บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง การเลือกใช้คำและกลุ่มคำในการสื่อสาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 71.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






ความหมายของคำ
   คำ คือ เสียงที่มีความหมาย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
   ๑. คำที่มีความหมายเฉพาะ
       ๑) ความหมายตามตัว คือ ความหมายเดิมของคำ และความหมายเชิงอุปมา คือ ความหมายที่เกิดจากการเปรียบเทียบในบริบทอื่น
       ๒) ความหมายนัยตรง คือ ความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรม ส่วนความหมายนัยประหวัด คือ ความหมายเชิงอุปมาที่ชวนให้คิดในทางต่าง ๆ
   ๒. คำที่มี่ความหมายเปรียบเทียบกับคำอื่น
       ๑) คำที่มีความหมายเหมือนกันหรือย่างเดียวกัน
       ๒) คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือร่วมกัน
       ๓) คำที่มีความหมายตรงกันข้าม
       ๔) คำที่มีความหมายครอบคลุมคำอื่น



การใช้คำ
   ๑. ใช้คำให้ตรงความหมาย ต้องใช้คำให้มีความหมายรัดกุม มีความหมายเฉพาะ ไม่กำกวมหรือตีความได้หลายอย่าง ตลอดจนต้องใช้คำที่มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับคำอื่นให้เหมาะสม
   ๒. ใช้คำให้ตรงความนิยม เพราะคำบางคำ ถึงแม้มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ก็นิยมใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน
   ๓. ใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล
   ๔. ใช้คำไม่ซ้ำซาก เพราะจะทำให้เกิดความซ้ำซาก น่าเบื่อ



การเพิ่มคำ
   ๑. คำซ้ำ เป็นคำที่ออกเสียงต่อเนื่องกันซ้ำอีกครั้ง โดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) กำกับ
   ๒. คำซ้อนหรือคำคู่ เป็นการนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน ต่างกัน หรือตรงข้ามกัน มาประกอบกัน
   ๓. คำประสม เป็นการนำคำที่มีความหมายต่างกันมาประสมกัน เกิดความหมายใหม่ที่มีเค้าเดิม
   ๔. คำสมาส เป็นการนำคำที่มีความหมายต่างกันมาประสมกัน แตกต่างจากคำประสมตรงที่ คำที่จะนำมาสมาสกันต้องเป็นคำภาษาบาลีสันสกฤต และมักออกเสียงสระเชื่อมระหว่างศัพท์ทั้งสองคำ
   ๕. คำจากภาษาอื่น เป็นการรับคำจากภาษาอื่นมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ



การใช้ภาษาพูด ภาษาเขียนในการสื่อสาร
   ๑. ภาษาพูด ไม่เคร่งครัดเรื่องถ้อยคำสำนวน ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นกันเอง
   ๒. ภาษาเขียน มีความเคร่งครัดในการใช้ภาษา ต้องใช้ให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์



การใช้สำนวน
   สำนวน คือ ถ้อยคำที่เรียงไว้ อาจมีความหมายไม่ตรงตามตัว เป็นความหมายเชิงอุปมาหรือความหมายนัยประหวัด แต่เป็นที่เข้าใจทั่วไปต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะและสถานการณ์ และช่วยให้ภาษาในการสื่อสารมีความสละสลวย

 


คำสำคัญ คำที่มีความหมายเฉพาะ คำที่มีความหมายเปรียบเทียบกับคำอื่น คำไวพจน์ การใช้คำให้ตรงความหมาย การใช้คำให้ตรงความนิยม การใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล การใช้คำไม่ซ้ำซาก คำซ้ำ คำซ้อนหรือคำคู่ คำประสม คำสมาส คำจากภาษาอื่น ภาษาพูด-ภาษาเขียน สำนวน 

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th