หยาดน้ำฟ้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 53.6K views



มรุตเทพ วงษ์วาโย

 

         น้ำที่ตกลงมาจากบนท้องฟ้า เราเรียกว่า “หยาดน้ำฟ้า” หยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในรูปของเหลว เราเรียกว่า “ฝน” ส่วนหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในรูปของแข็งหรือน้ำแข็ง เราเรียกว่า “ลูกเห็บ” และ “หิมะ”

ภาพ : shutterstock.com

ฝน
         น้ำฝนเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำบนท้องฟ้ากลายเป็นละอองน้ำ แล้วรวมตัวกันจนเป็นหยดน้ำ ตกลงมาสู่พื้น ฝนจะตกมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับขนาดของเมฆฝน คือ นิมโบสตราตัส และ คิวมูโลนิมบัส

         อย่างไรก็ตาม เราสามารถวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้ โดยใช้ภาชนะทรงกระบอกไปวางไว้กลางแจ้งเวลาที่ฝนตกเพื่อรองรับน้ำฝน เมื่อฝนหยุดแล้ว เราจะสามารถวัดความสูงของน้ำฝนในภาชนะได้ โดยมีหน่วยเป็นมิลลิเมตร (ไม่สำคัญว่าขนาดหน้าตัดของภาชนะจะใหญ่หรือเล็ก ขอเพียงเป็นภาชนะทรงกระบอกก็จะวัดความสูงของน้ำฝนได้ใกล้เคียงกัน) หากวัดความสูงของน้ำฝนในภาชนะได้น้อย ก็แปลว่าฝนตกเล็กน้อย ในทางตรงกันข้าม หากวัดความสูงของน้ำฝนในภาชนะได้มาก ก็แปลว่ามีตกหนักนั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com

ลูกเห็บ
         ลูกเห็บคือหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในรูปก้อนน้ำแข็ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แม้ลูกเห็บจะเป็นน้ำแข็ง แต่ลูกเห็บจะเกิดขึ้นได้กลับต้องอาศัยอากาศร้อนสูง กล่าวคือ ในเวลาที่เมฆคิวมูโลนิมบัสทำให้เกิดฝนตก ยอดเมฆคิวมูโลนิมบัสที่อยู่ชั้นบนซึ่งมีสภาพเป็นเกล็ดน้ำแข็งก็จะตกลงมาด้วย แต่กว่าจะตกถึงพื้น เกล็ดน้ำแข็งก็จะละลายกลายเป็นน้ำฝนไปก่อน แต่หากมีอากาศร้อนจัดพัดขึ้นด้านบน เกล็ดน้ำแข็งที่กำลังร่วงลงมาก็จะถูกพัดกลับขึ้นไปจับตัวกันในชั้นอากาศเย็นอีกครั้ง กลายเป็นก้อนน้ำแข็งที่ใหญ่ขึ้น ๆ จนกระทั่งสามารถร่วงหล่นลงมาถึงพื้นได้โดยไม่ละลายเป็นน้ำไปจนหมด

ภาพ : shutterstock.com

หิมะ
         หิมะเป็นหยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในรูปของผลึกน้ำแข็งเล็ก ๆ เกิดขึ้นได้เฉพาะในเขตที่มีอากาศหนาวเย็นจัด เพราะต้องอาศัยอากาศบริเวณพื้นโลกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสในการเกิด กล่าวคือ เมื่อไอน้ำในอากาศมากระทบเข้ากับอากาศหนาวเย็นจัด ก็จะกลายเป็นผลึกน้ำแข็งแล้วร่วงลงสู่พื้น โดยอากาศที่หนาวเย็นจัดที่พื้นโลกเป็นตัวทำให้ผลึกน้ำแข็งที่โปรยลงมาไม่ละลายกลายเป็นน้ำ