บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง เศรษฐศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 93.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





1. การผลิตสินค้าและบริการ
ความหมาย และความสำคัญของการผลิตสินค้าและบริการ
          การผลิต หมายถึง กระบวนการรวบรวมปัจจัยการผลิต ซึ่งผู้ผลิตมุ่งหวังผลตอบแทน ผู้ผลิตจึงต้องตั้งเป้าหมายในการผลิต และการผลิตจะต้องผ่านกรรมวิธีที่มีประสิทธิภาพ
          สินค้า หมายถึง สิ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
                    – สินค้าไร้ราคา หรือ ทรัพย์เสรี เป็นสินค้าที่มีในธรรมชาติที่ได้มาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
                    – สินค้าทางเศรษฐศาสตร์ หรือ เศรษฐทรัพย์ เป็นสินค้าที่มีปริมาณที่จำกัดและมีราคาซื้อขาย
          ขั้นตอนการผลิตสินค้า แบ่งเป็น 3 ขั้น ดังนี้
                    – การผลิตขั้นปฐมภูมิ ผลผลิตที่ได้จะกลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่นต่อ
                    – การผลิตขั้นทุติยภูมิ จะนำผลผลิตขั้นปฐมภูมิมาผลิตสินค้าใหม่
                    – การผลิตขั้นตติยภูมิ เป็นการส่งผลผลิตจากขั้นต่างๆ ให้กับผู้บริโภค
          บริการ หมายถึง การผลิตที่จับต้องไม่ได้ แต่สนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
                    – การบริการส่วนบุคคล เป็นการบริการผู้บริโภคโดยตรง
                    – การบริการส่วนธุรกิจ เป็นการบริการธุรกิจโดยตรง




          หลักการผลิตสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่จำกัด ผู้ผลิตจึงต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทำได้ดังนี้
                    – ด้านบุคลากร โดยแบ่งงานให้บุคคลที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ
                    – ด้านการจัดการ เป็นการวางแผนและควบคุมการผลิตให้บรรลุเป้าหมาย
                    – ด้านปัจจัยการผลิต เป็นการคัดเลือกปัจจัยการผลิตเพราะปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อต้นทุนการผลิต

2. ปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการ
ความหมายและประเภทของปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการ
          ปัจจัยการผลิต เป็นสิ่งที่ใช้ผลิตสินค้าและบริการ โดยผ่านกระบวนการผลิต แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
                    – ที่ดิน มี ค่าเช่า เป็นผลตอบแทน
                    – แรงงาน มีค่าจ้าง หรือ เงินเดือน เป็นผลตอบแทน
                    – ทุน มีดอกเบี้ย เป็นผลตอบแทน
                    – ผู้ประกอบการ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการผลิต และตัดสินใจ มีกำไร เป็นผลตอบแทน







          ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการผลิตสินค้าและบริการ ผู้ผลิตจะต้องเลือกใช้ทรัพยากร โดยมีหลักการดังนี้
                    – ปัจจัยทางด้านทุน ต้องพิจารณาว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่
                    – ปัจจัยทางด้านความคุ้มค่า จะต้องใช้ปัจจัยการผลิตที่ประหยัดที่สุด
                    – ปัจจัยด้านคุณธรรม การเลือกใช้ทรัพยากรต้องระวังผลกระทบที่อาจเกิดกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ
          เทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการ
                    ความหมายของเทคโนโลยี หมายถึง ความรู้และการถ่ายทอดความรู้การใช้ทรัพยากรมาผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้
                    แหล่งที่มาของเทคโนโลยี
                              – ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง ความรู้ความสามารถของมนุษย์ ซึ่งพัฒนาได้ด้วยการศึกษาและฝึกอบรม
                              – เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต หมายถึง ความสามารถในการผลิต
                    การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้
                    การใช้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการ มีผลต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนี้
                             – ผลที่มีต่อผู้ผลิต จะประหยัดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
                             – ผลที่มีต่อผู้บริโภค จะซื้อสินค้าและบริการได้ในราคาที่ต่ำลง







          การผลิตสินค้าและบริการในท้องถิ่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำเพื่อให้นำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้กระบวนการการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
                    โครงสร้างการผลิตของไทย แบ่งได้ 3 สาขา คือ
                              – ภาคเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดที่สำคัญของสินค้าภาคอุตสาหกรรม
                              – ภาคอุตสาหกรรม ราคาสินค้าอุตสาหกรรมค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน
                              – ภาคบริการ จะช่วยเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น




                    ปัญหาที่เกิดจากการผลิต
                              – ภาคเกษตรกรรม ประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตรกรรมต่ำ เพราะขาดแคลนเงินทุน
                              – ภาคอุตสาหกรรม สินค้าของไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะต้องพึ่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ขาดแคลนเงินทุน และ ถูกเอาเปรียบ
                              – ภาคบริการ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ไทยมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
                  การวิเคราะห์ทุนในการผลิต ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 กำหนดทุนการผลิต 3 ด้าน ดังนี้
                              – ทุนทางสังคม ได้แก่ คน องค์ความรู้ วัฒนธรรม และสถาบัน การสร้างความเข้มแข็งชุมชนและสังคม
                              – ทุนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ทุนทางกายภาพ ทุนการเงิน ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และแรงงาน การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและการกระจายผลประโยชน์
                              – ทุนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาบนรากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความมั่นคงของทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อม

3. การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
          ความหมายของผู้บริโภค ผู้บริโภคเป็นผู้ซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งผู้บริโภคต้องวางแผนซื้อสินค้า
          หลักการซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคควรพิจารณาก่อนซื้อสินค้าและบริการดังนี้
                    – ควรจะซื้ออะไร โดยทำบัญชีสิ่งของที่จะซื้อไว้ล่วงหน้า
                    – ควรจะซื้ออย่างไร โดยหากเป็นสินค้าเล็กน้อยจะจ่ายด้วยเงินสด แต่หากเป็นสินค้าราคาแพงจะซื้อด้วยระบบเงินผ่อน
                    – ควรจะซื้อเมื่อใด โดยซื้อของตามฤดูกาล ซื้อของลดราคา และ กำหนดเวลาซื้อ
                    – ควรจะซื้อที่ไหน โดยร้านค้าในปัจจุบันจำหน่ายสินค้าลักษณะต่างกัน




          การรักษาและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคไว้ว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงและมีสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และมีองค์กรอิสระจากหน่วยงานรัฐคุ้มครองและเป็นตัวแทนผู้บริโภค
                    พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายหลักที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภค 5 ประการ ดังนี้
                              – สิทธิที่จะได้รับข่าวสารทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
                              – สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
                              – สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
                              – สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
                              – สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
          กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้
                    กระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
                              – สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่ดูแลในเรื่องอาหาร ยา และเครื่องสำอาง
                              – สำนักงานแพทย์สภา รับร้องเรียนเรื่องการรักษาพยาบาล การบริการของแพทย์
                              – กองประกอบโรคศิลป์ รับร้องเรียนเรื่องการบริการของสถานพยาบาลภาคเอกชน
                    กระทรวงพาณิชย์ มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่นในภาวะคับขัน พ.ศ. 2488 พระราชบัญญัติราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติประกันภัย พ.ศ. 2535 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
                              – กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รับร้องเรียนเรื่องการชั่วตวงวัด
                              – กรมการค้าภายใน ดูแลด้านการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด
                              – สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ดูแลเรื่องการประกันภัยอุบัติเหตุ เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนให้ผู้บริโภค
                    กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าและการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
                              – กรมปศุสัตว์ ดูแลคุ้มครองเรื่องควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ ควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ และควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
                              – กรมวิชาการเกษตร ดูแลคุ้มครองเรื่องปุ๋ยและวัตถุอันตราย
                    กระทรวงอุตสาหกรรม มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคได้แก่ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
                              – สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับควบคุมคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าอุตสาหกรรม




                    กระทรวงคมนาคม มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
                              – กรมการขนส่งทางบก รับผิดชอบการคุ้มครองผู้บริโภค
                    กระทรวงมหาดไทย มีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2478 พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
                              – กรมโยธาธิการและผังเมือง ดูแลควบคุมและดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องการควบคุมอาคารและอาคารชุด
                              – การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดูแลควบคุมและดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องโรงแรม หอพัก และการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
                              – กรมที่ดิน ดูแลควบคุมและดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องการจัดสรรที่ดินและอาคารชุด
                    กระทรวงการคลัง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505
                    สำนักงานตำรวจท่องเที่ยว รับร้องเรียนเรื่องจากนักท่องเที่ยวที่ถูกหลอกลวง
                    สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่เดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ และยังมีกฎหมายอื่น ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ พ.ศ. 2495 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
                    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับร้องทุกข์และแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
                    แนวทางการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค
                              แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าหรือบริการ มีดังนี้
                                        – ผู้บริโภคต้องตรวจดูฉลากของสินค้า
                                        – สอบถามข้อเท็จจริงของสินค้าจากผู้ใช้จริง
                                        – ศึกษาเงื่อนไขหรือข้อจำกัดของสินค้า เพื่อให้ใช้สินค้าได้เต็มประสิทธิภาพและประหยัด
                                        – ร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณภาพและปริมาณสินค้าว่าเป็นจริงตามที่ระบุในฉลากหรือไม่
                                        – ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เกินจริง ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ผิดกฎหมายหรือศีลธรรม ทำให้เกิดความแตกแยก และข้อความอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
                              แนวทางปฏิบัติหลังจากซื้อสินค้าหรือบริการ ผู้บริโภคต้องเก็บรักษาพยานหลักฐานเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อเรียกร้องตามสิทธิของตน
                              การเตรียมตัวเพื่อร้องทุกข์สำหรับผู้บริโภค หากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ มีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
                                        – เตรียมเอกสาร หลักฐานของผู้ร้องเรียนให้ครบถ้วน โดยถ่ายสำเนาไว้ 5 ชุด
                                        – การยื่นเรื่องร้องเรียน โดยผู้บริโภคยื่นเรื่องร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (กรุงเทพฯ) หรือคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่
 


 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th