ภาษาไทย ม. 3 เรื่อง ราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 188.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
 


 


นำเรื่อง
   ราชาธิราช เป็นเรื่องในพงศาวดารมอญ เคยแปลเป็นไทยแต่สูญหายครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ ต่อมารัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นหัวหน้า ร่วมกับพระยาอินทรอัคคะราช พระภิรมรัศมี และพระศรีภูริปรีชา ช่วยกันแปลและเรียบเรียงขึ้นใหม่ เพื่อเป็นการบำรุงสติปัญญาแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร

 


เรื่องย่อ
   มะกะโทเป็นบุตรพ่อค้าแขวงเมาะตะมะ วันหนึ่งขณะหาบสินค้าไปขายที่เมืองสุโขทัยเกิดนิมิตประหลาด ฟ้าผ่าคานหามถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่มีใครเป็นอันตราย ต่อมานิมิตเห็นปราสาทราชมนเทียร มีผู้ทำนายว่ามะกะโทจะได้เป็นใหญ่ เมื่อถึงสุโขทัยมะกะโทไปอาศัยอยู่กับนายช้างของสมเด็จพระร่วงเจ้า เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จไปโรงช้างพบมะกะโท ก็ทรงพระเมตตารับสั่งนายช้างให้ดูแลมะกะโทให้ดี และขณะทอดพระเนตรช้างสมเด็จพระร่วงเจ้าได้คายพระสลา (หมาก) แล้วบ้วนพระโอษฐ์ลงดิน เห็นเบี้ยตกอยู่ จึงให้มะกะโทเก็บไว้ มะกะโทนำเบี้ยไปซื้อผักกาดมาปลูกถวายสมเด็จพระร่วงเจ้า สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงทรงพระเมตตา และแต่งตั้งให้เป็นขุนวังในเวลาต่อมา
   ต่อมามะกะโทเดินทางกลับไปเมาะตะมะ อลิมามางผู้เป็นเจ้าเมืองคิดฆ่ามะกะโทด้วยเห็นว่ามะกะโทมีผู้เลื่อมใสมาก แต่สุดท้ายก็ถูกฆ่าตาย มะกะโทจึงได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ มีพระนามว่าพระเจ้าฟ้ารั่ว และบุกยึดเมืองทางเหนือทำให้เมาะตะมะยิ่งใหญ่
   กษัตริย์เมาะตะมะสืบราชสมบัติกันต่อมาเรื่อย ๆ และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นกรุงหงสาวดี จนกระทั่งพระยาน้อยปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าราชาธิราช มีทหารเอกได้แก่ สมิงนครอินท์ สมิงพระราม และสมิงพ่อเดช ขณะเดียวกันที่เมืองพม่า พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องก็ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา และทำศึกสงครามกับพระเจ้าราชาธิราชมาเป็นเวลานาน แต่พระเจ้าราชาธิราชก็ทรงเอาชนะได้โดยตลอด ยกเว้นครั้งหนึ่งสมิงพระรามขี่ช้างพลายประกายมาศเข้าสู้กับพม่า แต่ช้างตกหล่ม ทำให้ถูกพม่าจับไปเป็นเชลย
   ครั้งหนึ่งพระเจ้ากรุงต้าฉิง แห่งกรุงจีน ได้ส่งกามะนีทหารเอกมาทำสงครามกับเมืองพม่า สมิงพระรามผู้เป็นเชลยขออาสาสู้ศึก และเอาชนะกามะนีได้ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องพระราชทานตำแหน่งมหาอุปราชและให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดา แต่ภายหลังพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องพลั้งพระโอษฐ์เรียกโอรสของสมิงพระรามว่า “อ้ายลูกเชลย” สมิงพระรามเกิดความน้อยใจจึงหนีกลับกรุงหงสาวดี
   หลังจากพระเจ้าราชาธิราชสวรรคต ก็ได้มีสืบสันตติวงศ์มาจนถึงตะละนางพระยาท้าว ซึ่งถูกพระเจ้าแมงเรฉะวากีกษัตริย์พม่าชิงตัวไปเป็นอัครมเหสีเอก แต่ต่อมาราชบุตรบุญธรรมของตะละนางพระยาท้าวได้ยกทัพมาชิงตัวกลับไป และขึ้นครองราชสมบัติ มีพระนามว่าพระเจ้าศรีศากยวงศ์ธรรมเจดีย์


 


 

 

 

 

 

 

 


 


 


 


 


 





