ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
การพัฒนาการอ่าน
๑. การอ่านร้อยแก้ว คือ การอ่านข้อความธรรมดา ไม่มีลักษณะบังคับ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด ได้แก่ การอ่านออกเสียง และการอ่านในใจ ในการอ่านที่ดี ผู้อ่านต้องเข้าใจในเนื้อหาของบทอ่าน มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถแสดงกิริยาท่าทางและใช้น้ำเสียงได้อย่างถูกวิธี
๒. การอ่านร้อยกรอง เป็นการส่งเสริมคุณค่าภาษาไทย และเป็นการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติเอาไว้ ในการอ่านที่ดี ผู้อ่านควรเริ่มฝึกกวาดสายตาและอ่านออกเสียงเป็นร้อยแก้ว โดยแบ่งวรรคตอนให้ถูกต้องตามอักขรวิธีและความหมายของคำ จากนั้นจึงค่อยเริ่มอ่านเป็นทำนองเสนาะ ควบคุมเสียงให้สูง–ต่ำสอดคล้องกับจังหวะ และใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับเนื้อหา
การพัฒนาการอ่านโดยใช้แหล่งความรู้
ห้องสมุด คือ แหล่งความรู้มีทั้งในหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุการอ่านประเภทอื่น ๆ สำหรับศึกษาหาความรู้และพัฒนาการอ่านผ่านบริการต่าง ๆ เช่น บริการให้อ่านและหยิบหนังสือบริการข้อมูล บริการจัดทำสำเนา ฯลฯ
การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
คือ การที่ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเรื่อง แยกข้อเท็จจริงกับข้อคิดเห็นออกจากกัน แล้วพิจารณาหาเหตุผลมาสนับสนุนความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน เพื่อวิเคราะห์ ตีความ และประเมินค่าจากสิ่งที่อ่าน
ในการฝึกทักษะการใช้วิจารณญาณในการอ่าน เราควรเริ่มอ่านสิ่งที่เราสนใจ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มประเภท ความยาก และความยาวของเรื่องที่อ่าน อาจมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน เพื่อช่วยให้ความคิดกว้างขึ้น และเมื่อเกิดปัญหาในการอ่าน ควรพยายามสอบถามจากผู้รู้และฝึกใช้วิจารณญาณในการอ่านให้ติดเป็นนิสัย
การอ่านแสดงความคิดเห็นและประเมินค่า
๑. การอ่านแสดงความคิดเห็นและประเมินค่าวรรณกรรม ร้อยแก้ว เช่น นวนิยายและเรื่องสั้น ผู้อ่านควรประเมินค่าในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านความบันเทิง ด้านการดำเนินชีวิต ด้านภาษา และด้านจินตนาการ
๒. การอ่านแสดงความคิดเห็นและประเมินค่าวรรณกรรม ร้อยกรอง ผู้อ่านควรประเมินค่าในด้านต่าง ๆ เช่น รูปแบบการประพันธ์ ความไพเราะของร้อยกรอง และเนื้อหาสาระ
มารยาทในการอ่าน
หากอยู่ในที่สาธารณะ ผู้อ่านไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ไม่อ่านหนังสือของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ฉีกกระดาษหน้าที่ต้องการนำไปเป็นข้อมูลออกจากหนังสือ และหากอยู่ในห้องสมุด ก็ต้องเคารพกฎของสถานที่ เช่น ไม่นำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทาน
การเลือกอ่านหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ก่อนจะเลือกอ่านหนังสือ เราควรตั้งคำถามว่า จะอ่านหนังสือประเภทใดและจะอ่านเพื่ออะไร ซึ่งหนังสือที่ดีจะต้องใช้ภาษาวรรณศิลป์ที่ให้ความรู้ความคิด ให้ความจริง ให้ความสุข และจูงใจให้ใฝ่ดี
๑. การเลือกอ่านหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องพิจารณาประเภทและเนื้อหาของหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีความน่าสนใจหรือไม่ น่าเชื่อถือและมีประโยชน์เพียงใด
๒. การเลือกอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม มีวิจารณญาณ ไตร่ตรอง พิจารณาข้อมูลที่ได้ก่อนจะเชื่อและนำไปใช้ ทั้งนี้ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในอินเทอร์เน็ตและไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา
คำสำคัญ การพัฒนาการอ่านร้อยแก้ว การพัฒนาการอ่านร้อยกรอง การอ่านกลอนสุภาพ การอ่านโคลงสี่สุภาพ การอ่านฉันท์ การอ่านกาพย์ การอ่านร่าย การใช้ห้องสมุด การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ การอ่านแสดงความคิดเห็นและประเมินค่า มารยาทในการอ่าน การเลือกอ่านหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th