บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 359.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 



 

 

ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง
   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๓ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเจ้าจอมมารดาจุ้ย
   ใน พ.ศ. ๒๓๕๓ ได้อุปสมบทตลอดพระชนม์ชีพ ณ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์แรกที่ได้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ นอกจากนี้ยังทรงเป็นพระอาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ รวมพระชนมายุ ๖๓ พรรษา

 

 

 

 

ลักษณะคำประพันธ์
   ลิลิต



เรื่องย่อ
   หลังจากที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาแต่งทัพไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงทราบก็ทรงกรีธาทัพไปจนถึงหนองสาหร่าย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรัสท้าพระมหาอุปราชาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีและทรงมีชัย ส่งผลให้กองทัพพม่าแตกพ่ายต้องล่าถอยกลับกรุงหงสาวดีไป
   เมื่อยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดเกล้าฯ ปูนบำเหน็จแก่ช้างพระที่นั่งและทหารที่ตามเสด็จ และรับสั่งลงโทษแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทัน โดยมีพระบรมราชโองการให้ไปตีเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริดเป็นการแก้ตัว

 

 

 

 

สาระน่ารู้
เส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา
   สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเดินทัพจากกรุงศรีอยุธยาผ่านไปทางปากโมก บ้านสระแก้ว บ้านสระหล้า จนถึงตำบลหนองสาหร่าย ส่วนพระมหาอุปราชาทรงนำทัพเดินทางจากเมืองหงสาวดี มุ่งหน้าเข้าสู่เขตไทยที่ด่านเจดีย์สามองค์ จากนั้นเสด็จไปตามลำน้ำกระเพิน และประทับแรมที่เมืองกาญจนบุรี



สมเด็จพระนเรศวรทราบข่าวเตรียมทัพสู้ศึกพม่า
   เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงทราบข่าวศึกพม่า ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทัพของหัวเมืองต่าง ๆ ยกไปขัดตาทัพรับหน้าข้าศึกที่ตำบลหนองสาหร่าย โดยใช้อุบายเข้าโจมตีแล้วล่าถอยเพื่อให้ข้าศึกติดตาม จากนั้นพระองค์ทั้งสองจะทรงยกทัพไปตีขนาบข้าศึกไว้



พิธีกรรมเกี่ยวกับการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้แก่แม่ทัพนายกองและทหารหาญ
   ก่อนออกทำศึก สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงให้ผู้ชำนาญไสยศาสตร์ทำพิธีละว้าเซ่นไก่ เพื่อเป็นการบวงสรวงเทวดา และพิธีตัดไม้ข่มนาม โดยนำไม้ที่มีชื่อพ้องกับข้าศึกพร้อมรูปปั้นและชื่อข้าศึกมาเข้าพิธี จากนั้นให้ผู้แทนพระองค์นำพระแสงดาบไปฟันไม้ รูปปั้น และชื่อข้าศึก และผู้แทนจะกลับมาทูลพระองค์ว่าตนไปปราบศัตรูข้าศึกเรียบร้อยแล้ว



ตัวละคร
   ๑. พระมหาอุปราชา เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ แต่ก็มีความกตัญญู ทรงใช้ขัตติยมานะในการยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาและกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจนขาดคอช้าง
   ๒. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีพระปรีชาสามารถในการรบ และยังทรงมีน้ำพระทัยต่อทหารนายกองเมื่อทรงมีชัยแก่ข้าศึกแล้ว
   ๓. สมเด็จพระวันรัต เป็นพระสงฆ์ที่มีวาทศิลป์สามารถพูดเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชคลายกริ้วเหล่าแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จทันได้



ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ๑. ผู้นำควรมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และแสดงออกอย่างเหมาะสม
   ๒. บิดาเป็นผู้มีพระคุณ เราจึงควรมีความกตัญญูและตอบแทนเมื่อมีโอกาส
   ๓. คนเราควรมีความรักในศักดิ์ศรี
   ๔. คนเราควรรู้จักการให้อภัย

 

 


คำสำคัญ ลิลิตตะเลงพ่าย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ลิลิต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหาอุปราชา 

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th