บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง กฎหมายและสิทธิมนุษยชน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 79.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 กฎหมายและสิทธิมนุษยชน

 

 

กฎหมายอาญา
     “กฎหมายอาญา” เป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดเป็นความผิดและกำหนดโทษแก่ผู้กระทำผิดนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยรัฐเข้ามามีส่วนใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรม
     การกระทำความผิดทางอาญา หมายถึง การกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิด ลักษณะการกระทำความผิดทางอาญาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. การกระทำความผิดโดยเจตนา เป็นกรณีของการกระทำความผิดที่รู้สำนึกและประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
2. การกระทำความผิดโดยประมาท เป็นกรณีการกระทำความผิดโดยไม่เจตนา แต่ได้กระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง หรือสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่
     ส่วนผู้กระทำความผิดทางอาญามี 2 ประเภท คือ ผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง และผู้ร่วมกระทำความผิด คือ กรณีของการกระทำความผิดที่ผู้อื่นร่วมกระทำความผิด จำแนกเป็น ตัวการ คือ บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ต้องระวางโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนด และผู้สนับสนุนการกระทำความผิด คือ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดทั้งก่อนและขณะกระทำความผิด ผู้สนับสนุนต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้ตามความผิดที่สนับสนุน


โทษทางอาญา
ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติโทษของผู้กระทำความผิดตามความร้ายแรงแห่งกรณี ดังนี้
1. ประหารชีวิต เดิมใช้วิธียิงเป้า ปัจจุบันใช้วิธีฉีดสารพิษเข้าสู่ร่างกายให้ตายตามที่ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ พ.ศ. 2546
2. จำคุก โดยนำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ
3. กักขัง โดยนำตัวไปขังไว้ที่ที่มิใช่เรือนจำ เช่น สถานกักกัน
4. ปรับ โดยการนำค่าปรับซึ่งเป็นเงินไปชำระแก่พนักงานหรือต่อศาลตามคำพิพากษา
5. ริบทรัพย์สิน โดยการนำทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดมาเป็นของแผ่นดิน
     บุคคลที่กระทำความผิดจะต้องรับโทษหรือไม่ต้องรับโทษ หรืออาจได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษตามประมวลกฎหมายอาญาตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1. การกระทำที่ไม่เป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ ได้แก่ กรณีการป้องกันตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย
2. การกระทำที่เป็นความผิด แต่ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ เนื่องจากมีเหตุอันสมควรที่กฎหมายยกเว้นโทษให้
3. การกระทำความผิดกรณีได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ได้แก่
     1) การบันดาลโทสะ เนื่องจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรม จึงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลอาจลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้
     2) มีเหตุอันควรปรานี เนื่องจากผู้กระทำความผิดตกอยู่ในความทุกข์สาหัส หรือมีคุณความดีมาก่อน หรือยอมรับสภาพ หรือรู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ศาลอาจลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง

 

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
     ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คือ ความผิดที่กระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นในกรณีต่าง ๆ ได้แก่ ความผิดฐานลักทรัพย์ ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ความผิดฐานชิงทรัพย์ ความผิดฐานกรรโชก ความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ความผิดฐานปล้นทรัพย์ (การชิงทรัพย์ที่มีผู้ร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป) ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และความผิดฐานบุกรุก

 

การดำเนินคดีอาญา
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา ได้แก่
1. ประชาชน ได้แก่ ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย พยาน นายประกัน และผู้เกี่ยวข้อง
2. เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ คือ ผู้มีอำนาจจับกุมและสอบสวนผู้กระทำความผิด
3. พนักงานอัยการ คือ ผู้มีอำนาจพิจารณากระทำจริงหรือไม่และฟ้องต่อศาล
4. ศาล คือ ผู้พิพากษา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี

 

 

 ศาลกำลังพิจารณาคดี

 

 

