กรดและเบสในชีวิตประจำวัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 312.8K views



ทุกวันนี้เราใช้ กรดและเบสในชีวิตประจำวัน อยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งในการบริโภคคืออาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู รวมทั้งเครื่องอุปโภคต่าง ๆ ตั้งแต่ สบู่, แชมพู, น้ำยาล้างจาน, ผงซักฟอก, น้ำยาล้างห้องน้ำ รวมถึงยังใช้เป็นยารักษาโรคได้ เช่น ยาลดกรด เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

ตัวอย่างสารที่เป็นกรดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำส้มสายชู มีกรดแอซีติก ผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง ส้มโอ มะนาว มะกรูด พวกนี้มีกรดซิตริก หรือกรดส้ม โยเกิร์ต มีกรดแลกติก น้ำอัดลมชนิดต่าง ๆ มีกรดคาร์บอนิก หรือสัตว์บางชนิดก็ให้กรดได้ เช่น มด มีกรดฟอร์มิก นอกจากนี้ยังพบในกระเพาะอาหารของคนด้วย ตัวอย่างสารที่เป็นเบสที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู ยาสระผม ผงซักฟอก เป็นต้น เรานำกรดและเบสมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากมาย ดังนี้

 

        1. ใช้กรด-เบสเกี่ยวกับอาหาร เช่น เติมน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูเพื่อให้อาหารมีรสเปรี้ยว แช่อาหารในน้ำปูนใสเพื่อให้อาหารกรอบ

        2. ใช้กรด-เบสทำความสะอาดร่างกาย เช่น ใช้สบู่ทำความสะอาดร่างกาย ใช้แชมพูสระผม ใช้ครีมนวดผมบำรุงเส้นผม คนสมัยก่อนนิยมชโลมผมด้วยน้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาวหลังสระผม เพื่อกำจัดไคลสบู่ที่จับอยู่ตามเส้นผม เนื่องจากสารทำความสะอาดในแชมพูเป็นสารประเภทเดียวกับสบู่

        3. ใช้กรดเบสทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ เช่น ใช้น้ำยาล้างจานทำความสะอาดเครื่องครัว ใช้ผงซักฟอกทำความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำความสะอาดห้องน้ำและสุขภัณฑ์ ซึ่งสารที่ใช้ทำความสะอาดห้องน้ำหรือเครื่องสุขภัณฑ์นั้นมีสมบัติเป็นกรดที่รุนแรง เมื่อทำปฏิกิริยากับปูนขาวที่ต่อเชื่อมแผ่นกระเบื้อง ทำให้เกิดสารที่ไม่เกาะกับผิวของวัตถุ สามารถใช้น้ำล้างสารเหล่านี้ให้หลุดออกไป จึงทำให้ห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์สะอาด แต่ควรระมัดระวังไม่ให้สารเหล่านี้ถูกร่างกายหรือเสื้อผ้า และไม่ควรสูดหายใจเอาไอของสารเข้าไป

        4. ใช้กรดเบสเป็นยารักษาโรค เช่น ใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร โดยปกติแล้วเซลล์ในกระเพาะอาหารของคนเราจะหลั่งกรดไฮโดรคลอริกออกมา เพื่อให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีค่า pH อยู่ในช่วง 1.6-2.5 จะทำให้สามารถย่อยโปรตีนได้ดีที่สุด การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาหรือภาวะเครียด ทำให้กรดไฮโดรคลอกริกหลั่งออกมามาก กัดเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ถ้ามีกรดในกระเพาะอาหารมาก ควรใช้ยาลดกรดชนิดที่เหมาะสมและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยยาลดกรดที่ใช้กันทั่วไปมักจะมีส่วนประกอบของเบสบางชนิด เช่น โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต แคลเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ เป็นต้น ยาลดกรดส่วนใหญ่จะทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในกระเพาะอาหาร เราจึงเรอออกมาด้วย