ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
หลักเกณฑ์การพูด
๑. ความหมายและความสำคัญของการพูด
การพูดช่วยให้มนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดแสวงหาคำตอบ ทำความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ โน้มน้าวใจให้เกิดการคล้อยตามจรรโลงใจให้เกิดความสุข ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ การพูดจึงมีความสำคัญทั้งในระดับบุคคลและในระดับสังคม
๒. ประเภทของการพูด
๑) แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการพูด ได้แก่ การพูดเพื่อให้ความรู้ การพูดเพื่อจูงใจหรือโน้มน้าวใจ และการพูดเพื่อจรรโลงใจ
๒) แบ่งตามลักษณะของวิธีพูด ได้แก่ การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ การพูดแบบท่องจำ การพูดแบบเตรียมล่วงหน้า และการพูดโดยไม่เตรียมตัวล่วงหน้า
๓. ขั้นตอนในการเตรียมการพูด
๑) การเลือกหัวข้อเรื่อง ต้องเลือกหัวข้อเรื่องที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟังและโอกาสที่จะพูด
๒) การกำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อจะได้เตรียมวิธีการพูดและเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
๓) การกำหนดขอบเขต กำหนดความยากง่ายของเรื่องให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง
๔) การรวบรวมข้อมูล รวบรวมข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยจะต้องทำอย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบได้
๕) การวางโครงเรื่อง ประกอบด้วยส่วนนำเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนสรุปของเรื่อง
๖) การเรียบเรียงเรื่อง เติมรายละเอียดให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด
๗) การนำเสนอเรื่อง ผู้พูดต้องมีความมั่นใจในตนเอง รู้จักใช้เสียงหนักเบาแสดงอารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับการใช้ภาษาและการลำดับเรื่องที่เหมาะสม ไม่พูดวกวนหรือหลุดประเด็น นอกจากนี้ยังสามารถใช้ลีลาท่าทางที่เป็นธรรมชาติหรือสื่อประกอบการพูดอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ได้
การใช้ภาษาในการพูด
๑. วัจนภาษา คือ ภาษาถ้อยคำหรือคำพูด
๒. อวัจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช่คำพูด แต่สามารถสื่อความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจ เช่น เสียงหนักเบา สายตา สีหน้า ท่าทางการยืน การเดิน การใช้มือ และการใช้ศีรษะ
การพูดในโอกาสต่าง ๆ
๑. การพูดต่อหน้าประชุมชน คือ การพูดคนเดียวโดยมีผู้ฟังจำนวนมาก เพื่ออธิบายความหรือเชิญชวนและชักจูง ในการพูด ผู้พูดต้องกล่าวทักทายด้วยถ้อยคำสุภาพแล้วแนะนำตัวเองสั้น ๆ เมื่อเริ่มพูดควรใช้ภาษาที่เร้าความสนใจของผู้ฟัง โดยพูดให้ตรงประเด็น เข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงการใช้คำภาษาต่างประเทศและอาจยกตัวอย่างง่าย ๆ มาประกอบด้วย
๒. การพูดแสดงทรรศนะ คือ การพูดชี้แจงข้อเท็จจริง และประเมินค่าเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งอย่างมีเหตุผล มีข้อสรุป ข้อเสนอแนะ ในการพูด ผู้พูดต้องแสดงทรรศนะด้วยภาษาสุภาพและมีมารยาท พูดอย่างสร้างสรรค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสีย พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขทั้งนี้ผู้พูดจะต้องเข้าใจเรื่องที่จะแสดงทรรศนะเป็นอย่างดีด้วย
๓. การพูดจรรโลงใจ คือ การพูดเพื่อชี้ให้เห็นคุณงามความดี ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข ความเพลิดเพลิน ในการพูด ผู้พูดต้องใช้ภาษาอย่างประณีต เข้าใจง่าย และอาจแสดงลีล่าท่าทางประกอบการพูดได้ตามความเหมาะสม
๔. การพูดทางวิชาการ คือ การพูดเสนอสารที่เป็นองค์ความรู้อย่างมีหลักการ ในการพูด ผู้พูดต้องมีความพร้อมทั้งด้านข้อมูล ความรู้ และอุปกรณ์ประกอบการพูดต่าง ๆ เมื่อเริ่มพูดต้องพูดอย่างมีเหตุผล ฟังแล้วน่าเชื่อถือ และใช้ภาษาให้เหมาะสมกับวงวิชาการและจุดมุ่งหมายในการพูด ทั้งนี้ควรใช้ภาษากึ่งแบบแผน ตอนท้ายควรสรุปด้วยภาษาที่กระชับ และเปิดโอกาสให้ผู้ฟังถามในประเด็นที่สงสัย
๕. การเป็นพิธีกร คือ การดำเนินงานให้บรรลุตามจุดประสงค์ที่วางไว้ โดยผู้ที่เป็นพิธีกรควรมาถึงก่อนเวลา ต้องมีข้อมูลและรู้ลำดับขั้นตอนต่าง ๆ ของงาน เมื่อเริ่มงานให้กล่าวทักทายผู้ฟัง และกล่าวจุดประสงค์ของงาน จากนั้นแนะนำสิ่งต่าง ๆ เช่น กิจกรรม ผู้มาร่วมงาน ด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน เข้าใจง่าย น่าฟัง รวมทั้งต้องวางบุคลิกภาพให้เหมาะสม และสบตาผู้ฟังอย่างทั่วถึง หากเกิดปัญหาเฉพาะหน้า ต้องรีบแก้ไขเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ เมื่อจบงานให้กล่าวขอบคุณผู้มาร่วมงาน และคาดหวังว่าจะได้พบกันอีก
มารยาทในการพูด
ผู้พูดต้องใช้คำพูดที่สุภาพเรียบร้อย มีความจริงใจ และต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเอง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
คำสำคัญ ประเภทของการพูด การเตรียมการพูด วัจนภาษา – อวัจนภาษา การพูดในโอกาสต่าง ๆ การพูดแสดงทรรศนะ การพูดจรรโลงใจ การพูดทางวิชาการ พิธีกร มารยาทในการพูด
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th