5. ราชทัณฑ์ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนใหญ่สังกัดอยู่ในกรมราชทัณฑ์ มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังจากที่ศาลพิพากษาคดีแล้ว เช่น ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างดำเนินคดี และทำตามคำพิพากษาของศาล
6. พนักงานคุมประพฤติ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่สืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับผู้กระทำผิดทั้งก่อนการพิพากษาคดีและหลังจากถูกลงโทษมาระยะหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลและความเห็นมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการพิจารณาพิพากษาของศาล และเพื่อสืบเสาะข้อมูลทางสังคมที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจของคณะกรรมการพักการลงโทษว่าผู้ต้องขังรายนั้นสมควรได้พักการลงโทษหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ควบคุมและสอดส่องความประพฤติผู้กระทำผิดเพื่อติดตามดูแลและช่วยเหลือผู้กระทำผิดในการแก้ไขและฟื้นฟูหรือป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำผิดอีก
     ขั้นตอนคดีก่อนขึ้นสู่ศาล หลังจากผู้เสียหายหรือผู้พบเห็นการกระทำผิดแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจะสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดและจับกุมผู้ต้องสงสัย ต่อจากนั้นจึงทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิด ทำการบันทึกการสอบสวนพยานบุคคล รวบรวมพยานวัตถุ พร้อมส่งสำเนาสอบสวนต่อพนักงานอัยการ
     การพิจารณาคดีในชั้นศาล พนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาล โดยพนักงานอัยการจะฟ้องผู้ต้องหาหลังจากมีการสอบสวนเสร็จแล้ว ขั้นตอนการพิจารณาคดีประกอบด้วย
     1. การสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม
     2. การนัดสอบคำให้การจำเลย หลังจากพนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาล หรือผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้อง (ศาลสั่งประทับฟ้องแล้ว) ศาลจะนัดสอบคำให้การจำเลย
     3. การสอบคำให้การจำเลย ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังในวันนัดสอบคำให้การจำเลย แล้วสอบจำเลยเรื่องทนาย พร้อมทั้งสอบถามว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยจะให้การรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธ หรือให้การภาคเสธก็ได้
     4. การพิจารณาพิพากษาคดี ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีทันทีที่จำเลยรับสารภาพ แต่หากจำเลยให้การปฏิเสธหรือให้การภาคเสธก็จะนัดสืบพยานต่อไป การสืบพยานในคดีอาญา โจทก์จะต้องนำพยานสืบก่อนเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย จากนั้นจำเลยจึงนำพยานเข้าสืบแก้ไขข้อกล่าวหาของโจทก์
     5. การอุทธรณ์และฎีกา โจทก์หรือจำเลยสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา และมีสิทธิยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่มีข้อควรพิจารณาว่าคดีดังกล่าวกฎหมายห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาหรือไม่
     6. การบังคับคดี เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลยแล้วต้องบังคำให้เป็นไปตามคำพิพากษา ได้แก่ ริบทรัพย์สิน ปรับ กักขัง จำคุก และประหารชีวิต


กฎหมายแพ่ง
     “กฎหมายแพ่ง” เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน เมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ผิดสัญญา ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถเรียกให้ผู้กระทำชดใช้ หรือฟ้องร้องคดีต่อศาล การกระทำผิดทางแพ่ง หมายถึง การกระทำที่ผู้กระทำผิดได้กระทำการอันเป็นความผิดทั้งโดยเจตนาหรือโดยประมาท ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล ผู้กระทำต้องถูกบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน ส่วนความรับผิดทางแพ่ง หมายถึง การที่ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากการที่ตนทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวมีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ความเสียหายตามที่เกิดขึ้น หากทำให้คืนสภาพเดิมไม่ได้ก็ต้องให้ใกล้เคียงมากที่สุด ที่มาของความรับผิดทางแพ่งมี 5 ลักษณะ คือ ความรับผิดในลักษณะละเมิด ความผิดในลักษณะสัญญา ความรับผิดในลักษณะการจัดการงานนอกสั่ง ความรับผิดในลักษณะลาภมิควรได้ และความรับผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

 

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

 

