ภาษาไทย ม. 3 เรื่อง การพัฒนาทักษะการฟังและการดู
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 282.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
 

 



หลักสำคัญในการฟังและการดู
   ๑. ความหมายของการฟังและการดู
   การฟังและการดูเป็นกระบวนการทำงานของประสาทหูและตาที่ส่งต่อไปยังสมองเพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และจดจำในสารเหล่านั้น โดยทั้งสองทักษะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้ข้อมูลปัจจุบัน
   
   ๒. ความสำคัญของการฟังและการดู

   การฟังเป็นทักษะที่ใช้มากที่สุด มีความสำคัญต่อการกลั่นกรองและไตร่ตรองสารจำนวนมากที่รับ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ขณะที่การดูนั้นเข้ามาช่วยต่อยอดทักษะการฟังเพื่อให้รับสารได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
   นอกจากนี้ การฟังยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการพูด เพราะทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้

       ๑. การพูดจะต้องมีผู้ฟัง จึงจะถือว่าเป็นการพูดที่สมบูรณ์
       ๒. การพูดมีความมุ่งหมายสำคัญ คือ สื่อความให้ผู้ฟังเข้าใจ
       ๓. ปฏิกิริยาจากผู้ฟังที่ดีมีมารยาทจะทำให้ผู้พูดมีกำลังใจและพูดได้ตรงตามวัตถุประสงค์
       ๔. การเป็นนักฟังมีส่วนช่วยให้เป็นนักพูด เพราะนักฟังเก็บความรู้ได้จากการฟังและสังเกตสิ่งที่ผู้อื่นพูด

   ๓. ศิลปะในการฟัง
   คนส่วนใหญ่รู้เพียงว่าการพูดเป็นศิลปะที่เรียกว่า วาทศิลป์ แท้จริงแล้วการฟังก็เป็นศิลปะเช่นกัน เพราะศิลปะการฟังจะช่วยให้ผู้พูดพูดได้อย่างลุล่วง หลักของศิลปะในการฟัง มีดังนี้
       ๑. แสดงให้ผู้พูดรู้สึกว่าผู้ฟังมีความมุ่งหมายและตั้งใจที่ฟัง
       ๒. สามารถโน้มน้าวให้ผู้พูดได้พูดเรื่องที่ตนถนัดที่สุด
       ๓. แทรกคำถามที่เหมาะสมกับโอกาส
       ๔. เปิดโอกาสให้ผู้พูดได้พูดอย่างเต็มที่
       ๕. เมื่อรู้สึกว่าผู้พูดหมดเรื่องที่จะพูด สามารถกระตุ้นให้ผู้พูดมีเรื่องที่จะพูดต่อไป

   ๔. ลักษณะของการฟังและการดูที่ดี
       ๑. มีมารยาทในการฟังและการดู แสดงความสนใจผ่านการตั้งคำถาม ยอมรับฟังความคิดเห็น และรู้จัก           ควบคุมอารมณ์
       ๒. ตั้งเป้าหมายในการฟังและการดู และพยายามทำให้ได้ตามความมุ่งหมาย
       ๓. เลือกฟังและดูแต่เรื่องที่มีประโยชน์ และเลี่ยงเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยใช้เหตุผลแยกแยะข้อเท็จจริง             และลงความเห็น
       ๔. รู้จักใช้ศิลปะในการฟัง
       ๕. บันทึกสาระสำคัญและประเด็นที่ควรซักถามเพิ่มเติม

   ๕. ความมุ่งหมายในการฟังและการดู
       ๑. เพื่อจับใจความสำคัญและใจความอันดับรอง
       ๒. เพื่อแยกส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
       ๓. เพื่อหาเหตุผลสนับสนุนความเชื่อและความขัดแย้ง
       ๔. เพื่อให้ซาบซึ้งในคุณค่าต่าง ๆ เช่น คุณค่าทางวรรณคดี คติธรรม หรือสุนทรียภาพทางดนตรี
       ๕. เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและความรู้
       ๖. เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน

 

 

