ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1.ลักษณะทางกายภาพของทวีปอเมริกาเหนือ
1.1 ที่ตั้ง อาณาเขต และขนาด
ทวีปอเมริกาเหนือตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือระหว่างละติจูดที่ 7 องศา 15 ลิปดาเหนือกับ 83 องศา 38 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูดที่ 55 องศา 42 ลิปดาตะวันตกกับ 172 องศา 30 ลิปดาตะวันออก และมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ จดมหาสมุทรอาร์กติก
ทิศตะวันออก จดมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศใต้ ติดต่อกับทวีปอเมริกาใต้มีคลองปานามาเป็นแนวแบ่งเขตทวีป
ทิศตะวันตก จดมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนเหนือของทวีปมีช่องแคบเบริงคั่นระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับเอเชีย
ทวีปอเมริกาเหนือมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา มีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ
1.2 การแบ่งภูมิภาคของทวีปอเมริกาเหนือ
ทวีปอเมริกาเหนือ แบ่งตามที่ตั้งภูมิศาสตร์ได้ดังนี้
1. อเมริกาเหนือ มี 2 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
2. อเมริกากลาง มี 8 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก เบลีซ คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว และปานามา
3. หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน เป็นหมู่เกาะต่าง ๆ มีทั้งที่เป็นประเทศแล้วและยังเป็นดินแดนของประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศเอกราชทั้งหมดมี 12 ประเทศ ได้แก่ บาฮาบาส บาร์เบโดส คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน เกรเนดา เฮติ จาเมกา แอนติกาและบาร์ดูบา โดมินิก เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ส่วนที่เป็นดินแดนมี 4 ดินแดน ได้แก่ กวาเดอลูป มาร์ตินีก เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส และเปอร์โตริโก
เนื้อที่ จำนวนประชากร และเมืองหลวงของประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ค.ศ. 2011
ประเทศ |
เนื้อที่ (ตร. กม.) |
ประชากร (ล้านคน) |
เมืองหลวง |
อเมริกาเหนือ |
|||
1. แคนาดา |
9,976,185 |
34.5 |
ออตตาวา |
2. สหรัฐอเมริกา |
9,375,720 |
311.7 |
วอชิงตัน ดี.ซี. |
อเมริกากลาง |
|||
3. เบลีซ |
22,965 |
0.3 |
เบลโมแพน |
4. สาธารณรัฐคอสตาริกา |
50,899 |
4.7 |
ซานโฮเซ |
5. สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ |
21,393 |
6.2 |
ซันซัลวาดอร์ |
6. สาธารณรัฐกัวเตมาลา |
108,889 |
14.7 |
กัวเตมาลาซิตี |
7. สาธารณรัฐฮอนดูรัส |
112,087 |
7.8 |
เตกูซิกัลปา |
8. สหรัฐเม็กซิโก |
1,967,183 |
114.8 |
เม็กซิโกซิตี |
9. สาธารณรัฐนิการากัว |
128,410 |
5.9 |
มานากัว |
10. สาธารณรัฐปานามา |
87,177 |
3.6 |
ปานามา |
หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน |
|||
11. แอนติกาและบาร์บูตา |
443 |
0.1 |
เซนต์จอนส์ |
12. เครือรัฐบาฮามาส |
13,950 |
0.4 |
นัสซอ |
13. บาร์เบโดส |
430 |
0.3 |
บริดจ์ทาวน์ |
14. สาธารณรัฐคิวบา |
110,862 |
11.2 |
ฮาวานา |
15. เครือรัฐโดมินิกา |
749 |
0.1 |
โรโซ |
16. สาธารณรัฐโดมินิกัน |
48,322 |
10.0 |
ซันโตโดมิงโก |
17. เกรเนดา |
344 |
0.1 |
เซนต์จอร์เจส |
18. กวาเดอลูป (ฝรั่งเศส) |
1,507 |
0.4 |
บาสแตร์ |
19. สาธารณรัฐเฮติ |
27,749 |
10.1 |
ปอร์โตแปรงซ์ |
20. จาเมกา |
11,580 |
2.7 |
คิงส์ตัน |
21. มาร์ตินีก (ฝรั่งเศส) |
1,101 |
0.4 |
ฟอร์-เดอ-ฟรองซ์ |
22. เนเธอร์แลนแอนทิลสีส (เนเธอร์แลนด์) |
961 |
0.2 |
วิลเลมสตัด |
23. เปอร์โตริโก (สหรัฐอเมริกา) |
8,897 |
3.7 |
ซานฮวน |
24. เซนต์คิตส์และเนวิส |
269 |
0.1 |
บาสแดร์ |
25. เซนต์ลูเซีย |
616 |
0.2 |
แคสตรีส์ |
26. เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ |
389 |
0.1 |
คิงส์ทาวน์ |
ที่มา: เนื้อที่จาก พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2 เล่ม, 2549-2550