การทำผิดสัญญา
     สัญญา หมายถึง ข้อตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาเป็นนิติกรรมหลายฝ่ายที่มีลักษณะสำคัญ คือ ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ต้องมีการตกลงกัน และข้อตกลงดังกล่าวต้องก่อให้เกิดหนี้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ สัญญาย่อมเป็นนิติกรรมเสมอ แต่นิติกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสัญญาเสมอไป เช่น พินัยกรรม ที่เป็นการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียว เมื่อสัญญาเป็นนิติกรรม หลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมจึงใช้บังคับสัญญาด้วย
     สัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อคำเสนอและคำสนองตรงกัน คือ บุคคลฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสนอขอทำสัญญา และฝ่ายที่ได้รับคำเสนอตอบสนองรับทำสัญญานั้น เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ให้ไว้แก่กัน คู่สัญญาอาจเลิกสัญญากันได้ตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้แก่กัน หรือตามบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนการทำผิดสัญญา คือ การที่คู่สัญญากระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ผิดไปจากข้อตกลง มีผลให้ผู้กระทำต้องรับผิดในความเสียหายต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การผิดสัญญาแตกต่างจากการละเมิด กล่าวคือ การละเมิดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่การผิดสัญญาอาจไม่ผิดกฎหมาย หรือบางครั้งอาจเป็นการละเมิดด้วยเช่นกันหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ประเภทของสัญญา ได้แก่
     1) สัญญามีชื่อและสัญญาไม่มีชื่อ สัญญามีชื่อ (เอกเทศสัญญา) คือ สัญญาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเกิดสัญญา แบบของสัญญา สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา และการเลิกสัญญาไว้โดยเฉพาะ ส่วนสัญญาไม่มีชื่อ คือ ไม่มีชื่อบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     2) สัญญาต่างตอบแทนและสัญญาไม่ต่างตอบแทน สัญญาต่างตอบแทน คือ สัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ขึ้นระหว่างคู่สัญญา โดยต่างฝ่ายต่างต้องชำระหนี้ให้แก่กันและกัน เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างแรงงาน ส่วนสัญญาไม่ต่างตอบแทน คือ สัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้แก่คู่สัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีข้อผูกพันในการชำระหนี้ตอบแทนด้วยแต่อย่างใด เช่น สัญญาฝากทรัพย์โดยไม่มีบำเหน็จ สัญญาให้โดยเสน่หา
     3) สัญญาซึ่งต้องทำตามแบบและสัญญาซึ่งไม่ต้องทำตามแบบ สัญญาซึ่งต้องทำตามแบบ คือ สัญญาที่ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด เช่น ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ปฏิบัติตามจะตกเป็นโมฆะ เช่น สัญญาจำนอง ส่วนสัญญาซึ่งไม่ต้องทำตามแบบ คือ สัญญาซึ่งเมื่อคู่สัญญาตกลงกันด้วยปากเปล่าหรือด้วยกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว สัญญาก็จะเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้โดยไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด เช่น สัญญาจ้างแรงงาน และสัญญาขนส่ง เป็นต้น

 

การทำละเมิด
     การทำละเมิด หมายถึง การกระทำผิดกฎหมายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งความเสียหายนั้นอาจกำหนดเป็นจำนวนได้อย่างแน่นอนหรือไม่ก็ได้ ผู้ทำละเมิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายตามที่กฎหมายกำหนด

ความผิดในลักษณะละเมิดมีหลายประการ คือ
     1. ละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยตรง คือ บุคคลผู้ทำละเมิดทำละเมิดนั้นด้วยตนเอง
     2. ละเมิดเนื่องจากการกระทำของบุคคลอื่น บุคคลอื่นในที่นี้เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์บางประการกับตน
     3. ละเมิดเนื่องจากสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของตนไปสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น มีผลเสมือนว่าเจ้าของสัตว์ทำละเมิดนั้นโดยตรง
     4. ละเมิดเนื่องจากทรัพย์สินของตนที่อยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของตนก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น ผู้เป็นเจ้าของหรือครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวต้องรับผิดเสมือนว่าตนทำละเมิดต่อผู้นั้น

 

 

การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถผู้อื่นได้รับความเสียหายถือเป็นการทำละเมิด

 

 

ขั้นตอนการดำเนินคดีทางแพ่ง
     1. การยื่นฟ้องคดี โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาล
     2. การส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลย หลังจากศาลได้รับคำฟ้องแล้วจะออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายใน 7 วันนับแต่วันยื่นฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น
     3. การยื่นคำให้การแก้คดี เมื่อจำเลยรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้วต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่วันรับ
     4. การตรวจคำฟ้องและคำให้การและการชี้สองสถาน ศาลจะตรวจคำฟ้องและคำให้การของจำเลย สำหรับข้อที่โจทก์อ้างและจำเลยไม่ยอมรับจะกำหนดให้เป็นประเด็นข้อพิพาท แล้วให้โจทก์และจำเลยมีหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ตนกล่าวอ้าง เรียกว่า “การชี้สองสถาน” หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลจะมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัยยื่นคำให้การ และโจทก์สามารถยื่นคำขอภายใน 15 วัน เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดได้ แต่ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำร้องภายใน 15 วัน ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
     5. การนำพยานเข้าสืบตามประเด็นข้อพิพาท หลังจากศาลได้ชี้สองสถานและนัดสืบพยานแล้ว โจทก์และจำเลยต้องนำพยาน (พยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ) เข้ามาสืบเข้าสืบตามประเด็นข้อพิพาท
     6. การพิพากษาคดีของศาล จะกระทำหลังจากโจทก์และจำเลยสืบพยานเรียบร้อยแล้ว
     7. การอุทธรณ์และฎีกา โจทก์หรือจำเลยที่ไม่พอใจในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ และยื่นฎีกาต่อไปยังศาลฎีกา
     8. การบังคับคดี เมื่อศาลพิพากษาคดีและส่งคำบังคับให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หากฝ่ายแพ้คดีไม่ยอมปฏิบัติตาม คู่ความผู้ชนะคดีสามารถร้องขอบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้แพ้คดีให้ได้ผลตามคำพิพากษานั้น
นอกจากหน้าที่ในข้างต้นแล้ว ศาลยังมีอำนาจที่จะไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันไม่ว่าการพิจารณาคดีจะดำเนินไปแล้วเพียงใด

