ภาษาไทย ป. 3 เรื่อง ความรู้พื้นฐานเพื่อการอ่าน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 122.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ ความรู้พื้นฐานเพื่อการอ่าน

 

หลักการอ่านออกเสียง

การอ่านตัวเลข

          ๑.  ตัวเลขตั้งแต่ ๒ หลักขึ้นไป ถ้าลงท้ายด้วยเลข ๑ อ่านออกเสียงว่า “เอ็ด”

          ๒. ทศนิยม หน้าจุดอ่านแบบจำนวนเต็ม หลังจุดอ่านเรียงตัว ถ้าเป็นเงิน/หน่วยนับอ่านตามหน่วยนั้น

          ๓. เวลา หลังตัวเลขชั่วโมง ออกเสียงว่า “นาฬิกา”

          ๔. หนังสือราชการ อ่านเรียงตัว

          ๕. บ้านเลขที่ สองหลักอ่านแบบจำนวนเต็ม สามหลักขึ้นแบบจำนวนเต็มหรือเรียงตัว ถ้าขึ้นต้นด้วยเลข ๐ ต้องอ่านเรียงตัวเสมอ เลขหลังทับอ่านเรียงตัว

          ๖.  ป้ายทะเบียนรถ อ่านพยัญชนะและตัวเลขทีละตัว ตามด้วยอ่านชื่อจังหวัด

          ๗. หมายเลขโทรศัพท์ อ่านเรียงตัว เลข ๒ อ่านว่าโท แต่ถ้ารหัสทางไกล/รหัสประเทศต้องอ่านว่า สอง

 

การอ่านอักษรย่อ

          ตามหลักต้องอ่านเต็มตามคำเดิม แต่มีบางคำที่อ่านตามความนิยม เช่น ก.ท.ม. (กอ-ทอ-มอ)

 

การอ่านเครื่องหมายวรรคตอน   

          ๑. ฯ อ่านเต็มตามคำเดิม

          ๒. ฯลฯ เมื่ออยู่ท้ายข้อความจะอ่านว่า ละ หรือ และอื่น ๆ แต่หากอยู่กลางข้อความจะอ่านว่า ละถึง

          ๓. ๆ อ่านซ้ำคำ ซ้ำความหรือประโยค

          ๔. ( ) อ่านว่า วงเล็บเปิด ตามด้วยการอ่านข้อความในวงเล็บ แล้วจึงอ่านว่า วงเล็บปิด

          ๕. ... หยุดเล็กน้อยก่อน แล้วจึงอ่านว่า ละ แล้วหยุดเล็กน้อย ก่อนอ่านข้อความต่อไป

          ๖. “...” อ่านว่า อัญประกาศเปิด ตามด้วยอ่านข้อความในอัญประกาศ แล้วจึงอ่านว่า อัญประกาศปิด

 

การอ่านคำที่มีเสียง ร ล เป็นพยัญชนะต้น

        คนส่วนใหญ่มักสับสนระหว่างเสียง ร ล จึงต้องออกเสียงให้ถูกต้องเพื่อสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน

 

การอ่านอักษรควบ

          อักษรควบแท้ออกเสียงพยัญชนะสองตัวพร้อมกัน อักษรควบไม่แท้ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะตัวหน้า หรือเปลี่ยนเสียง ทร เป็น ซ

 

การอ่านตัว ฤ

          เมื่ออยู่หน้าคำ ออกเสียง เรอ ริ รึ เช่น ฤกษ์ (เริก) ฤทธิ์ (ริด) ฤดี (รึ-ดี) เมื่อประสม ก ต ท ป ศ ส ออกเสียง ริ เช่น ทฤษฎี (ทริด-สะ-ดี) เมื่อประสม ด ค น พ ม ห ออกเสียง รึ เช่น หฤทัย (หะ-รึ-ทัย) คฤหาสน์ (คะ-รึ-หาด) ยกเว้น มฤต (มะ-ริด, มะรึด) พฤนท์ (พริน, พรึน) อมฤต (อะ-มะ-ริด)

 

