บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 30.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





แนวทางในการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
   ความหมายของวรรณคดี
   วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นอย่างมีศิลปะ อาจเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ที่มีเนื้อหาดี มีสาระ พร้อมทั้งแสดงความรู้ ความคิด และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละสมัย
   ลักษณะของวรรณคดี ตามแบบวรรณคดีสโมสร คือ ต้องเป็นหนังสือดีและแต่งดี ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ กวีนิพนธ์ ละครไทย นิทาน ละครพูด และอธิบาย


   ความหมายของวรรณกรรม
   วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทั่วไปทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งมีเนื้อหาและจุดมุ่งหมายสื่อความให้ผู้อ่านเข้าใจได้ แต่ไม่เน้นศิลปะในการแต่ง

 

   คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม
   ๑. คุณค่าทางอารมณ์ มีความไพเราะ ความสะเทือนใจ และความประทับใจ
   ๒. คุณค่าทางศีลธรรม ให้แง่คิดและคติเตือนใจ
   ๓. คุณค่าทางสังคม แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี
   ๔. คุณค่าทางภาษา มีความหมายลึกซึ้ง ทำให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ

 


ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๙๒–๑๙๘๑)
   วรรณคดีที่สำคัญสมัยสุโขทัย


   ๑. ศิลาจารึกหลักที่ ๑
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปัจจุบันศิลาจารึกหลักที่ ๑ อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร
   เรื่องย่อ ด้านที่ ๑ และด้านที่ ๒ เกี่ยวกับพระราชประวัติของพระองค์ ด้านที่ ๓ เกี่ยวกับการสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตร และด้านที่ ๔ เกี่ยวกับการก่อตั้งพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ การประดิษฐ์อักษรไทย และอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย
   คุณค่าของวรรณคดี เป็นต้นกำเนิดของภาษาไทยในปัจจุบัน ทั้งในด้านตัวอักษร วิธีการเขียน การใช้คำ และหลักภาษา


   ๒. สุภาษิตพระร่วง
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง อาจแต่งขึ้นสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหรือหลังสมัยสุโขทัย
   เรื่องย่อ มีสุภาษิตทั้งหมด ๑๕๘ บท เริ่มต้นกล่าวถึงพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัยทรงบัญญัติสุภาษิตสำหรับสอนประชาชน เพื่อประโยชน์ในภายหน้า
   คุณค่าของวรรณคดี แสดงถึงชีวิตและค่านิยมของสังคมไทย มีเนื้อหาที่เป็นคติโลกและคติธรรม ใช้ถ้อยคำคล้องจอง สำนวนกะทัดรัด

 

   ๓. ไตรภูมิพระร่วง
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไทย เดิมเรียกว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา เรื่องย่อเป็นการอธิบายภูมิทั้ง ๓ คือ กามภูมิ แบ่งออกเป็น ๑๑ ภูมิ รูปภูมิ คือ พรหมชั้นต่าง ๆ ๑๖ ชั้น และอรูปภูมิ ๔ ชั้น ส่วนตอนต่อไปกล่าวถึงการกำเนิดและความเป็นอยู่ในภูมิต่าง ๆ
   คุณค่าของวรรณคดี ไตรภูมิพระร่วงเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์ต่าง ๆ มากถึง ๓๐ คัมภีร์ จึงมีคุณค่าทั้งด้านภาษาศาสตร์ ศาสนา สังคม และมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยมาถึงปัจจุบัน

 

   ๔. ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง นางนพมาศ ภายหลังได้เป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้า มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เรื่องย่อ กล่าวถึงประเทศ ภาษา และชนชาติต่าง ๆ ต่อจากนั้นยอพระเกียรติพระร่วงเจ้าและบรรยายสภาพความเป็นอยู่ของสุโขทัย ประวัตินางนพมาศ คุณธรรมของนางสนมและพระราชพิธีต่าง ๆ
   คุณค่าของวรรณคดี ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ทางขนบธรรมเนียมประเพณี ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน

 


ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. ๑๘๙๓—๒๐๗๒)
   วรรณคดีที่สำคัญสมัยอยุธยาตอนต้น