จำนวนประชากร 2011 World Population Data Sheet. (Population Reference Bureau, 2011)
1.3 ลักษณะภูมิประเทศ
ทวีปอเมริกาเหนือมีสภาพภูมิประเทศแตกต่างกันตามภูมิภาคต่าง ๆ อาจแบ่งได้เป็น 4 เขต ได้แก่
1. เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งตะวันตกด้านมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนกันหลายแนว เกิดจากการโก่งตัวของหินเปลือกโลกที่มีอายุน้อย จึงมักมีปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอยู่เป็นประจำ
เทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาร็อกกี ทิวเขาแคสเคด เทือกเขาเซียร์ราเนวาดา เทือกเขาเซียร์รามาเดร เทือกเขาโคสต์ และเทือกเขาอะแลสกา มียอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ คือ ยอดเขาเมานต์แมกคินลีย์ เทือกเขาสูงเหล่านี้มีที่ราบสูงระหว่างเทือกเขาคั่นอยู่หลายแห่ง เช่น ที่ราบสูงโคโลราโดมีภูมิประเทศเป็นโกรกธาร หุบเหวลึก และมีหน้าผาสูงชันมาก เป็นผลจากการไหลของแม่น้ำโคโลราโด เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศที่สวยงามและมีชื่อเสียง คือ แกรนด์แคนยอน (Grand Canyon)
2. เขตที่ราบภาคกลาง อาจแบ่งได้ 6 เขตย่อย ได้แก่
1) ที่ราบลุ่มแมกเคนซี (Mackenzie Lowlands)
2) ที่ราบแพรรีแคนาดา (Canadian Prairie)
3) ที่ราบลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์และที่ลุ่มเซนต์ลอว์เรนซ์ (Great Lakes and St. Lawrence Lowlands)
4) ที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี-มิสซูรี (Mississippi-Missouri Plain)
5) ที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรแอตแลนติก (Gulf Coast and Atlantic Plain)
6) ที่ราบบนที่สูง (high plains)
3. เขตหินเก่าแคนาดา (Canadian Shield) ได้แก่ พื้นที่บริเวณรอบ ๆ อ่าวฮัดสันลงมาถึงกลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ ประกอบด้วยหินเปลือกโลกที่มีอายุเก่าแก่และสึกกร่อนมาหลายร้อย
4. เขตภูเขาภาคตะวันออก เป็นเขตภูเขาหินเก่าและที่ราบสูง แต่ยังมีอายุน้อยกว่าเขตหินเก่าแคนาดา ตั้งแต่พื้นที่บริเวณเกาะนิวฟันด์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศแคนาดาลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา
1.4 แหล่งน้ำในทวีปอเมริกาเหนือ
แหล่งน้ำจืดในทวีปอเมริกา ได้แก่
1. แม่น้ำ มีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi) แม่น้ำมิสซูรี (Missouri) แม่น้ำรีโอแกรนด์ (Rio Grande) แม่น้ำยูคอน (Yukon) แม่น้ำซัสแคตเชวัน (Saskatchewan) แม่น้ำโคลัมเบีย (Columbia) แม่น้ำโคโลราโด (Colorado) แม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ (St. Lawrence) แม่น้ำเฟรเซอร์ (Fraser)
2. ทะเลสาบ มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากการสร้างเขื่อน ทะเลสาบขนาดใหญ่ ได้แก่ กลุ่มทะเลสาบเกรตเลกส์ ทะเลสาบวินนิเพก ทะเลสาบเกรตสเลฟ ทะเลสาบเกรตแบร์ และทะเลสาบเกรตซอลต์
1.5 ภูมิอากาศ
1.5.1 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศ
1. ที่ตั้ง เนื้อที่ส่วนใหญ่ของทวีปอยู่ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์และเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล จึงอยู่ในเขตภูมิอากาศอบอุ่น ส่วนทางตอนใต้ของทวีปเป็นคอคอดอยู่ในเขตละติจูดต่ำ จึงมีอากาศร้อนและได้รับอิทธิพลจากทะเลทั้งสองด้าน
2. ลักษณะภูมิประเทศ เนื่องจากมีแนวเทือกเขาสูงทางด้านตะวันตกและวางตัวในแนวเหนือ – ใต้ เป็นกำแพงขวางกั้นทิศทางลมจากมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นดินแดนด้านตะวันตกจึงมีภูมิอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทรายและทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย ส่วนทางด้านตะวันออกมีภูเขาไม่สูงมากนักและวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ขวางกั้นทิศทางลมประจำตะวันตก ทำให้ความชื้นจากมหาสมุทรแอตแลนติกเข้ามามีอิทธิพลต่อภูมิอากาศส่วนใหญ่ทางด้านตะวันออก ส่วนทางตอนใต้เป็นคอคอดและมีแนวเทือกเขาสูงเป็นแกน ได้รับอิทธิพลจากทะเลทั้งด้านมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกจึงมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น อุณหภูมิปานกลางและมีฝนตลอดปี