การอ่านตัว ฑ    

          ออกเสียง ด ท เช่น บัณฑิต (บัน-ดิด) มณฑป (มน-ดบ) มณฑา (มน-ทา) ขัณฑสีมา (ขัน-ทะ-สี-มา)

 

การอ่านอักษรนำ-อักษรตาม

          คำสองพยางค์ พยางค์แรก อะ กึ่งเสียง พยางค์หลังออกเสียงตามสระที่ประสม เช่น เจริญ แสดง แต่หากเป็นอักษรสูง/กลางนำอักษรเดี่ยว พยางค์หลังออกเสียงวรรณยุกต์ตามอักษรนำ เช่น ขนม ตลก ส่วน ห นำ อักษรเดี่ยว หรือ อ นำ ย ออกเสียงเฉพาะพยัญชนะตัวตาม ใช้เสียงวรรณยุกต์ตามอักษรนำ เช่น อย่า หนา นอกจากนี้ยังมีบางคำที่ไม่ใช่อักษรนำ แต่ออกเสียงอย่างอักษรนำ เช่น กะรัต (กะ-หรัด) บัญญัติ (บัน-หยัด)

 

การอ่านคำหรือพยางค์ที่ไม่มีรูปสระกำกับ

          ๑. ออกเสียง อะ และบางคำอ่านแบบอักษรนำร่วมด้วย เช่น ปราชัย จรัญ สรุป จรวด

          ๓. ตัว บ ที่ไม่มีรูปสระ ออกเสียง ออ เช่น บรม บริสุทธิ์ บริการ

          ๔. พยัญชนะที่ไม่มีรูปสระและตามด้วยตัว ร ออกเสียง ออ และเสียงตัวสะกดแม่กน เช่น ศร กร

          ๕. พยัญชนะที่ไม่มีรูปสระและตามด้วยตัว ร ออกเสียง ออ ส่วนตัว ร ออกเสียง อะ เช่น กรณี

          ๖.  พยัญชนะ ๒ ตัวเรียงกัน ตัวแรกออกเสียงโอะ ตัวหลังเป็นตัวสะกด (สระโอะลดรูป) เช่น งง ทม จม

          ๗. พยัญชนะตัวแรกเสียง อะ ตัวที่ ๒ เสียง โอะ ตัวที่ ๓ ตัวสะกด และอาจมีการันต์ เช่น ถนน อนงค์

          ๘. บางคำมีสระหลายเสียงปนอยู่ ทั้งสระ อะ โอะ ออ เช่น ทศพร ทศวรรษ กรรมกร

          ๙. บางคำต้องแยกพยางค์จึงจะอ่านถูกและมีความหมาย เช่น กลลวง แยกเป็น กล-ลวง

 

การอ่านอักษรที่ไม่ออกเสียง 

          ๑. ไม่ออกเสียงตัว ร หรือ ห ที่อยู่กลางคำ เช่น สารท พรหม

          ๒. ไม่ออกเสียงตัว ร ที่อยู่หลังพยัญชนะตัวสะกด เช่น มิตร เกษตร กอปร

          ๓. ไม่ออกเสียงตัว ห อ ที่เป็นอักษรนำ เช่น หญิง อย่า

          ๔. ไม่ออกเสียงตัว ร ในคำควบไม่แท้ เช่น ไซร้ สร้าง เศร้า

          ๕. ไม่ออกเสียงตัว ร ในคำว่า โทร

          ๖. ไม่ออกเสียงตัว ญ ธ ที่อยู่หลังตัวสะกด เช่น พุทธ สรรเพชญ

          ๗. ไม่ออกเสียง และ ที่ใช้กำกับพยัญชนะสะกด หรือตัวการันต์ เช่น ญาติ ธาตุ พันธุ์ ต้นโพธิ์

          ๘. ไม่ออกเสียงตัวการันต์ เช่น เสิร์ฟ ฟิล์ม จันทร์ พิมพ์

 

การอ่านพยางค์ที่มี รร (รอหัน)  

