บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 173.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





1. ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปและแอฟริกา
          ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรป เกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วและการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น และมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสารพิษและขยะจำนวนมาก
                    – ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนใหญ่ตัดเพื่อการค้า หรือนำพื้นที่ป่ามาทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นเขตที่อยู่อาศัย แหล่งอุตสาหกรรม และสร้างเส้นทางคมนาคม ซึ่งมีผลกระทบ ได้แก่ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ค.ศ. 2002 และ ค.ศ. 2006 และทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เพราะขาดต้นไม้ดูดซับควันพิษ
                    – ปัญหามลพิษทางอากาศ การนำไม้มาทำเชื้อเพลิง ทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลาย ซึ่งควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากรถยนต์ที่มีมากขึ้นทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีผลกระทบ ได้แก่ ปริมาณสารพิษในอากาศมีมากจนเยาวชนที่อยู่ทางเหนือของสาธารณรัฐเช็กต้องย้ายที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 1 เดือนของทุกปี เพื่อรักษาสุขภาพ และยังกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย
                    – ปัญหาฝนเป็นพิษ หรือฝนกรด เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปผสมกับไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีผลกระทบ ได้แก่ ทำลายพื้นที่ป่าไม้ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดในที่ราบสูงแบล็กฟอเรสต์ในเยอรมนี ฝนกรดยังได้ทำลายโบราณสถานต่าง ๆ ในกรีซ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี นอกจากนี้ทะเลสาบหลายแห่งในสวีเดนและทางใต้ของนอร์เวย์เป็นพิษจากสารพิษในชั้นน้ำแข็ง


                   


                    – ปัญหาภาวะโลกร้อน เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกสูง ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบ ได้แก่ คลื่นความร้อนในทวีปยุโรป น้ำแข็งบนเทือกเขาละลาย การพังทลายของพื้นที่ชายฝั่งทะเล
                    – ปัญหามลพิษทางน้ำ เกิดจากการทิ้งสิ่งแปลกปลอมต่างๆลงในน้ำ ซึ่งมีผลกระทบ ได้แก่ อิตาลี กรีซ สเปน ฝรั่งเศส มีแนวชายหาดสกปรก และปนเปื้อน ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศชายฝั่ง สัตว์น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แม่น้ำที่ไหลออกสู่ทะเลเหนือมีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ สาธารณรัฐเช็กแหล่งน้ำบางแหล่งสัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ และมีน้ำเน่าเสียซึมลงไปในดิน ทำให้ประชากรขาดแคลนน้ำสะอาด
                    – ปัญหาพลังงานขาดแคลน การเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่ม ซึ่งมีผลกระทบ ได้แก่ มีการนำเข้าพลังงานมาก ซึ่งทำให้ราคาของพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชากร แต่พลังงานเชื้อเพลิงเริ่มลดลง ทำให้ยุโรปจึงเริ่มหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
          ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปแอฟริกา
                    การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน ทุ่งหญ้าลดลงเรื่อย ประกอบกับการทำการเกษตรที่ผิดวิธี ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ต่อมามีการนำไม้มาทำเป็นถ่านส่งออก จึงมีการตัดไม้มากขึ้น ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน และปัญหาอื่น และเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด ได้แก่




                              – ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ
                              – การขยายตัวของพื้นที่ทะเลทราย
                              – ภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
                              – หิมะละลาย
                              – ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ




2. สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมของทวีปยุโรปและแอฟริกา
          สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปยุโรป ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และค้นหาทางเลือกใหม่ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ได้แก่
                    – ระบบการเกษตรชีวภาพ เป็นการทำการเกษตรอินทรีย์ และ พืชที่ใช้ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งการเกษตรแบบชีวภาพยังช่วยทำให้สภาพดินมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และมีความหลากหลายทางชีวภาพ
                    – ลัทธิบริโภคนิยมลดลง ประชากรในทวีปยุโรปยึดติดกับค่านิยมทางวัตถุมาก จึงนำวัสดุที่ย่อยสลายง่ายมาใช้เพื่อให้ผู้บริโภคได้เริ่มใส่ใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการใช้รถสาธารณะหรือใช้จักรยานในการเดินทาง และพักอาศัยร่วมกับธรรมชาติมากขึ้น
                    – ระบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน โดยวางนโยบายจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดระบบภาษีพลังงาน และภาษีคาร์บอน
          สิ่งแวดล้อมใหม่ทางสังคมในทวีปแอฟริกา เน้นที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยแล้ง ได้แก่
                    – เขื่อนอัสวาน ทำให้เกิดทะเลสาบขนาดใหญ่เรียกว่า ทะเลสาบนัสเซอร์ ซึ่งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญของอียิปต์ ใช้อุปโภคบริโภค เพาะปลูก และช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง มีการผลิตกระแสไฟฟ้าแทนพลังงานเชื้อเพลิง