3. กระแสน้ำ ชายฝั่งด้านตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติกมีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมไหลผ่าน ทางชายฝั่งแลบราดอร์ของประเทศแคนาดามีกระแสน้ำเย็นจากแถบขั้วโลกเหนือไหลผ่าน และพบกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมแถบเกาะนิวฟันด์แลนด์ ส่วนชายฝั่งตะวันตกมีกระแสน้ำอุ่นอะแลสกาเหนือไหลผ่าน และในทางตอนใต้ด้านชายฝั่งตะวันตกมีกระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนียไหลเลียบชายฝั่ง
4. ทิศทางลมประจำ ลมประจำส่วนใหญ่เป็นลมประจำตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าสู่ทวีป จึงนำความชื้นเข้าสู่ชายฝั่งตะวันออกของทวีปในด้านของชายฝั่งตะวันตก จะมีอากาศร้อนกว่าบริเวณทางตอนเหนือของทวีป ลมประจำเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดจากมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ชายฝั่งตะวันตกของประเทศแคนาดาและอะแลสกา ทำให้มีฝนตกชุก
1.5.2 เขตภูมิอากาศ
ทวีปอเมริกาเหนือมีภูมิอากาศและพืชพรรณธรรมชาติ จำแนกได้ 12 เขต ดังนี้
1. ภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน
2. ภูมิอากาศร้อนชื้นแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน
3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย
4. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย
5. มิอากาศแบบอบอุ่นชื้น
6. ภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก
7. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน
8. ภูมิอากาศแบบชื้นภาคพื้นทวีป
9. ภูมิอากาศแบบกึ่งขั้วโลกหรือไทกา
10. ภูมิอากาศแบบทุนดรา
11. ภูมิอากาศแบบทุ่งน้ำแข็ง
12. ภูมิอากาศแบบที่สูง
1.6 ทรัพยากรธรรมชาติ
1. ดิน ดินที่เหมาะแก่การเกษตร เช่น ดินในเขตทุ่งหญ้าภาคกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาและทางตอนกลางของภาคใต้ของประเทศแคนาดา ดินในลุ่มน้ำต่าง ๆ ส่วนดินที่ไม่เหมาะกับการเกษตร ได้แก่ ดินในเขตภูมิอากาศหนาวเย็นทางภาคเหนือของประเทศแคนาดาและรัฐอะแลสกา
2. ป่าไม้ มีเขตป่าไม้สำคัญเป็นป่าไม้สน ซึ่งเป็นป่าไม้ของประเทศแคนาดา และประเทศสหรัฐอเมริกา
3. สัตว์ป่า ปัจจุบันสัตว์ในธรรมชาติของทวีปอเมริกาเหนือลดลงทั้งชนิดและจำนวน สัตว์ในธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น หมี แกะเขาใหญ่ แพะภูเขาไบซัน สิงโตภูเขา เสือจากัวร์ สุนัขไคโยตี
4. พลังงาน มีแหล่งพลังงานที่สำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และพลังงานน้ำ
5. แร่ มีทรัพยากรแร่หลายชนิด เช่น ยูเรเนียม เพชร ทังสเตน โคบอลต์ นิกเกิล เหล็ก และทองแดง
2.ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของทวีปอเมริกาเหนือ
2.1 ประชากร
จำนวนประชากร เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และการกระจายของประชากรในทวีปอเมริกาเหนือ มีดังนี้
2.1.1 จำนวนประชากร
ทวีปอเมริกาเหนือมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา
2.1.2 เชื้อชาติ
ประชากรในทวีปอเมริกาประกอบด้วยกลุ่มหลายเชื้อชาติ ดังนี้
1. พวกผิวเหลือง ได้แก่ ชาวเอสกิโม (Eskimo) หรืออเมรินเดียน (Amerindian)
2. พวกผิวขาว เป็นประชากรที่อพยพมาจากทวีปยุโรป ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
3. พวกผิวดำ เป็นประชากรที่ถูกนำมาจากทวีปแอฟริกา เพื่อใช้แรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกา พวกผิวดำที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า แอฟริกันอเมริกัน
4. พวกเลือดผสม ได้แก่ พวกมูแลตโต (Mulatto) และพวกเมสติโซ (Mestizo)
2.1.3 ภาษา
ประชากรส่วนใหญ่ในทวีปนี้จะใช้ภาษาในตระกูลภาษาอินโด – ยูโรเปียน มีหลายกลุ่มดังนี้
1. กลุ่มภาษาอังกฤษ เป็นภาษาประจำชาติและภาษาราชการของประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา
2. กลุ่มภาษาสเปน เป็นภาษาราชการของประเทศเม็กซิโกและประเทศต่าง ๆ ในอเมริกากลาง