          ออกเสียง อัน อะ โดยในบางคำพยัญชนะที่ตาม รร อาจเป็นเสียงตัวสะกด หรืออาจเป็นเสียงพยัญชนะต้นของพยางค์ถัดไปด้วย เช่น กรรไกร พรรค กรรมการ สรรพางค์ บางคำอ่านได้หลายอย่าง เช่น ภรรยา (พัน-ยา, พัน-ระ-ยา) สรรเสริญ (สัน-เสิน, สัน-ระ-เสิน)

 

การอ่านคำแผลงหรือคำกลายเสียง  

          หากแผลงจากคำเดิมที่มีพยัญชนะตัวเดียว ให้ออกเสียงตามพยัญชนะที่แผลงใหม่ เช่น แจก แผลงเป็น จำแนก (จำ-แนก) แต่หากแผลงจากคำเดิมที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรควบ ให้ออกเสียงวรรณยุกต์ตรงกับคำเดิม เช่น ตรัส แผลงเป็น ดำรัส (ดำ-หรัด)

 

การอ่านคำสมาส

          คำสมาสให้อ่านออกเสียงพยางค์ของคำประกอบ เช่น ราชธิดา (ราด-ชะ-ทิ-ดา) เชตุพน ( เช-ตุ-พน) แต่บางคำไม่ออกเสียงพยางค์ดังกล่าว เช่น ชลบุรี (ชน-บุ-รี) ชัยนาท (ชัย-นาด) นอกจากนี้ยังมีบางคำที่ไม่ใช่คำสมาสแต่อ่านออกเสียงเหมือนคำสมาส เช่น พลความ (พน-ละ-ความ)

 

การใช้พจนานุกรม   

หลักการใช้พจนานุกรม

          ๑.  การเรียงลำดับพยัญชนะ ก-ฮ

          ๒. การเรียงลำดับสระตามรูป คำที่มีอักษรตัวที่ 2 เป็นพยัญชนะ มาก่อนคำที่มีอักษรตัวที่ 2 เป็นสระ 

          ๓. การบอกเสียงอ่าน จะอยู่ในวงเล็บใหญ่ [ ] ติดกับคำศัพท์ โดยจะไม่บอกเสียงอ่านในคำที่สะกดตรงตามมาตรา หากคำนั้นสามารถอ่านได้หลายอย่าง จะบอกคำอ่านหลักไว้ก่อน

          ๔. การบอกชนิดและหน้าที่ของคำ  เช่น น.=นาม ก.=กริยา

          ๕. การบอกประวัติของคำ   เช่น (จ.)=จีน (ป.)=บาลี

          ๖. การบอกลักษณะของคำที่ใช้เฉพาะแห่ง เช่น (กฎ)=ใช้ในกฎหมาย (ปาก)=คำที่ใช้เป็นภาษาปาก

          ๗. การบอกความหมาย

          ๘. เครื่องหมายในพจนานุกรม แต่ละเครื่องหมายมีการใช้งานต่างกัน เช่น  จุลภาค (,) ใช้คั่นบทนิยาม มหัพภาค (.) ใช้เมื่อจบนิยามหรืออักษรย่อ อัฒภาค (;) ใช้คั่นบทนิยามที่ต่างกันแต่ยังสัมพันธ์กันอยู่ ยัติภังค์ (-) ใช้แยกเสียงอ่านหรือแทนคำที่อยู่ข้างหน้า/ข้างหลัง

 

หลักการค้นความหมายของคำศัพท์ 

           ในพจนานุกรมจะบอกความหมายของคำนั้นในทุกหน้าที่ ดังนั้นหากต้องการรู้ความหมายของคำในประโยคใดโดยเฉพาะ จะต้องรู้หน้าที่ของคำนั้นก่อน โดยสังเกตจากบริบทและตำแหน่งของคำในประโยคนั้น แล้วจึงเทียบความหมายจากพจนานุกรม

 

สรุป
        การสื่อสารโดยการพูดหรือการอ่านจำเป็นต้องออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้การเรียนภาษาให้เกิดประสิทธิภาพต้องรู้จักการใช้พจนานุกรม เพราะจะช่วยให้เราสามารถเขียน อ่าน และรู้ความหมายของคำได้อย่างกว้างขวาง

 

คำสำคัญ   หลักการอ่าน, พจนานุกรม

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th