                    – การเกษตรเพื่อความอยู่รอด โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยดัดแปลงพันธุกรรมข้าวให้ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็ม และประเทศมาลีได้นำระบบวนเกษตรเข้ามาช่วยธัญพืชโดยปลูกพืชต้นไม้ใหญ่ รากไม้จะช่วยชะลอการพังทลายของหน้าดิน
                    – การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ประชากรในทวีปแอฟริกามีความพยายามที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อม และ มีการปลูกฝังให้มีความรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม

3. แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรปและแอฟริกา
          ทวีปยุโรปกับแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่
                    นโยบายสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปจัดทำกรอบนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จัดตั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมยุโรป จัดทำยุทธศาสตร์แห่งความร่วมมือระหว่างยุโรป-เอเชียด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญของสหภาพยุโรปในปัจจุบันมีดังนี้
                    แผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม มีหัวข้อสำคัญ ได้แก่
                              – ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นการออกโครงการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
                              – ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการรักษาระบบนิเวศ และบังคับก่อนทำการใดต้องนึกถึงผลกระทบเกิดกับความหลากหลายทางชีวภาพ
                              – สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิต เป็นการป้องกันการเกิดมลพิษและหาทางกำจัดสารพิษตามระเบียบการจำกัดการใช้สารเคมีอันตราย เพื่อควบคุมการผลิต การใช้ และการจำหน่ายสารเคมีอันตราย
                              – ทรัพยากรธรรมชาติและของเสีย เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและของเสียตามระเบียบ WEEE ระเบียบ Eco-design และ Eco-labelling

          การใช้พลังงานทดแทน ต้องอยู่ในการควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัย ความมั่นคง
                    – พลังงานลมเป็นพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
                    – สหภาพยุโรปได้ออกกฎควบคุมการใช้สารทำลายโอโซน โดยระบุชื่อสารเคมีที่ใช้ในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ทำความร้อน ออกนโยบายเกษตรร่วม ออกนโยบายประมงร่วม และ ออกกฎควบคุมการนำเข้าไม้ผิดกฎหมาย แต่นโยบายยังไม่สำเร็จ เพราะขัดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

          ข้อตกลงโคเปนเฮเกนกับบทบาทของสหภาพยุโรป
                    ข้อตกลงโคเปนเฮเกน เป็นข้อตกลงที่ว่าด้วยการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และประเทศที่ร่ำรวยต้องช่วยเหลือการเงินของประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในระยะแรก ซึ่งเป็นข้อตกลงในการประชุมเจรจาอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เพราะยังไม่มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เหมาะสมและไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนหลังจากพิธีสารเกียวโต ทำให้ข้อตกลงนี้ไม่ได้รับการยอมรับ

          ทวีปแอฟริกากับความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
                     มีบางประเทศในทวีปแอฟริกาได้จัดทำโครงการเพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม มีการจัดพื้นที่คุ้มครองในอุทยานและเขตสงวน มีการจัดโครงการเจ้าหน้าที่อุทยานน้อย เพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนในเรื่องการช่วยเหลือและดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนุสัญญาเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพิธีสารเกียวโต ได้มีประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริการ่วมลงนาม แต่มีบางประเทศให้การลงนามแต่ไม่รับพิธีสารเกียวโต

4. ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรปและแอฟริกา
          ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก
                    – การกัดเซาะชายฝั่ง ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ชายฝั่งหดหายได้ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนถูกกัดเซาะและกดตัวลง ซึ่งเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดิน เนื่องจากมีการสูบน้ำบาดาล และการขาดดินตะกอนตกทับถม
                    – แมลงและพาหะนำโรคระบาด เพราะการที่โลกร้อนทำให้เชื้อโรคและสัตว์ที่เป็นพาหะขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้เร็ว
                    – ฤดูเปลี่ยนแปลง ในฤดูฝนฝนตกน้อย หรือบางพื้นที่เกิดฝนแล้งเป็นระยะเวลานาน และเมื่อเกิดพายุก็เกิดน้ำหลากอย่างรุนแรง
                    – ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะโลกร้อนทำให้เกิดพายุในทะเลจีนใต้มากขึ้น โดยทำให้ไทยเกิดพายุจากทะเลจีนใต้บ่อยขึ้น

          ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในทวีปยุโรป นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดที่สหภาพยุโรปออกมานั้น มีผลกระทบกับการเจริญเติบโตในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย ดังนี้
                    – ผลกระทบจากระเบียบ WEEE และ RoHS ไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองตามระเบียบทั้งสองนี้ ทำให้สินค้าของไทยที่ไม่ผ่านมาตรฐานของสหภาพยุโรปถูกส่งกลับ ส่งผลให้ไทยมีการสะสมขยะอันตรายมากขึ้น
                    – ผลกระทบจากโครงการ Eco–labelling สหภาพยุโรปจะประทับตรา EU Flower ให้แก่ผลิตภัณฑ์และ สถานที่ท่องเที่ยวที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ผ่านเงื่อนไข แต่ในไทยมีเพียงสินค้าจากบริษัทสิ่งทอ 4 บริษัทที่ได้รับตราประทับเท่านั้น
          การซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรป ทำให้ไทยมีรายได้มากขึ้นจากการซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซของประเทศอุตสาหกรรม
 


 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th