บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ทวีปอเมริกาใต้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 81.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 

 

 

 

1. ลักษณะทางกายภาพของทวีปอเมริกาใต้
   1.1 ที่ตั้งอาณาเขตและขนาด
   พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้อยู่ทางซีกโลกใต้ ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 12 องศา 25 ลิปดาเหนือกับ 56 องศาใต้ และระหว่างลองจิจูด 34 องศา 47 ลิปดาตะวันตกกับ 81 องศา 20 ลิปดาตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
       ทิศเหนือ ติดกับทวีปอเมริกาเหนือ
       ทิศตะวันออก จดมหาสมุทรแอตแลนติก
       ทิศใต้ จดช่องแคบเดรก (DrakePassage) เป็นน่านน้ำที่คั่นทวีปอเมริกาใต้กับทวีปแอนตาร์กติก
       ทิศตะวันตก จดคลองปานามาและมหาสมุทรแปซิฟิก


   ทวีปอเมริกาใต้ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ โดยมีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับทวีปอเมริกาเหนือแต่กลับข้างกัน คือ มีฐานกว้างอยู่ทางทิศเหนือและมียอดแหลมอยู่ทางทิศใต้

 


เนื้อที่ จำนวนประชากร และเมืองหลวงของประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ค.ศ. 2011

 

ประเทศ

เนื้อที่ (ตร.กม.)

ประชากร (ล้านคน)

เมืองหลวง

     1.  สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล

8,500,000 

196.7 

 บราซีเลีย

     2.  สาธารณรัฐอาร์เจนตินา

2,780,000 

40.5 

 บัวโนสไอเรส

     3.  สาธารณรัฐเปรู

1,285,215 

29.4 

 ลิมา

     4.  สาธารณรัฐโคลอมเบีย

1,138,914 

46.9 

 โบโกตา

     5.  รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย

1,098,580 

10.1 

 ลาปาซ

     6.  สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา

912,050 

29.3 

 การากัส

     7.  สาธารณรัฐชิลี

756,945 

17.3 

 ซันติอาโก

     8.  สาธารณรัฐปารากวัย

406,741 

6.6 

 อาซุนซีออน

     9.  สาธารณรัฐเอกวาดอร์

283,561 

14.7 

 กีโต

   10.  สาธารณรัฐสหกรณ์กายอานา

214,970 

0.8 

 จอร์จทาวน์

   11.  สาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย

176,221 

3.4 

 มอนเตวิเดโอ

   12.  สาธารณรัฐซูรินาเม

163,820 

0.5 

 ปารามารีโบ

   13.  สาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก

5,128 

1.3 

 พอร์ตออฟสเปน

   14.  เฟรนช์เกียนา (ฝรั่งเศส)

90,976 

0.2 

 กาแยน

   15.  หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (สหราชอาณาจักร)

12,173 

– 

 สแตนลีย์


ที่มา: เนื้อที่จาก พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2 เล่ม, 2549-2550
จำนวนประชากรจาก 2011 World Population Data Sheet. (Population Reference Bureau, 2011)


 

   1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
   ทวีปอเมริกาใต้มีลักษณะภูมิประเทศแบ่งได้ 3 เขตดังนี้
       1. เขตเทือกเขาสูงทางด้านตะวันตก มีเทือกเขาแอนดีสทอดตัวเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกจากเหนือสุดลงมาใต้สุด เป็นเทือกเขาที่ยาวที่สุดในโลก และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแอมะซอน

 

 

 

 

 

 

       เขตนี้เป็นแนวเทือกเขาหินใหม่ที่มีภูเขาไฟทรงพลังอยู่หลายลูกและมีที่ราบสูงและแอ่งระหว่างภูเขาอยู่หลายแห่ง
       2. เขตที่ราบแม่น้ำ มี 3 แห่งดังนี้
          1) ที่ราบลุ่มแม่น้ำโอรีโนโก
          2) ที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน
          3) ที่ราบลุ่มแม่น้ำปารานา–ปารากวัย–อุรุกวัย

 

 

 

 

 

 

       3. เขตที่ราบสูงทางด้านตะวันออก แบ่งเป็น 4 เขต ดังนี้
          1) ที่ราบสูงกีอานา
          2) ที่ราบสูงบราซิล
          3) ที่ราบสูงมาตูโกรสซู
          4) ที่ราบสูงปาตาโกเนีย

 

 

 

 

 

 