 

สิทธิมนุษยชน
     สิทธิมนุษยชน หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือกฎหมายของไทย และตามสนธิสัญญาที่ไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม มีขอบเขตครอบคลุมสิทธิในชีวิต และสิทธิในการดำเนินชีวิตและพัฒนาตนเองตามแนวทางที่ถูกต้อง

การมีส่วนร่วมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
     1. เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาสิทธิมนุษยชน
     2. ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและรับผิดชอบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน พร้อมทั้งรู้จักหวงแหนสิทธิที่พึงได้รับเพื่อเป็นพื้นฐานในการใช้สิทธิขั้นสูงต่อไป
     3. มีส่วนร่วมในการส่งเสริมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือหลักสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ
     4. เรียกร้องให้รัฐตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประชาชน
     5. เข้าชื่อเพื่อร่วมเสนอพระราชบัญญัติหรือร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและกฎหมายที่เกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
     6. ศึกษาหาความรู้เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง พร้อมที่จะปรับตัวต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และกระแสด้านสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ
     7. หากถูกละเมิดหรือพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่
ตำรวจ หน่วยการที่เกี่ยวข้อง หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อดำเนินการแก้ไข


องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

     1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอีก 6 คน ดำเนินการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในลักษณะต่าง ๆ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับผิดชอบงานธุรการ ทำหน้าที่รับคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการสืบสวนหรือตรวจสอบคำร้อง ศึกษา สนับสนุนการศึกษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตลอดจนประสานงานกับองค์กรที่มีบทบาทเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
     2. องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีจุดยืนอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความอยู่ดีกินดีของประชาชน ประกอบด้วยองค์กรหลัก 6 องค์กร คือ  
          1) สมัชชาใหญ่ (General Assembly) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การศึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประเทศสมาชิกและองค์การต่าง ๆ
          2) คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) รับผิดชอบงานด้านความปลอดภัยของประชาคมโลก เช่น แนะนำหรือวินิจฉัยให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงของกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นมีผลให้ภาคีสมาชิกปฏิบัติตาม
          3) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศ
          4) คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) ทำหน้าที่กำกับดูแลประเทศที่ปกครองในดินแดนภาวะทรัสตี บทบาทสำคัญ เช่น ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าและให้หลักประกันการปฏิบัติอันเท่าเทียมกันทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาของประชาชนที่อยู่ในความดูแลของคณะมนตรีภาวะทรัสตี
          5) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและพิจารณาตัดสินคดีความของประชาคมโลก โดยต้องได้รับความยินยอมจากคู่พิพาท
          6) สำนักงานเลขาธิการ (Secretariat Office) เป็นหน่วยสนับสนุนการดำเนินการของสหประชาชาติ ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ จัดประชุมองค์กรและคณะกรรมาธิการ เป็นผู้แทนร่วมประชุมกับองค์กรต่าง ๆ ทำรายงานประจำปีเสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติ และเสนอเรื่องที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศต่อคณะมนตรีความมั่นคง
     บทบาทขององค์การสหประชาชาติในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การจัดทำอนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อนำหลักของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาดำเนินการให้บังเกิดผลเป็นสิทธิตามกฎหมายซึ่งเป็นระบบและมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ได้แก่ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์การอาหรับเพื่อสิทธิมนุษยชน ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เครือข่ายผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอีสแอนฮอร์นแอฟริกา

 

Keyword  กฎหมายอาญา  กฎหมายแพ่ง  สัญญา  การทำละเมิด  สิทธิมนุษยชน

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th