


     อุณหภูมิของน้ำ (Temperature)

อุณหภูมิของน้ำในแหล่งน้ำจะผันแปรตามอุณหภูมิของอากาศ และปริมาณแสงแดด ความลึกของแหล่งน้ำ ปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำจะแปรผกผันกับอุณหภูมิของน้ำ คือ น้ำที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น จะมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลง ซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำโดยตรง แหล่งน้ำที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ไม่ควรมีอุณหภูมิสูงเกินไป
 

     ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH-Value)

เราวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำได้ง่าย ๆ โดยใช้กระดาษลิตมัสจุ่มลงไปในน้ำ โดยที่ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำบริสุทธิ์จะอยู่ที่ 7 ซึ่งเป็นกลาง ถ้าน้อยกว่า 7 ลงไป จะมีความเป็นกรดมากขึ้นเรื่อย ๆ กลับกัน ถ้ามีค่ามากกว่า 7 จะมีความเป็นด่างนั่นเอง

ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำในแหล่งน้ำ เป็นผลรวมของค่าความเป็นกรดเป็นด่างของสารละลายทั้งหมดที่อยู่ในแหล่งน้ำนั้น แหล่งน้ำจืดที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์น้ำ ควรมีความเป็นกรดเป็นด่างใกล้เคียงค่ากลางมากที่สุด คือระหว่าง 5.5 - 8.5

 

ผลกระทบของชุมชนต่อคุณภาพน้ำ

แหล่งน้ำจืดที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยก็คือ แม่น้ำต่าง ๆ นั่นเอง ซึ่งไหลมาจากลำธารเล็ก ๆ บนเทือกเขาสูงที่มีป่าปกคลุม แม่น้ำเป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตมากมาย เป็นแหล่งอาหาร เป็นเส้นทางคมนาคม ให้ชีวิต ให้พลังงาน ต่อสิ่งมีชีวิตมาอย่างยาวนาน

การขยายตัวของชุมชนมนุษย์แบบก้าวกระโดด การก่อสร้าง การทำอุตสาหกรรม การใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้ประมาณ การพึ่งพาพลาสติกในการดำเนินชีวิตอย่างขาดไม่ได้ นำไปสู่การปล่อยของเสีย สารเคมี สารพิษต่างๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง รวมทั้งขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่ถูกทิ้งลงในแหล่งน้ำ ทำให้คุณภาพของน้ำย่ำแย่ลงไปมาก จนสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากและเป็นวงกว้าง

ภาพ : shutterstock.com

ชุมชนเมืองใหญ่นั้นมีความต้องการในการบริโภคสูง จึงมีการผลิตอาหารเป็นจำนวนมาก และตามมาด้วยอาหารที่เหลือทิ้งและบรรจุภัณฑ์พลาสติกปริมาณมหาศาลต่อวัน ซึ่งการจัดการขยะที่ไม่มีคุณภาพทำให้ขยะบางส่วนถูกทิ้งลงแหล่งน้ำกลายเป็นสาเหตุหลักของการเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง

น้ำทิ้งจากครัวเรือนก็เป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่ทำให้น้ำเน่าเสีย สารเคมีตกค้างจากผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน สบู่ ครีมอาบน้ำ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งรบกวนให้ระบบนิเวศในแหล่งน้ำเสียสมดุล

นอกจากชุมชนบ้านเรือนแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมก็มีส่วนในการทำให้น้ำเน่าเสียไม่น้อยไปกว่ากัน โดยการแอบปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง เนื่องจากการบำบัดน้ำเสียนั้นมีค่าใช้จ่าย

น้ำทิ้งจากภาคการเกษตรอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีอย่างปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งถ้าเล็ดรอดลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ก็จะสร้างปัญหาให้แก่แหล่งน้ำนั้น นอกจากนี้ การปศุสัตว์และการเลี้ยงปลาในกระชังก็มีน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนไปด้วยอาหารและมูลสัตว์ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งของสาเหตุการเน่าเสียของแหล่งน้ำเช่นกัน

 

จัดทำโดย มรุตเทพ วงษ์วาโย