   ๑. ลิลิตโองการแช่งน้ำ
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง อาจแต่งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
   เรื่องย่อ เริ่มด้วยการสรรเสริญพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม ต่อจากนั้นกล่าวถึงไฟไหม้โลก และการสร้างโลกใหม่ กำเนิดมนุษย์ ราชา และกล่าวอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ลงโทษผู้คิดคดต่อพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมอวยพรผู้ที่จงรักภักดี ตอนจบเป็นร่ายยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน
   คุณค่าของวรรณคดี มีทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และด้านความเชื่อเรื่องกำเนิดโลกและสรรพสิ่งตามคติพราหมณ์

 

   ๒. มหาชาติคำหลวง
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถรับสั่งให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่ง
   เรื่องย่อ เป็นเรื่องราวการบำเพ็ญทานบารมีของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ
   คุณค่าของวรรณคดี มหาชาติคำหลวงเป็นวรรณคดีที่ทรงคุณค่าทางด้านภาษาศาสตร์ และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ และค่านิยมของคนไทย

 

   ๓. ลิลิตยวนพ่าย
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง ไม่ปรากฏผู้แต่ง
   เรื่องย่อ เนื้อเรื่องเป็นการบรรยายภาพการทำสงครามระหว่างไทยกับล้านนา จอมทัพของฝ่ายไทยคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนฝ่ายล้านนา คือ พระเจ้าติโลกราช สุดท้ายไทยเป็นฝ่ายชนะ
   คุณค่าของวรรณคดี แสดงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การศึก ค่านิยม และการใช้ภาษาของกวีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น อีกทั้งเป็นแบบอย่างของวรรณคดีประเภทสดุดี

 

   ๔. ลิลิตพระลอ
   ผู้แต่งและประวัติผู้แต่ง ไม่ทราบแน่ชัด
   เรื่องย่อ เมืองสรวงและเมืองสรองเป็นศัตรูกัน พระลอกษัตริย์แห่งเมืองสรวงทรงพระสิริโฉมมาก จนพระเพื่อนพระแพงธิดาของท้าวพิชัยพิษณุกรกษัตริย์แห่งเมืองสรองต้องพระทัย นางรื่นนางโรยพระพี่เลี้ยงจึงขอให้ปู่เจ้าสมิงพรายทำเสน่ห์ให้พระลอเสด็จมาเมืองสรอง พระลอที่ต้องเสน่ห์ได้ตรัสลาพระนางบุญเหลือพระราชมารดาและพระนางลักษณวดีพระมเหสีแล้วเสด็จไปเมืองสรองพร้อมด้วยนายแก้วนายขวัญ พระพี่เลี้ยง ระหว่างทาง พระลอทรงเสี่ยงน้ำที่แม่น้ำกาหลงซึ่งปรากฏผลเป็นลางร้ายแต่ก็ทรงฝืนไปต่อ พระลอและพระพี่เลี้ยงตามไก่ฟ้าผีของปู่เจ้าสมิงพรายไปถึงสวนหลวง นางรื่นนางโรยจึงพาทั้งหมดไปอยู่ที่ตำหนักของพระเพื่อนพระแพง ต่อมาท้าวพิชัยพิษณุกรทรงทราบเรื่องก็ทรงพระเมตตา รับสั่งจะจัดการอภิเษกพระลอกับพระเพื่อนพระแพง แต่พระเจ้าย่าเลี้ยงของพระเพื่อนพระแพงทรงพยาบาทพระลอ จึงอ้างรับสั่งท้าวพิชัยพิษณุกรให้ทหารไปรุมจับพระลอ พระเพื่อนพระแพง และพระพี่เลี้ยง ต่างช่วยกันต่อสู้จนสิ้นชีวิต ท้าวพิชัยพิษณุกรทรงพิโรธพระเจ้าย่าและทหารจึงรับสั่งให้ประหารชีวิตทุกคน จากนั้นพระนางบุญเหลือได้ส่งทูตมาร่วมงานพระศพกษัตริย์ทั้งสาม สุดท้ายทั้งสองเมืองก็กลับเป็นไมตรีต่อกัน
   คุณค่าของวรรณคดี ลิลิตพระลอได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดแห่งวรรณคดีประเภทลิลิต เพราะให้แง่คิดด้านความรัก ความกล้าหาญ ความสะเทือนใจ และใช้ภาษาได้คมคาย เป็นแบบอย่างในการแต่งโคลงและลิลิต

 


คำสำคัญ วรรณคดี วรรณกรรม ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ลิลิตพระลอ ลิลิตยวนพ่าย มหาชาติคำหลวง ลิลิตโองการแช่งน้ำ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ไตรภูมิพระร่วง สุภาษิตพระร่วง

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th