ประชากรมนุษย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6K views



โลกของเรากำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มนุษย์เป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้ายในสายใยอาหารอันซับซ้อนของโลกใบนี้ สมดุลของระบบนิเวศและทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติถูกทำลายและแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ ชุมชนมนุษย์แพร่ขยายออกไปยึดพื้นที่ทางธรรมชาติที่เคยเป็นป่าเขียวชอุ่ม ส่งผลให้ป่าไม้และสัตว์ป่าลดน้อยลง ตลอดจนสัตว์น้ำที่อาศัยบริเวณใกล้แนวชายฝั่งก็ได้รับผลกระทบจากขยะและมลพิษอันเป็นผลผลิตจากชุมชนมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่เพิ่มขึ้นคือ สัตว์ในฟาร์ม และมนุษย์ผู้อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร เมื่อผู้ล่ามีจำนวนมากขึ้น เหยื่อควรจะหายไป เป็นเหตุให้ผู้ล่าอย่างมนุษย์ลดจำนวนลงด้วยความอดอยากหิวโหย แต่มนุษย์รู้จักทำเกษตร และปศุสัตว์ จึงกำหนดอนาคตของตัวเองได้

มนุษย์พยายามควบคุมสมดุลของระบบนิเวศด้วยตัวเอง ระบบนิเวศแบบที่มนุษย์เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะอยู่รอด มนุษย์จึงเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่สัตว์ในธรรมชาติหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในธรรมชาติก็กำลังลดลงเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน

ภาพ : shutterstock.com

จำนวนประชากรมนุษย์บนโลกใบนี้ มีราวกว่า 7 พันล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 70 ล้านคน (2562) นับเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก

เมื่อผู้บริโภคลำดับสุดท้ายขยายจำนวนแบบก้าวกระโดด จึงกระทบถึงความสมดุลของโลกใบนี้ แม้ว่ามนุษย์จะสามารถผลิตอาหารเพื่อป้อนสมาชิกของตัวเองได้อย่างเพียงพอด้วยการเกษตรและปศุสัตว์ ทว่าพืชที่มนุษย์ปลูกนั้นต้องใช้ทรัพยากรมากมายหลายอย่างกว่าที่คาดคิด

พืชสร้างอาหารเองได้ด้วย แสง อากาศ และน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่มีไม่จำกัด แต่พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พืชได้รับแสงแดด น้ำและลมอย่างเพียงพอ จึงไม่ใช่ว่าจะใช้พื้นที่ว่างเปล่าที่ไหนทำเกษตรก็ได้ พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกพืช ก็คือพื้นที่ที่พืชขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ หรือป่า นั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com

 

มนุษย์ในยุคโบราณอาจดำรงชีวิตได้ เพียงอาศัยแค่การบริโภคสิ่งมีชีวิตอื่นในป่าเขา ในลำน้ำ แต่มนุษย์ในปัจจุบันไม่อาจดำรงชีวิตได้เช่นนั้น การเปลี่ยนป่าไม้ให้เป็นพื้นที่การเกษตรสำหรับเพาะปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นอาหารที่มนุษย์ต้องการโดยตรง จะให้ผลผลิตที่มากกว่าการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าตามธรรมชาติ มนุษย์จึงทำฟาร์มเพื่อป้อนสมาชิกในสายพันธุ์

และเมื่ออาหารมีเพียงพอจนล้น มนุษย์จึงมั่นใจว่าจะสามารถขยายเผ่าพันธุ์ไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนพื้นที่ตามธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ในการเกษตรจึงขยายวงกว้างออกไปอีก เท่ากับว่า มนุษย์ไม่ได้ผลิตอาหารเองได้อย่างที่เข้าใจ แต่มนุษย์กำลังบริโภคระบบนิเวศป่าทั้งระบบ ทีละน้อย ๆ โดยไม่ทันรู้สึกตัว ยังไม่นับการทำประมงที่รบกวนระบบนิเวศทางทะเลอย่างมากมาย

การปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางธรรมชาติให้เป็นพื้นที่เกษตรและปศุสัตว์เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการทำลายสมดุลตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อสังคมมนุษย์ขยายวงกว้างออกไป การติดต่อสื่อสาร การค้าขาย การคมนาคมก็ขยายตามไปด้วย การก่อสร้างอาคาร ถนนหนทาง ก็เพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรทางธรรมชาติก็ถูกขุดขึ้นมาใช้มากขึ้น

ภาพ : shutterstock.com

 

มนุษย์จึงทำเหมืองแร่ต่างๆ ซึ่งหมายถึงการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ เช่น การขุดภูเขาทั้งลูก เมื่อได้ทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ มนุษย์ก็ทำอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้า มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า และน้ำมัน จึงมีการขุดเจาะน้ำมัน และสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน สร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ฯลฯ

ภาพ : shutterstock.com

 

ทั้งหมดนี้ นอกจากจะรุกล้ำพื้นที่ทางธรรมชาติอย่างมากแล้ว มนุษย์ยังสร้างของเสียและสิ่งปฏิกูลจำนวนมหาศาลจากเหมือง จากโรงงานอุตสาหกรรม จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้ แล้วปล่อยทิ้งให้เป็นภาระของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศทางธรรมชาติอีกด้วย

ซึ่งขยะเหล่านี้ ต่างจากซากพืชและซากสัตว์ที่ถูกย่อยสลายได้ในระบบนิเวศตามธรรมชาติ ของเสียที่ถูกปล่อยออกจากเหมืองและโรงงานเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อทุกชีวิตในสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศใกล้เคียงดำรงอยู่ไม่ได้ ซึ่งท้ายที่สุด มนุษย์เองก็ยังเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยมลพิษนี้เองอีกด้วย