3. กลุ่มภาษาฝรั่งเศส เป็นภาษาที่ใช้กันมากในประเทศเฮติ และในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา
นอกจากนี้ ยังมีภาษาพื้นเมืองเดิมซึ่งเป็นภาษาของชนกลุ่มน้อย ได้แก่ ภาษาเอสกิโม ภาษาของชนเผ่าต่าง ๆ และภาษาของชาวเอเชีย
2.1.4 ศาสนา
ประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนา ซึ่งมีนิกายที่สำคัญ 2 นิกาย ได้แก่นิกายโปรเตสแตนต์ และนิกายโรมันคาทอลิก นอกจากนี้ยังมีผู้นับถือศาสนาอิสลาม และพระพุทธศาสนา
2.1.5 การกระจายของประชากร
ลักษณะการกระจายตัวของประชากรในทวีปอเมริกาเหนือมีลักษณะดังนี้
1. บริเวณที่มีประชากรหนาแน่น อยู่ทางภาคตะวันออกของทวีป
2. บริเวณที่มีประชากรเบาบาง เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต เช่น เขตที่สูง เขตภูมิอากาศหนาวเย็น และเขตภูมิอากาศแห้งแล้ง
2.2 เศรษฐกิจ
อาชีพที่สำคัญในทวีปอเมริกา มีดังนี้
1. การเกษตร ประกอบด้วย
1) การเพาะปลูกพืชเพาะปลูกที่สำคัญในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี ฝ้าย ถั่วเหลือง อ้อย ผักและผลไม้ต่าง ๆ ข้าวเจ้า กล้วยและกาแฟ
2) การเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร เป็ด ไก่ และแกะ
2. การทำป่าไม้ ทวีปอเมริกาเหนือผลิตไม้ได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปยุโรป ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้ออ่อน ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สนและไม้ผลัดใบอื่น ๆ
3. การทำประมง มีแหล่งประมงที่สำคัญ เรียกว่า แกรนด์แบงส์ เป็นแหล่งจับปลาที่สำคัญเขตหนึ่งของโลก
4. การทำเหมืองแร่ ทรัพยากรแร่ในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ ถ่านหิน ปิโตรเลียม เหล็ก ทองคำ เงิน เพชร ทองแดง ตะกั่ว สังกะสีและบ็อกไซต์
5. อุตสาหกรรม ประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมมากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก
6. การค้า สินค้าเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ ส่วนสินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยาสูบ ไม้ เหล็ก ผลิตภัณฑ์อาหารและเคมีภัณฑ์
2.3 การคมนาคมขนส่ง
ลักษณะการคมนาคมขนส่งของทวีปอเมริกาเหนือมีดังนี้
1. ทางบก เส้นทางคมนาคมทางบกของทวีปอเมริกาเหนือแบ่งได้ 2 ทางคือ
1) ทางรถยนต์ กลุ่มประเทศแองโกลอเมริกามีทางหลวงที่มีผิวจราจรดีและตัดเชื่อมกันทุกภูมิภาค ส่วนในอเมริกากลางมีทางหลวงสายนานาชาติ คือ แพนอเมริกัน (Pan-American Highway หรือ Inter–American Highway)
2) ทางรถไฟ มีทางรถไฟยาวกว่าทางรถไฟของยุโรปทั้งทวีปรวมกัน ซึ่งทางรถไฟสายยาวข้ามทวีปที่เชื่อมชายฝั่งด้านมหาสมุทรแอตแลนติกและชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกมีอยู่หลายสาย แต่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา
2. ทางน้ำ ทวีปอเมริกาเหนือมีเส้นทางเดินเรือทั้งทางทะเลและทางน้ำภายในทวีป ดังนี้
1) ทะเลและมหาสมุทร การคมนาคมขนส่งทางน้ำทางชายฝั่งด้านมหาสมุทรแอตแลนติกมีการเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปมากที่สุด และชายฝั่งนี้ยังติดต่อกับทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกาใต้ได้สะดวกอีกด้วย ดังนั้นชายฝั่งทะเลของทวีปอเมริกาเหนือจึงมีเมืองท่าเรือขนาดใหญ่หลายแห่ง
2) แม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสาบ มีการขุดคลองเชื่อมต่อกันระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก และมีการขุดคลองที่คอคอดปานามา เรียกว่า คลองปานามา เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินเรือ
3. ทางอากาศ มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศมาก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา
4. ทางท่อ มีการนำระบบท่อมาใช้ในการขนส่งก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหินผง และน้ำจากแหล่งผลิตไปสู่แหล่งบริโภค ซึ่งระบบการขนส่งทางท่อประมาณร้อยละ 50 ของโลกอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th