   1.3 แหล่งน้ำในทวีปอเมริกาใต้
 
 ทวีปอเมริกาใต้มีแหล่งน้ำจืดที่สำคัญ ดังนี้
       1. แม่น้ำที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำแอมะซอน (Amazon) แม่น้ำปารานา (Parana) แม่น้ำปารากวัย (Paraguay) แม่น้ำโอรีโนโก (Orinoco) แม่น้ำมักดาเลนา (Magdalena) แม่น้ำเซาฟรังซีสกู (Sao Francisco)
       2. ทะเลสาบ ทะเลสาบที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลสาบตีตีกากา ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้



   1.4 ภูมิอากาศ
       1.4.1 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศ
          1. ที่ตั้ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตละติจูดต่ำ ทำให้ประเทศส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน ยกเว้นประเทศอุรุกวัย ชิลีและอาร์เจนตินาที่อยู่ในเขตละติจูดกลาง จึงมีภูมิอากาศอบอุ่น
          2. ลักษณะภูมิประเทศ มีเทือกเขาแอนดีสซึ่งมีความสูงและความยาวต่อเนื่องกัน จึงเป็นกำแพงธรรมชาติที่ขวางกั้นความชื้นและลมประจำที่พัดจากทะเลเข้ามา ทำให้บางพื้นที่มีภูมิอากาศแห้งเป็นเขตทุ่งหญ้าและทะเลทราย
          3. ลมประจำ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตลมสงบบริเวณเส้นศูนย์สูตร (doldrums) และเขตอิทธิพลของลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือและลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชายฝั่งตะวันออกของทวีปมีฝนตกชุก แต่เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตละติจูดต่ำจึงมีภูมิอากาศร้อน ยกเว้นบริเวณเทือกเขาและที่ราบสูง จะมีอุณหภูมิลดลงตามระดับความสูง เพราะฉะนั้นประชากรจึงนิยมตั้งถิ่นฐานกันในเขตที่สูงหรือเขตภูเขา เพราะจะมีอากาศอบอุ่นสบาย
       1.4.2 เขตภูมิอากาศ
        ทวีปอเมริกาใต้มีภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติสามารถแบ่งได้ 8 เขตดังนี้
          1. ภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน
          2. ภูมิอากาศร้อนชื้นแบบทุ่งหญ้าเขตร้อน
          3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย
          4. เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย
          5. เขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น
          6. เขตภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก
          7. เขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน
          8. เขตภูมิอากาศแบบที่สูง

 

 

 

 

 

   1.5 ทรัพยากรธรรมชาติ
   ทรัพยากรธรรมชาติในทวีปอเมริกาใต้ จำแนกได้ดังนี้
       1. ดิน ลักษณะของดินจะขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศ ซึ่งในบริเวณที่ราบลุ่มมีดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้อยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ดินภูเขาไฟในประเทศโคลอมเบีย และเขตที่ราบสูงบราซิลในประเทศบราซิล
       2. ป่าไม้ ทวีปอเมริกาใต้มีป่าดิบชื้นมากที่สุดในโลก ส่วนทางภาคใต้เขตที่ราบเชิงเขาแอนดีส มีป่าไม้ผลัดใบผสมกับป่าสนอยู่บ้าง
       3. สัตว์ป่า สัตว์ที่นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น วิคูนา อัลปากา ยามา ส่วนสัตว์ประจำถิ่น เช่น งูอนาคอนดา ปลาปิรันยา วิคูนา นกมาคอร์ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

       4. พลังงาน แหล่งพลังงานที่สำคัญ ได้แก่ ปิโตรเลียม ถ่านหิน และพลังงานน้ำ
       5. แร่ ได้แก่ เงิน ทองคำ ทองแดง เหล็ก

 

 


2. ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของทวีปอเมริกาใต้
   2.1 ประชากร
   จำนวนประชากร เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และการกระจายของประชากรในทวีปอเมริกาใต้ มีดังนี้


       2.1.1 จำนวนประชากร
       ทวีปอเมริกาใต้มีประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของโลก


       2.1.2 เชื้อชาติ
       ทวีปอเมริกาใต้สามารถแบ่งเชื้อชาติที่สำคัญได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
          1. กลุ่มอินเดียน เป็นชนพื้นเมืองของทวีป และลูกเลือดผสมระหว่างอินเดียนกับพวกผิวขาว เรียกว่า เมสติโซ
          2. กลุ่มผิวขาว เป็นชาวยุโรปที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาใต้ เช่น ชาวสเปน โปรตุเกส อิตาเลียน และชาวญี่ปุ่นซึ่งอพยพเข้าสู่ทวีปอเมริกาใต้ในหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
          3. กลุ่มผิวดำ เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานของพวกผิวขาวในประเทศบราซิลและโคลอมเบียจึงได้มีการนำพวกผิวดำจากทวีปแอฟริกามาเป็นแรงงาน และเมื่อได้แต่งงานกับคนผิวขาวได้ให้กำเนิดลูกเลือดผสม เรียกว่า มูแลตโต


