อุณหภูมิของอากาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2.7K views



มรุตเทพ วงษ์วาโย

 

        พายุฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บ หิมะ เกิดจากสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไป มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งอุณหภูมิเป็นสาเหตุที่สำคัญอันดับต้น ๆ ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิเหนือพื้นดินและอุณหภูมิเหนือผิวน้ำมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วของอากาศเย็นไปแทนที่อากาศร้อนซึ่งลอยสูงขึ้นไป เกิดเป็นพายุ เป็นต้น

        การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงหรือถ่ายเทพลังงานความร้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เช่น การใช้เครื่องยนต์เชื้อเพลิง การหุงต้ม การทำอุตสาหกรรม ไฟป่า ลาวาปะทุ การเปลี่ยนฤดูกาล ล้วนแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศทั้งสิ้น ซึ่งเราสามารถวัดอุณหภูมิอากาศได้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer) มีหน่วยเป็น องศาฟาเรนไฮต์ หรือ องศาเซลเซียส หรือ เคลวิน

ภาพ : shutterstock.com

        นอกจากนี้ โลกยังได้รับพลังงานจากภายนอกอีกด้วย ซึ่งแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลกก็คือดวงอาทิตย์ การแผ่รังสีต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์ ทำให้โลกดำเนินต่อไปได้ รังสีต่าง ๆ จากดวงอาทิตย์มีความยาวคลื่นแตกต่างกันไป คลื่นรังสีที่มนุษย์มองเห็นเรียกว่าคลื่นแสง คลื่นรังสีที่มีความยาวคลื่นยาวถัดจากคลื่นแสงคือ รังสีอินฟราเรด (รังสีใต้แดง) หรือรังสีความร้อน (คลื่นความร้อน) คลื่นรังสีที่มีความยาวคลื่นสั้นถัดจากคลื่นแสงคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (รังสีเหนือม่วง) เป็นต้น

ภาวะเรือนกระจก
        รังสีต่าง ๆ ล้วนให้พลังงานในรูปแบบความร้อน รังสีจากดวงอาทิตย์บางส่วนจะถูกชั้นบรรยากาศของโลกสะท้อนออกไป และรังสีส่วนใหญ่จะทะลุชั้นบรรยากาศของโลกลงมาได้ โดยเฉพาะรังสีอินฟราเรดที่เป็นรังสีความร้อน ทำให้อุณหภูมิของอากาศสูงขึ้น รังสีบางส่วนยังถูกผิวโลกสะท้อนกลับออกไปนอกโลกด้วย แต่ชั้นบรรยากาศของโลกที่ประกอบไปด้วย ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน จะดูดซับรังสีเหล่านี้ไว้ ทำให้เกิดความร้อนสะสมเพิ่มมากขึ้นในชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก ปรากฏการณ์นี้ถูกตั้งชื่อเพื่อเปรียบเทียบกับเรือนกระจกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อปลูกพืชเมืองร้อนในเขตที่อากาศหนาวเย็น

ภาพ : shutterstock.com

        ภายหลังพบว่า หลักการของเรือนกระจกนั้นแตกต่างออกไป กล่าวคือ เรือนกระจกไม่ได้อาศัยการดูดซับหรือสะท้อนกลับของรังสีความร้อนเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ แต่อาศัยการป้องกันการถ่ายเทอุณหภูมิระหว่างอากาศอบอุ่นภายในเรือนกระจกกับอากาศหนาวเย็นภายนอกเรือนกระจกต่างหาก ส่วนความร้อนที่เพิ่มขึ้นในเรือนกระจกเกิดจากการสะสมพลังงานที่ถูกปลดปล่อยจากวัตถุที่อยู่ภายในเรือนกระจกเองทีละน้อย

ภาพ : shutterstock.com

        กิจกรรมที่ผลิตแก๊สเรือนกระจกอย่าง มีเทนจากเกษตรกรรม คาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรม ถูกเพ่งเล็งว่ามีผลกระทบ ทำให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศวิปริตแปรปรวน จนส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตโดยรวมอย่างใหญ่หลวง