บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง การส่งสารด้วยการเขียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 29.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





๑. กระบวนการเขียนและกระบวนการคิด
   กระบวนการเขียน คือ ขั้นตอนในการเขียนเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ประกอบด้วย
   ๑) การคิด
   ๒) การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเขียน
   ๓) การเลือกเรื่องที่จะเขียน
   ๔) การค้นคว้าและรวบรวมข้อมูล
   ๕) การวางโครงเรื่อง
   ๖) การลงมือเขียน
       (๑) การใช้คำ ต้องเลือกใช้คำให้ตรงความหมาย สื่อความได้ชัดเจน เหมาะสมกับกาลเทศะ บุคคล เรื่องที่กำลังจะเขียน และต้องเขียนให้ถูกตามแบบแผนการเขียน
       (๒) การใช้โวหาร แบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร อุปมาโวหาร เทศนาโวหาร และสาธกโวหาร
       (๓) การใช้ระดับภาษา มี ๓ ระดับ คือ ภาษาปาก ภาษากึ่งแบบแผน และภาษาแบบแผน
       (๔) การปรุงแต่งถ้อยคำสำนวน คือ การปรับถ้อยคำให้สละสลวยมากขึ้น เช่น การตัดคำ การเพิ่มคำการแก้ไข และการเปลี่ยนคำ

 


   กระบวนการคิด เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การเขียนที่มีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนดังนี้
   ๑. ต้องการเขียนเรื่องราวให้ผู้อื่นทราบ
   ๒. เลือกรูปแบบการเขียนที่ตนเองถนัด
   ๓. พิจารณาว่าจะเขียนเนื้อหาอะไรบ้าง
   ๔. จัดเรียงเนื้อหาให้มีความสัมพันธ์กัน
   ๕. ลงมือเขียน
   ๖. ใช้สำนวนภาษาให้เหมาะสม
   ๗. แทรกคุณค่า สารประโยชน์ลงในเนื้อหาด้วย



๒. มารยาทในการเขียน
   ๑) ใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมกับเนื้อหา ระดับภาษา และประเภทของงานเขียน
   ๒) มีความรับผิดชอบ ยินดีแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเองเสมอ
   ๓) เขียนด้วยใจเป็นกลาง ไม่อคติ
   ๔) ไม่เขียนพาดพิงหรือใส่ร้ายให้ใคร หรือองค์กรใดเสียหาย
   ๕) หากไม่รู้จริงก็ไม่ควรเขียน
   ๖) อ้างอิงแหล่งข้อมูลเพื่อให้เกียรติแก่เจ้าของข้อมูล



๓. ประเภทของการเขียน

   การเขียนเพื่อกิจธุระ
   – การเขียนจดหมาย เป็นการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารที่อยู่ห่างไกลกัน โดยตัวสารสามารถเก็บไว้อ่านซ้ำ หรือใช้เป็นเอกสารหลักฐาน โดยจดหมายแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
       ๑) จดหมายส่วนตัว เป็นจดหมายสำหรับบุคคลใกล้ชิดใช้แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวกัน
       ๒) จดหมายกิจธุระ เช่น จดหมายสมัครงาน ควรเรียงลำดับข้อความในจดหมาย ดังนี้
            (๑) อารัมภบท
            (๒) ข้อมูลส่วนตัว
            (๓) ประสบการณ์การทำงาน ระบุว่าทำงานตำแหน่งใด บริษัทใด และเหตุใดจึงลาออก
            (๔) อ้างถึงผู้รับรอง
            (๕) ส่วนปิดท้าย
       ๓) จดหมายธุรกิจ เป็นจดหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย มีผลกำไรขาดทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้การเขียนจดหมายเชิงธุรกิจจะช่วยอำนวยความสะดวก ผู้ส่งสารและผู้รับสารไม่ต้องเดินทางมาติดต่อธุรกิจเอง ช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย มีใจความสมบูรณ์ เก็บไว้เป็นหลักฐานได้
       ๔) จดหมายราชการหรือหนังสือราชการ เป็นหลักฐานสำคัญทางราชการ แบ่งออกเป็น
       หนังสือภายนอก หนังสือภายในหนังสือประทับตราหนังสือสั่งการหนังสือประชาสัมพันธ์ และหนังสือที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้นหรือรับไว้เป็นหลักฐานทางราชการ

   – การจดบันทึก คือ การจดข้อความหนึ่ง ๆ เอาไว้เพื่อประโยชน์ในการเตือนความจำ หรือใช้เป็นหลักฐาน โดยเนื้อความที่จดบันทึกจะสั้นกว่าเนื้อความจากแหล่งข้อมูล


   การเขียนเชิงวิชาการ การเขียนเพื่อนำเสนอหรือถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีรูปแบบการเขียนที่แน่นอน ข้อมูลในงานเขียนสามารถนำไปใช้ศึกษา ค้นคว้า หรืออ้างอิงได้


   การเขียนเชิงสร้างสรรค์ การเขียนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดความรู้ สำนวนภาษาที่ใช้มีความประณีต สละสลวย มุ่งให้ผู้อ่านเกิดความเพลิดเพลินใจ เกิดจินตนาการ และมีความรู้สึกร่วมไปกับเนื้อเรื่องที่อ่าน โดยสามารถแบ่งออกเป็น ๒ รูปแบบ ได้แก่ประเภทร้อยแก้วและประเภทร้อยกรอง



คำสำคัญ กระบวนการเขียน กระบวนการคิด การเขียนเพื่อกิจธุระ การเขียนเชิงวิชาการ การเขียนเชิงสร้างสรรค์

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th