บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ทวีปอเมริกาใต้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 648.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






1. ลักษณะทางกายภาพของทวีปอเมริกาใต้ เป็นดินแดนที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกใต้
          เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 ต่อมา ค.ศ. 1572 ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสเปน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอาณานิคมในทวีปอเมริกาใต้ได้ต่อสู้เรียกร้องเอกราช เกือบทุกประเทศในปัจจุบันจึงมีอิสระในการปกครองตนเอง ยกเว้นเฟรนช์เกียนา และหมู่เกาะฟอล์กแลนด์

ที่ตั้ง อาณาเขต และขนาด
          มีเนื้อที่รวม 17,821,029 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมกลับข้างกับทวีปอเมริกาเหนือ และมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
                    ทิศเหนือ ติดต่อกับทวีปอเมริกาเหนือ ดินแดนภาคพื้นทวีปทางเหนือสุด คือ แหลมกายีนัส
                    ทิศตะวันออก จดมหาสมุทรแอตแลนติก ดินแดนภาคพื้นทวีปทางตะวันออกสุด คือ แหลมโกเกย์รูส
                    ทิศใต้ จดช่องแคบเดรก ดินแดนภาคพื้นทวีปทางใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ คือ แหลมโฟรเวิร์ด
                    ทิศตะวันตก จดคลองปานามาและมหาสมุทรแปซิฟิก ดินแดนภาคพื้นทวีปทางตะวันตกสุด คือ แหลมปารีญัส




ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งเป็น 3 เขต ดังนี้




          1. เขตเทือกเขาสูงทางด้านตะวันตก มีเทือกเขาแอนดีสทอดตัวเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกจากเหนือสุดลงมาใต้สุด เทือกเขาแอนดีสเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแอมะซอน ทั้งนี้ เทือกเขาสูงทางตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาหินใหม่







          2. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ
                    ที่ราบลุ่มแม่น้ำโอรีโนโก เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ
                    ที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน เป็นแหล่งป่าไม้เขตร้อนที่สำคัญและเป็นที่อยู่ของชาวอินเดียน
                    ที่ราบลุ่มแม่น้ำปารานา-ปารากวัย-อุรุกวัย บริเวณที่แม่น้ำทั้ง 3 สายไหลมาบรรจบกันมีลักษณะเป็นอ่าวใหญ่ เรียกว่า รีโอเดลาปลาตา




          3. เขตที่ราบสูงทางด้านตะวันออก แบ่งเป็น 4 เขต ได้แก่
                    ที่ราบสูงกีอานา มีน้ำตกที่สูงที่สุดในโลก คือ น้ำตกเอนเจล
                    ที่ราบสูงบราซิล เป็นที่ราบสูงระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนกับลุ่มแม่น้ำปารานาและประเทศปารากวัย
                    ที่ราบสูงมาตูโกรสซู เป็นเขตทุ่งหญ้าเขตร้อนในประเทศบราซิล
                    ที่ราบสูงปาตาโกเนีย เป็นที่ราบสูงเชิงเขาทางด้านตะวันออกของเทือกเขาแอนดีสไปจดมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นเขตค่อนข้างแห้งแล้ง





หล่งน้ำในทวีปอเมริกาใต้
          แหล่งน้ำจืดที่สำคัญ มีดังนี้
                    1. แม่น้ำ ได้แก่
                              แม่น้ำแอมะซอน เกิดจากเทือกเขาแอนดีสในประเทศเปรู




                              แม่น้ำปารานา เกิดจากที่ราบสูงทางด้านตะวันออก




                              แม่น้ำปารากวัย เกิดจากที่ราบสูงในประเทศบราซิลทางตอนกลางของทวีป
                              แม่น้ำโอรีโนโก เกิดจากที่ราบสูงกีอานาทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวเนซุเอลา




                              แม่น้ำมักดาเล เกิดจากเทือกเขาแอนดีส




                              แม่น้ำเซาฟรังซีสกู เกิดจากเทือกเขาในเขตที่ราบสูงบราซิล
                    2. ทะเลสาบ ได้แก่ ทะเลสาบตีตีกากาซึ่งอยู่ระหว่างประเทศเปรูและโบลิเวีย เป็นทะเลสาบที่ใช้ในการขนส่ง





