ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. หลักการและเป้าหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณา 5 ประการ คือ
– กรอบแนวคิด จะเน้นการรอดพ้นจากวิกฤตเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน
– คุณลักษณะ จะเน้นการปฏิบัติทางสายกลางและพัฒนาเป็นขั้นตอน
– คำนิยาม มี 3 คุณลักษณะ ได้แก่ พอประมาณ มีเหตุผล และ ภูมิคุ้มกัน
– เงื่อนไข จะต้องมีความรู้และคุณธรรม เพื่อตัดสินใจหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
– แนวทางปฏิบัติ การปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้การพัฒนาสมดุล ยั่งยืนและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
2. การผลิตสินค้าและบริการในท้องถิ่น
ในชุมชนจะมีการรวมกลุ่มกัน นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์คุณค่าสินค้าและบริการ ทำให้คนในชุมชนเกิดรายได้ ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาประเทศ
แนวทางการผลิตสินค้าและบริการในท้องถิ่น การรวมกลุ่มในท้องถิ่น เพื่อทำให้เกิดรายได้และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้สมาชิก ซึ่งมี 2 ลักษณะ ได้แก่ กลุ่มอาชีพที่ไม่เป็นนิติบุคคล และ เป็นนิติบุคคล โดยกลุ่มอาชีพมีกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการในท้องถิ่น 2 ด้าน ได้แก่
– ด้านการเกษตร เป็นการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ และมีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
– ด้านอุตสาหกรรมในครัวเรือนและหัตถกรรมไทย มักเป็นงานประณีต และ สวยงาม
ปัญหาการผลิตสินค้าและบริการในท้องถิ่น การเปลี่ยนการผลิตเพื่อยังชีพมาเป็นเพื่อการค้า ทำให้เกิดปัญหาในท้องถิ่น 2 ด้าน ดังนี้
ด้านการเกษตร ได้แก่
– ปัญหาความไม่แน่นอนของราคาและปริมาณผลผลิต
– ปัญหาความยากจนของเกษตรกร
– ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน
– ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากภาวะโลกร้อน
– ปัญหาความไม่รู้
– ปัญหาการขาดตลาดรับซื้อสินค้า
ด้านอุตสาหกรรมในครัวเรือนและหัตถกรรมไทย ได้แก่
– ปัญหาการขาดความรู้
– ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน
– ปัญหาการขาดตลาดรับซื้อสินค้า
– ปัญหาการขาดการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
– ปัญหาการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมที่เร็วไป
3. การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการผลิตสินค้าและบริการ
แนวทางการดำเนินงานของทฤษฎีใหม่ ดังนี้
เศรษฐกิจพอเพียงกับการผลิตด้านการเกษตร จะพัฒนาเป็นขั้นตอน และลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
– ขั้นที่ 1 การผลิต การขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำจะแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ
– ขั้นที่ 2 การรวมพลังในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ให้เกษตรกรช่วยเหลือกัน
– ขั้นที่ 3 การติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน ให้ชุมชนร่วมมือกับองค์กรอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้การผลิตต้องนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับระบบการผลิตโดยให้คุณค่ามากกว่ามูลค่า ซึ่งการผลิตที่ดีทำได้ดังนี้
– เกษตรพอเพียง เป็นการเกษตรเพื่อยังชีพ หากเหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้
– การเพิ่มรายได้ เป็นการใช้ทรัพยากรในครัวเรือนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้มีรายได้เสริมนอกจากการทำเกษตร
– การขยายโอกาส เป็นการพัฒนาศักยภาพของครอบครัว และชุมชน
เศรษฐกิจพอเพียงกับการผลิตด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีลักษณะสำคัญคือ
– ขั้นที่ 1 การผลิต เป็นแบบยังชีพ หากมีเหลือจึงขาย
– ขั้นที่ 2 การรวมพลังในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ทำให้มีเศรษฐกิจชุมชน
– ขั้นที่ 3 การติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน จะเชื่อมโยงกับบริษัทและธุรกิจขนาดใหญ่ และ การส่งออก
การนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับทรัพยากรการผลิต สรุปได้ดังนี้
– ด้านทุน ไม่มีการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบ ทำให้สถาบันการเงินไม่เชื่อถือ จึงต้องใช้เงินทุนของตนเองเป็นสำคัญ
– ด้านที่ดิน ประสบปัญหาที่ดินในทำเลที่เหมาะสมรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือ ขณะเดียวกันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องหาทำเลที่เหมาะสมและไม่ลงทุนเกินกำลัง และร่วมมือกับธุรกิจที่มีช่องทางจำหน่ายในทำเลที่เหมาะสม
– ด้านวัตถุดิบ จะใช้วัตถุดิบในประเทศ เน้นการผลิตที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตและการขาดดุลการค้า
– ด้านเครื่องจักร จะเน้นเครื่องมือที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และแรงงานคนผลิตสินค้าเป็นหัตถกรรม
– ด้านบุคลากร ใช้ทักษะความรู้บุคลากรในท้องถิ่น ทำให้แรงงานไม่อพยพย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th