       2.1.3 ภาษา
       ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ ยกเว้น ประเทศบราซิลซึ่งมีประชากรมากที่สุดใช้ภาษาโปรตุเกส ประเทศกายอานา ใช้ภาษาอังกฤษ และดินแดนแฟรนช์เกียนาของฝรั่งเศสใช้ภาษาฝรั่งเศส และประเทศซูรินาเมใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการ


       2.1.4 ศาสนา
       ประชากรส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งผู้ที่นำมาเผยแพร่เป็นชาวสเปนและชาวโปรตุเกส ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์มีผู้สอนเป็นชาวอังกฤษและชาวอเมริกัน นอกจากนี้ยังมีศาสนาอื่น ๆ ที่มีคนนับถือน้อย ได้แก่ ศาสนายูดาห์ ศาสนาอิสลาม พระพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู


       2.1.5 การกระจายของประชากร
       ทวีปอเมริกาใต้เป็นทวีปที่มีประชากรเบาบาง เนื่องจากพื้นที่บางแห่งมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอุปสรรคต่อความเป็นอยู่ของประชากร เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ส่วนเขตที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ เขตชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เขตที่ราบสูงของเทือกเขาแอนดีส และเขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ของประเทศต่าง ๆ

 

 

 

 

 

 

   2.2 เศรษฐกิจ
   อาชีพที่สำคัญในทวีปอเมริกาใต้ มีดังนี้
       1. การเกษตร ประกอบด้วย
          1) การเพาะปลูก พืชที่สำคัญ ได้แก่ กาแฟ โกโก้ กล้วย อ้อย ข้าวสาลี ข้าวโพด และฝ้าย
          2) การเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ โคเนื้อ แกะ และสุกร

 

 

 

 

 

 

       2. การทำป่าไม้ ทวีปอเมริกาใต้มีการนำไม้มาใช้ทางเศรษฐกิจน้อย เนื่องจากการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก
       3. การทำประมง แหล่งประมงที่มีปลาชุกชุม คือ น่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้
       4. การทำเหมืองแร่ แร่ที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง เหล็ก ดีบุก สังกะสี ทองคำ ปิโตรเลียม และบ็อกไซต์ 

 

 

 

 

 

 

       5. อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่ปัจจุบันหลายประเทศมีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ ประเทศบราซิลและอาร์เจนตินามีอุตสาหกรรมหนัก
       6. การค้า สินค้าเข้า ได้แก่ วัตถุสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าออก ได้แก่ วัตถุดิบและผลผลิตจากการเกษตร
       การค้ากับต่างประเทศของทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่เสียดุลการค้า ยกเว้นประเทศบราซิลและเวเนซุเอลาที่ได้เปรียบดุลการค้า



   2.3 การคมนาคมขนส่ง
   ทวีปอเมริกาใต้มีการคมนาคมขนส่งที่กระจายไปไม่ทั่วถึงในทุกภูมิภาคของทวีป ลักษณะการคมนาคมขนส่งของทวีปอเมริกาใต้ที่สำคัญ มีดังนี้
       1. ทางบก เส้นทางคมนาคม แบ่งได้เป็น
          1) ทางรถยนต์ มีทางหลวงสายแพนอเมริกัน (Pan-American Highway) เป็นถนนสายหลัก
          2) ทางรถไฟ เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่มีระยะสั้น ๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางรถไฟ ได้แก่ ประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา
       2. ทางน้ำ เส้นทางคมนาคมทางน้ำแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่
          1) แม่น้ำ ลำคลอง เป็นเส้นทางที่ใช้ในการคมนาคมขนส่งภายในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ แม่น้ำปารานา ส่วนแม่น้ำแอมะซอน มีประโยชน์ต่อการขนส่งน้อย เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
          2) ทะเล มหาสมุทร ด้านชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและด้านชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในทวีปอเมริกาใต้ มีท่าเรือขนาดใหญ่อยู่หลายเมือง จึงส่งผลให้ทวีปอเมริกาใต้สามารถเดินเรือสมุทรเพื่อการขนส่งสินค้ากับทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปได้สะดวก
       3. ทางอากาศ การคมนาคมขนส่งทางอากาศมีความสำคัญต่อประชากรในทวีปนี้มาก ดังนั้นเมืองหลวงของทุกประเทศในทวีปอเมริกาใต้จึงเป็นเมืองศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางอากาศ

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th