ศัพท์น่ารู้
กันแสงร่ำรัก                          ร้องไห้ด้วยความอาลัยรัก
กามสังวาสรส                        ความสุขในการเสพกาม
กินเมือง                                ขึ้นครองเมือง
ใจดี                                     ในที่นี้หมายถึง ทำใจให้มั่นคง ใจดีสู้เสือ ในความที่ว่า “ถ้าใจดีต้องทดลองให้สิ้นเชิง
                                           ปัญญาก่อนจึงนะนับว่าดี”
ช้อยชำเลือง                         ชายตามอง
ได้รับอับจน                          ตกอยู่ในที่อันตราย
ตกพนักงาน                          เป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบ
ตะกรวย                                เครื่องสานเป็นรูปกรวยหรือตะกร้า
เต้า                                      ในที่นี้หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่น้ำ ในความที่ว่า “น้ำดอกไม้เทศสามสิบเต้า”
แต่                                       ในที่นี้หมายถึง จาก ในความที่ว่า “กราบทูลโดยความที่ได้แต่หญิงม่ายนั้นทุกประการ”
ที่                                         ในที่นี้หมายถึง ตำแหน่ง ในความที่ว่า “ที่ซึ่งมหาอุปราชกับราชธิดาเรานั้น
                                           เราได้ออกปากแล้วว่าจะให้เป็นบำเหน็จความชอบแก่ท่าน”
ที่สูง                                     ศีรษะ
บังเหียน                                เครื่องบังคับม้าให้ไปในทิศทางที่ต้องการ
ปฏิพัทธ์                                ผูกพัน รักใคร่
เปรียว                                  ไม่เชื่อง ว่องไว
ผงคลี                                   ฝุ่นละเอียด
พระราชกำหนด                      บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจบริหารใช้บังคับ
พระอังสา                              บ่า ไหล่
พฤฒามาตย์                          อำมาตย์ผู้เฒ่า
พานพระศรี                           พานหมาก
พิชัยสงคราม                         ตำราสงครามว่าด้วยการศึกในสมัยโบราณ
พิทยาธร                               อมนุษย์พวกหนึ่ง มีฐานะต่ำกว่าเทวดา เชื่อว่ามีวิชากายสิทธิ์ สามารถเหาะเหินเดิน
                                           อากาศได้ อยู่ในภูเขาหิมาลัย
มาบ                                     บริเวณที่ลุ่มกว้าง
ไม่แจ้งความ                          ยังไม่รู้ประสา ไร้เดียงสา
ย่างน้อย                                วิ่งเหยาะ ๆ
ย่างพระบาท                          เดิน
ระงับพระกาย                         พักผ่อน
แล้วด้วย                               ล้วนด้วย
ศิลปศาสตร์                           วิชาความรู้ต่าง ๆ สำหรับผู้ปกครองและนักรบ
หนีสงสาร                              พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
อาน                                      เครื่องรองนั่งบนหลังสัตว์พาหนะ
เอมโอช                                 รสหวาน รสอร่อย




ประวัติผู้แต่ง
   เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฦๅชัย (บุญมี) และท่านผู้หญิงเจริญ เคยรับราชการเป็นหลวงสรวิชิตในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิพัฒน์โกษาในสมัยรัชกาลที่ ๑ และมีบรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ เจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า เป็นต้นราชสกุล บุญหลง งานประพันธ์ของท่าน เช่น ราชาธิราช สามก๊ก ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก (กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี) กากีคำกลอน ลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์

 

 


สาระน่ารู้
   ทศพิธราชธรรม
   ทศพิศราชธรรม เป็นธรรมสำหรับผู้ปกครอง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเจริญมั่นคงและความสงบสุขของผู้อยู่ใต้ปกครองหลัก ๑๐ ประการ ดังนี้
   ๑. ทาน คือ การให้ คิดถึงทุกข์สุขของส่วนรวมเป็นสำคัญ จำแนกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ วัตถุทาน คือ การให้สิ่งของ และธรรมทาน คือ การให้ธรรม
   ๒. ศีล คือ ความประพฤติดีพร้อมทั้งกาย วาจา และใจเว้นจากการประพฤติชั่วทั้งปวง
   ๓. ปริจจาคะ คือ ความเสียสละ อุทิศความสุขส่วนตนเพื่อความสุขของคนหมู่มาก
   ๔. อาชชวะ คือ ความซื่อตรง ไม่ประพฤติหลอกลวง ทำให้เกิดความไม่สงบสุข
   ๕. มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน ทั้งต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น
   ๖. ตบะ คือ ความไม่หลงใหลความสุขสำราญและคำสรรเสริญเยินยอ
   ๗. อักโกธะ คือ ความไม่โกรธ ไม่มุ่งร้ายคนอื่น แม้จะลงโทษก็ต้องทำไปด้วยเหตุผล
   ๘. อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นโดยใช้อำนาจของตน
   ๙. ขันติ คือ ความอดทนต่อความเหนื่อยยาก และคำวิพากษ์วิจารณ์ รู้จักใช้สติแก้ปัญหาและอุปสรรค
   ๑๐. อวิโรธนะ คือ การไม่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ไม่ทำผิดศีลธรรม ผิดวินัย ผิดกฎหมาย และผิดประเพณี

 

 


แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม


   เนื้อเรื่อง
   ราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ ความจงรักภักดี ความหยิ่งในศักดิ์ศรี การใช้ฝีมือและสติปัญญาในการแก้ไขสถานการณ์ให้สำเร็จ แม้จะตกอยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบของสมิงพระราม


   ศิลปะการประพันธ์
   ๑. ลำดับความได้เป็นระเบียบ ตามลำดับเหตุการณ์ เข้าใจง่าย มีความงดงามในการสรรคำมาใช้ให้เกิดความไพเราะ เช่น
          “อันจะผูกด้วยมนตราอาคมและโซ่ตรวนเชือกพรวนสรรพเครื่องจองจำทั้งสิ้นนั้น ก็พลันที่จะหลุดถอนเคลื่อนคลายไม่แน่นเหนียวเหมือนยางรัก” และข้อความที่ว่า “ซึ่งข้าพเจ้าว่าจะผูกจิตสมิงพระรามให้อยู่ด้วยยางรัก”


   ๒. ใช้ภาษาเก่า ต่างจากปัจจุบัน เช่น
          “เห็นลูกม้านั้นรูปงามประกอบด้วยลักษณะดีต้องอย่าง สมเป็นม้าสำหรับรบศึกจึงเอามือต้องหลังดู ม้านั้นมิได้อ่อนหลังทรุดลงดุจม้าทั้งปวงที่เลือกมาแต่หนหลัง” คำว่า “ต้อง” หมายถึง สัมผัส


   ๓. ใช้บรรยายโวหารในการเล่าเรื่อง เช่น
          “ฝ่ายสมิงพระรามก็แต่งตัว ใส่เสื้อสีชมพูขลิบทองจีบเอว โพกผ้าชมพูขลิบแล้วไปด้วยทอง ใส่กำไรต้นแขนปลายแขน แหวนสอดก้อยแล้วไปด้วยเนาวรัตน์ แต่ล้วนทองเป็นอันงาม แล้วสอดดาบสะพายแล่งขึ้นม้า”


   ๔. ใช้สำนวนโวหารเปรียบเทียบคมคายเพื่อให้เกิดจินตภาพและเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
          “ดวงกมลก็จะหวั่นไหวไปด้วยความปฏิพัทธ์ อุปมาดังชายธงอันต้องลม”


   ๕. บทสนทนาแฝงด้วยข้อคิดสอนใจ เช่น
          “เรารักสัตย์ยิ่งกว่าทรัพย์ อย่าว่าแต่สมบัติมนุษย์นี้เลย ถึงท่านจะเอาทิพยสมบัติของสมเด็จพระอมรินทร์มายกให้เรา ๆ ก็มิได้ปรารถนา”




   ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ
   ๑. บุคคลจะประสบความสำเร็จต้องมีความกล้าหาญ
   ๒. แผ่นดินเกิดเป็นสถานที่ให้ชีวิต มีบุญคุณอย่างไม่มีสิ่งใดมาเปรียบ เราจึงควรรู้จักแสดงความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินเกิด
   ๓. ความรักเป็นสิ่งที่มีอำนาจ สามารถเปลี่ยนความแน่วแน่ของคนได้
   ๔. บุคคลย่อมมีความหยิ่งในศักดิ์ศรีของตนเอง ไม่ต้องการให้ใครมาดูถูกเหยียดหยาม
   ๕. เราควรรู้จักระวังคำพูด เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมาได้
   ๖. ผู้ที่เป็นผู้นำต้องมีคุณธรรม รักษาคำสัตย์ เอาใจใส่ต่อทุกข์สุขของผู้อยู่ใต้ปกครอง
   ๗. ในการแก้ปัญหาเราต้องใช้สติปัญญาวางแผนแก้ปัญหาอย่างฉลาดและรอบคอบ

 

 

   การนำไปใช้ในชีวิตจริง
   ๑. นักเรียนสามารถแสดงความกล้าของตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา การเรียน และต้องรู้จักใช้ความสามารถเหล่านั้นสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น โรงเรียน ชุมชน
   ๒. ศักดิ์ศรีของการเป็นนักเรียน คือ ต้องรู้จักเอาใจใส่หน้าที่ของตนเอง ขยันหมั่นเพียร ไม่หลงใหลอบายมุขหรือสิ่งที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ตนและวงศ์ตระกูล ตลอดจนสังคมส่วนรวม
   ๓. นักเรียนต้องรู้จักรักษาสัตย์ เพราะจะทำให้เป็นที่เชื่อถือและได้รับความนับถือจากผู้อื่น

 

 

สรุป
   ราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา แสดงถึงความสำคัญของการใช้สติปัญญา ความกล้าหาญ ความหยิ่งในศักดิ์ศรี คุณธรรมที่ผู้นำพึงจะมี สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้สังคมบ้านเมืองมีความสุขความเจริญ

 

 



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th