ภูมิอากาศ
          ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศ ได้แก่
                    1. ที่ตั้ง พื้นที่ส่วนใหญ่ทวีปอเมริกาใต้ตั้งอยู่ในเขตละติจูด จึงอยู่ในเขตร้อน
                    2. ลักษณะภูมิประเทศ มีเทือกเขาต่างๆเป็นกำแพงขวางกั้นความชื้นและลมประจำที่พัดจากทะเล ทำให้บางบริเวณมีภูมิอากาศแห้งเป็นเขตทุ่งหญ้าและทะเลทราย
                    3. กระแสน้ำ ทางด้านตะวันตกกระแสน้ำเย็นฮัมโบลต์หรือกระแสน้ำเย็นเปรู ทำให้ชายฝั่งด้านนี้มีอากาศเย็นและมีความชื้นต่ำในฤดูร้อน ส่วนด้านตะวันออกกระแสน้ำอุ่นแอตแลนติกใต้ ทำให้บริเวณชายฝั่งมีอากาศอบอุ่นและมีความชื้นสูง
                    4. ลมประจำ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตลมสงบบริเวณเส้นศูนย์สูตร และเขตอิทธิพลลมค้าตะวันออกเฉียงเหนือและลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ชายฝั่งตะวันออกมีฝนตกชุก ประเทศในเขตละติจูดต่ำจะร้อน ยกเว้นบริเวณเทือกเขาและที่ราบสูงซึ่งมีอุณหภูมิลดลงตามระดับความสูง

เขตภูมิอากาศ จำแนกเป็น 8 เขต ดังนี้




          1. ภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้น เรียกว่า เซลวาส
          2. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเขตร้อน พืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าและป่าโปร่ง
          3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย ส่วนใหญ่เป็นพืชที่ทนความแห้งแล้ง




          4. เขตภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย พืชพรรณตามธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้าสั้นในเขตอบอุ่น
          5. เขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น พืชพรรณเป็นทุ่งหญ้ายาวแบบเดียวกับทุ่งหญ้าแพรรีในทวีปอเมริกาเหนือ เรียกว่า ทุ่งหญ้าปัมปา
          6. เขตภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรชายฝั่งตะวันตก พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าดิบชื้นในเขตอุ่นซึ่งมีไม้ขนาดใหญ่
          7. เขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน พืชพรรณธรรมชาติ ได้แก่ ไม้พุ่มมีหนาม ไม้คอร์กโอ๊ก ต้นไม้มีรากลึก เปลือกหนา และพืชจำพวกมะกอก
          8. เขตภูมิอากาศแบบที่สูง อุณหภูมิและปริมาณฝนจะลดลงตามระดับความสูง





ทรัพยากรธรรมชาติ จำแนกได้ดังนี้
          1. ดิน มีดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์ 2 ชนิด คือ ดินภูเขาไฟ และ ดินในเขตทุ่งหญ้าปัมปา
          2. ป่าไม้ ทวีปอเมริกาใต้มีป่าดิบชื้นมากที่สุดในโลก
          3. สัตว์ป่า มีสัตว์ประจำถิ่นที่บางชนิดนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง
          4. พลังงาน แหล่งพลังงานสำคัญ ได้แก่ ปิโตรเลียม ถ่านหิน และ พลังงานน้ำ
          5. แร่ มีกระจัดกระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ แร่ที่มี เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง บ็อกไซต์ และ เหล็ก

2. ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของทวีปอเมริกาใต้

จำนวนประชากร
          สถิติเมื่อ ค.ศ. 2011 ระบุว่าทวีปอเมริกาใต้มีประชากรประมาณ 398 ล้านคน อัตราความหนาแน่นประมาณ 22 คนต่อตารางกิโลเมตร

เชื้อชาติ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
          1. กลุ่มอินเดียน เป็นชนพื้นเมือง
          2. กลุ่มผิวขาว เป็นพวกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
          3. กลุ่มผิวดำ ชาวผิวขาวได้นำชาวผิวดำจากทวีปแอฟริกาเข้ามาเป็นแรงงาน ต่อมากลุ่มผิวดำได้แต่งงานกับพวกผิวขาวทำให้เกิดลูกเลือดผสม เรียกว่า มูแลตโต

ภาษา
          อเมริกาใต้ส่วนใหญ่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ ยกเว้นบราซิล (ใช้ภาษาโปรตุเกส) กายอานา (ใช้ภาษาอังกฤษ) ดินแดนเฟรนช์เกียนาของฝรั่งเศส (ใช้ภาษาฝรั่งเศส) และซูรินาเม (ใช้ภาษาดัตช์)

ศาสนา
          ประชากรมากกว่าร้อยละ 90 นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ส่วนนิกายโปรเตสแตนต์มีผู้นับถือน้อย และ ผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ยังมีการนับถือศาสนาอื่น

การกระจายของประชากร
          เขตที่มีประชากรหนาแน่นจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการดำรงชีวิต ได้แก่




