ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
รัฐ
รัฐ หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันในดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน มีรัฐบาลที่มีอำนาจอธิปไตย ในการดำเนินกิจการทั้งในและนอกประเทศโดยอิสระ รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนในสังคมให้มีระเบียบ ด้วยการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาใช้จัดระเบียบ โดยรัฐจะต้องประกอบด้วยประชากร ดินแดน รัฐบาล และอธิปไตย
รูปแบบของรัฐมี 2 รูปแบบ ได้แก่ รัฐเดี่ยวและรัฐรวม การปกครองของประเทศไทยเป็นแบบรัฐเดี่ยว คือ เป็นรัฐที่มีรัฐบาลเดียว ประชาชนอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลเดียวกัน และใช้อำนาจอธิปไตยปกครองดินแดน ดังที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการปกครองในแบบรัฐรวม ซึ่งรัฐรวมเป็นการรวมรัฐอย่างน้อย 2 รัฐให้เป็นรัฐเดียว มีการแบ่งการใช้อำนาจอธิปไตยเป็นสัดส่วน มีรัฐบาล 2 ระดับ ได้แก่ รัฐบาลกลาง (Federal Government) และรัฐบาลท้องถิ่น (State Government) โดยรัฐบาลกลางของรัฐรวมจะใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรัฐทั้งหมด หรือผลประโยชน์ที่เป็นส่วนรวมของรัฐ ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นจะมีอำนาจในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับท้องถิ่นนั้นโดยเฉพาะ
ฐานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในทางการเมืองการปกครอง พระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเป็นหมู่คณะ และถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยทรงมีฐานะและพระราชอำนาจ ดังนี้
1. ฐานะและพระราชอำนาจตามนิติราชประเพณีและราชธรรม ซึ่งฐานะและพระราชอำนาจตามนิติราชประเพณีนั้นสามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลงและยกเลิกตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ส่วนฐานะและพระราชอำนาจตามราชธรรมนั้น เป็นการกล่าวถึงคุณธรรมที่พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองแผ่นดินพึงปฏิบัติหรือทศพิธราชธรรมในทางพระพุทธศาสนา
2. ฐานะและพระราชอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทรงเลือกและแต่งตั้งองคมนตรี ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ทรงทำหนังสือสัญญา ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ข้าราชการในพระองค์ และข้าราชการระดับสูง และพระราชทานอภัยโทษ
3. ฐานะและพระราชอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย พระราชอำนาจที่จะทรงได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ พระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำปรึกษาหารือ พระราชอำนาจที่จะพระราชทานคำแนะนำตักเตือน พระราชอำนาจที่จะพระราชทานการสนับสนุน
4. ฐานะทางสังคม ได้แก่ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความต่อเนื่องของชาติ ทรงเป็นพลังในการสร้างขวัญและกำลังใจของประชาชน ทรงมีส่วนสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ทรงแก้ไขวิกฤตการณ์ ทรงส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ทรงมีส่วนเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ทรงเป็นผู้นำในการพัฒนาและปฏิรูปด้านต่าง ๆ และทรงมีส่วนเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย
5. ฐานะทางวัฒนธรรม ได้แก่ ประเพณีทรงราชย์ คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อสืบราชสมบัติ และประเพณีการปฏิบัติตนต่อพระมหากษัตริย์ เช่น การใช้คำราชาศัพท์ การเข้าเฝ้าด้วยการหมอบกราบ และการถวายบังคม เป็นต้น
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
อำนาจรัฐ คือ อำนาจที่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมาย สามารถกระทำหรือสั่งการให้กระทำ หรือให้การกระทำใด ๆ ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งอำนาจรัฐต้องมีกลไกการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจทำการทุจริต
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระ ได้แก่
1.1 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนร้องเรียนการกระทำของผู้ใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าการกระทำโดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการตรวจสอบและเสนอให้มีการแก้ไขไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หากหน่วยงานนั้นไม่ปฏิบัติตาม ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจทำรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ควบคุมดูแลหน่วยงานนั้น ๆ และทำรายงานต่อไปยังรัฐสภาและพิมพ์เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ
1.2 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ
1.3 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือ ค.ต.ง. มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลตรวจสอบเงินแผ่นดิน งบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจนตรวจสอบความคุ้มค่าและประสิทธิภาพในการใช้จ่าย
2. การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย
2.1 การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งเป็นมาตรการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และระมัดระวังการใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการทำทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น
2.2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดเองการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง
2.3 การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง โดยวุฒิสภาสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง หากพบการพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ส่อทุจริต กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่าใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
2.4 การดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่พิจารณาคดีซึ่งเป็นคดีพิเศษแยกออกจากวิธีพิจารณาคดีอาญาทั่ว ๆ ไป เพื่อให้เป็นอิสระจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมือง และเพื่อให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีเป็นอิสระและมีหลักประกันในการพิจารณาคดี
สถานการณ์และปัญหาการเมืองไทย
สถานการณ์การเมืองของไทยในปัจจุบันยังคงเผชิญกับการทุจริตในหมู่นักการเมืองและข้าราชการที่แสวงหาผลประโยชน์ของตน การซื้อขายเสียงในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่เป็นพรรคส่วนบุคคลหาใช่พรรคการเมืองที่เป็นของมวลชน มีความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ และมีการต่อสู้แบบทำลายล้างเกิดขึ้นระหว่างนักการเมืองและฝ่ายตรงข้าม
สำหรับการเมืองไทยมีปัญหาหลัก ได้แก่ ปัญหาการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง กล่าวคือ อุดมการณ์ทางการเมืองของไทยยังมีค่านิยมในเรื่องระบบอุปถัมภ์และการยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้ที่เหนือกว่า ปัญหาสถาบันทางการเมืองที่ยังขาดเสถียรภาพ และปัญหาทางสังคมและการเมืองไทยซึ่งประสบปัญหาทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำและด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน
Keyword รัฐ รัฐเดี่ยว รัฐรวม พระราชอำนาจ อำนาจรัฐ
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th