                    - เขตชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
                    - เขตที่ราบสูงของเทือกเขาแอนดีส
                    - เขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ของประเทศต่าง ๆ











เศรษฐกิจ อาชีพสำคัญ ได้แก่
          1. การเกษตร ประกอบด้วย
                    การเพาะปลูก ส่วนใหญ่เพาะปลูกพืชไว้เลี้ยงตนเองหรือจำหน่ายในท้องถิ่น
                              กาแฟ มีการส่งออกกาแฟออกสู่ตลาดประมาณร้อยละ 50 ของโลก




                              โกโก้ เป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อนชื้นของทวีป
                              กล้วยและอ้อย ปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้น
                              ข้าวสาลี เป็นสินค้าที่สำคัญ
                              ข้าวโพด เป็นสินค้าออกสำคัญที่ปลูกมากในประเทศบราซิล
                              ฝ้าย ปลูกมากในบราซิลและอาร์เจนตินา

                    การเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงสำคัญ ได้แก่
                              โคเนื้อ ถือเป็นแหล่งโคเนื้อชั้นนำของโลกทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ




                              แกะ เลี้ยงกันมากทางตอนใต้ของประเทศ




                              สุกร เลี้ยงเป็นจำนวนมากที่เปรูและบราซิล

          2. การทำป่าไม้ ทวีปอเมริกาใต้ใช้ป่าไม้ในทางเศรษฐกิจน้อย แต่ยังมีผลผลิตจากป่ามากมาย
          3. การทำประมง น่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมเขตหนึ่งของโลก
          4. การทำเหมืองแร่ ทวีปอเมริกาใต้มีแร่สำคัญ ดังนี้
                    ทองแดง มีแร่ทองแดงสำรองประมาณ 1 ใน 4 ของโลก
                    เหล็ก มีปริมาณแร่เหล็กสำรองประมาณ 1 ใน 5 ของโลก
                    ดีบุก ประเทศโบลิเวียผลิตดีบุกได้มากเป็นลำดับ 2 ของโลก
                    สังกะสี ผลิตได้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
                    ทองคำ ผลิตได้บ้างเล็กน้อยในเกือบทุกประเทศ
                    ปิโตรเลียม แหล่งผลิตอันดับต้น ๆ ของโลก คือ ประเทศเวเนซุเอลา
                    บ็อกไซต์ ผลิตมากในประเทศเวเนซุเอลาและประเทศซูรินาเม




          5. อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบาและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่ปัจจุบันหลายประเทศได้พัฒนาอุตสาหกรรมหนัก โดยมีแหล่งอุตสาหกรรมในเขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่เป็นส่วนใหญ่
          6. การค้า สินค้าเข้า ส่วนใหญ่เป็นวัตถุสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าออก ได้แก่ วัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้มักจะเสียดุลการค้าเสมอ มีเพียงประเทศบราซิลและประเทศเวเนซุเอลาเท่านั้นที่ได้เปรียบดุลการค้า

การคมนาคมขนส่ง
          การคมนาคมขนส่ง ยังกระจายไม่ทั่วทุกภูมิภาค การคมนาคมที่สะดวกมีเฉพาะเขตที่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ไม่ร้อนหรือแห้งแล้งเกินไป และมีประชากรหนาแน่น ซึ่งลักษณะการคมนาคมขนส่ง มีดังนี้
                    1. ทางบก แบ่งเป็น
                              ทางรถยนต์ มีถนนสายหลัก คือ ทางหลวงสายแพนอเมริกัน มีเส้นทางตัดเชื่อมไปยังเมืองหลวงและเมืองใหญ่ของประเทศต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศดีขึ้น




                              ทางรถไฟ ส่วนใหญ่มีระยะสั้น ๆ เชื่อมเมืองใหญ่หรือเมืองท่าระหว่างพื้นที่ชายฝั่งกับที่ราบภาคใต้
                    2. ทางน้ำ แบ่งเป็น
                              แม่น้ำ ลำคลอง เส้นทางที่ใช้ภายในทวีป ได้แก่ แม่น้ำปารานา
                              ทะเล มหาสมุทร สามารถเดินเรือสมุทรกับทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปผ่านทางด้านชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก




                    3. ทางอากาศ ประเทศบราซิลและอาร์เจนตินาได้สร้างท่าอากาศยานทั้งภายในและระหว่างประเทศที่ทันสมัยหลายแห่ง ส่วนประเทศอื่น ๆ แม้จะมีการใช้เครื่องบินน้อยกว่า แต่ก็ยังต้องพึ่งพาการคมนาคมทางอากาศ
 


 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th