มารยาทในการฟังและการดู
   มารยาทในการฟังและการดู คือ วิธีปฏิบัติขณะฟังหรือดูเพื่อความเป็นระเบียบ และได้รับประโยชน์สูงสุด            มีข้อปฏิบัติดังนี้
   ๑. เข้าไปนั่งก่อนการพูดหรือการแสดงจะเริ่มขึ้น และนั่งตามลำดับที่นั่งของตน
   ๒. ให้ความสำคัญและสนใจกับการฟังหรือดูผู้พูดหรือการแสดง โดยไม่ทำกิจกรรมอื่นรบกวนผู้พูด
   ๓. ปรบมือในโอกาสที่สมควร เช่น ช่วงเริ่มและจบการพูดหรือการแสดง
   ๔. ไม่แสดงกิริยาไม่พอใจหรือเบื่อหน่ายผู้พูดหรือสิ่งที่ดูอยู่ เช่น หาว ส่งเสียงฮา หรือกระทืบเท้า
   ๕. บันทึกข้อความที่สนใจหรือมีความสำคัญ
   ๖. ถ้ามีข้อสงสัยให้เก็บไว้ถามผู้พูดเมื่อผู้พูดเปิดโอกาสหรือจบการพูดแล้ว และควรถามอย่างสุภาพ



การพัฒนาประสิทธิภาพการฟังและการดู
   ๑. การจับใจความสำคัญและรายละเอียดของเรื่องที่ฟังและดู
   คือ การแยกแยะเรื่องที่ฟังหรือดูว่าส่วนใดเป็นใจความสำคัญ ใจความประกอบหรือพลความ ซึ่งช่วยให้ผู้ฟังหรือผู้ดูทราบว่าผู้พูดต้องการสื่ออะไร เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าเรื่องนั้น ๆ โดยหลักของการจับใจความสำคัญและรายละเอียดของเรื่องที่ฟังและดู มีดังนี้
       ๑. ตั้งใจฟังหรือดูตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะอาจมีการสรุปใจความสำคัญไว้ตอนกลางหรือท้ายเรื่อง
       ๒. พยายามจับประเด็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร
       ๓. พิจารณาประโยคใจความสำคัญ ซึ่งจะกล่าวถึงใจความสำคัญของเรื่องเอาไว้ ส่วนข้อความอื่น ๆ เป็นพลความที่นำมาใช้ขยายหรือสนับสนุนใจความสำคัญ
       ประโยคใจความสำคัญสามารถพบในตำแหน่งใดก็ได้ทั้ง ตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย แต่โดยมากมักพบในตอนต้นเรื่องเพื่อทำให้ผู้ฟังหรือดูรู้ว่ากำลังจะพูดเรื่องใด มีประโยชน์และขอบเขตอย่างไร

   ใจความสำคัญอยู่ตอนต้นเรื่อง
       เรือสำเภานับเป็นพาหนะที่มีบทบาทสำคัญยิ่งสำหรับการค้าขายทางทะเลของประเทศในดินแดนตะวันออก ภาพพ่อค้าชาติต่าง ๆ แล่นเรือสำเภาบรรทุกสินค้าและลูกเรือเต็มลำเรือนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างอาณาจักร เช่น พ่อค้าอินเดียที่ขนสินค้าจำพวกเพชร พลอย ผ้าแพร พรม และผลิตภัณฑ์จากงาช้างลงเรือสำเภาโล้มาทางเกาะลังกาข้ามมหาสมุทรอินเดียและมุ่งหน้ามายังแหลมทอง
       ประโยคใจความสำคัญของย่อหน้านี้ คือ เรือสำเภานับเป็นพาหนะที่มีบทบาทสำคัญยิ่งสำหรับการค้าขายทางทะเลของประเทศในดินแดนตะวันออก ส่วนข้อความอื่น ๆ เป็นประโยคประกอบ

   ใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายเรื่อง
       เมื่อผู้ทำความดีแก่โลกสิ้นชีวิตไปแล้วบางทีเราหล่อรูปไว้เป็นที่ระลึก ผู้ที่ได้ทำคุณแก่โลกโดยกล่าวหรือเขียนถ้อยคำอันเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั่วไปเราก็รักษาถ้อยคำเหล่านั้นไว้ในหนังสือและพิมพ์ขึ้นอ่านและเรียนกันตลอดไปทุกชั่วอายุ มิให้เสื่อมสูญและมิให้ลืมชื่อผู้ที่เป็นเจ้าของผลงานดังกล่าว ชาวเราย่อมนับถือและมีความกตัญญูต่อผู้มีคุณแก่โลก
       ประโยคใจความสำคัญของย่อหน้านี้ คือ ชาวเราย่อมนับถือและมีความกตัญญูต่อผู้มีคุณแก่โลก ส่วนข้อความอื่น ๆ เป็นประโยคประกอบ

       ๔. การบันทึกประโยคใจความสำคัญและประเด็นที่น่าสนใจ จะจดสั้น ๆ เพื่ออ่านและทบทวน
       การจับใจความสำคัญของเรื่องเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เข้าใจเรื่องมากขึ้น ทำให้ผู้รับสารได้รับสารประโยชน์และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร และยังนำไปเป็นแหล่งข้อมูลได้

 


   ๒. การสรุปความจากเรื่องที่ฟังและดู
   การสรุปความจากเรื่องที่ฟังและดู คือ การจับประเด็นเรื่องนั้น ๆ เพื่อรับรู้ถึงสารประโยชน์ตามที่ผู้ส่งสาร             ต้องการสื่อ มีหลักการดังนี้
       ๑. จับประเด็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
       ๒. แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น
       ๓. เรียงประเด็นที่สำคัญหรือมีประโยชน์ตามลำดับให้สละสลวย
       ๔. จดบันทึกและรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบ เพื่อให้นำไปได้ใช้ในแต่ละโอกาส

   ตัวอย่าง

ปรากฏการณ์ฝนกรด
 

       การใช้พลังงานความร้อนในการดำเนินกิจกรรมประจำวันของมนุษย์อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหุงหาอาหารทำกิน หรือการประกอบอาชีพทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ได้ก่อให้เกิดก๊าซต่าง ๆ มากมาย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และอื่น ๆ ก๊าซเหล่านี้ละลายน้ำได้เมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนจะทำปฏิกิริยากับก๊าซเหล่านี้ในอากาศทำให้เกิดเป็นน้ำฝนกรดตกลงมาสู่พื้นโลก มีผลกระทบทั้งด้านที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม น้ำใช้ ตลอดจนพืชเกษตรทั้งหลาย แม้กระทั่งผิวดินทำให้การปลูกพืชมีความผิดปกติด้านการเจริญเติบโตและสารตกค้าง
       ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า “ฝนกรด” น้ำฝนที่เป็นฝนกรดจะมีค่าพี.เอช. ต่ำกว่า ๕.๖ สารสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนกรดคือกรดกำมะถันและกรดไนตริกสาร ทั้งสองชนิดนี้เกิดจากกำมะถันและไนโตรเจนที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในบรรยากาศ ซึ่งอยู่ในรูปของออกไซด์ของซัลเฟอร์และออกไซด์ของไนโตรเจน สาเหตุโดยธรรมชาติที่ทำให้เกิดสารสองชนิดนี้ ได้แก่ การเผาไม้ ทำลายป่า ภูเขาไฟระเบิด หรือกิจกรรมการใช้พลังงานต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

       จากเรื่องสรุปความได้ว่า ฝนกรดเกิดจากการใช้พลังงานความร้อนของมนุษย์ ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้จากกำมะถันและไนโตรเจนทำปฏิกิริยากับออกซิเจนลอยอยู่ในอากาศ ก๊าซเหล่านี้สามารถละลายน้ำได้ เมื่อฝนตกลงมาก็จะละลายก๊าซ ทำให้เกิดเป็นฝนกรด ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

 


   ๓. การวิพากษ์วิจารณ์จากเรื่องที่ฟังและดู
   การวิพากษ์วิจารณ์ คือ การพินิจเรื่อง (สาร) เพื่อแสดงความคิดเห็นตามหลักเหตุผล มีหลักการดังนี้
       ๑. จับใจความของเรื่องที่ฟังให้ได้
       ๒. พิจารณาแยกแยะข้อเท็จจริงและความคิดเห็น และความมุ่งหมายของผู้พูด
       ๓. แยกแยะข้อความส่วนใดเป็นเหตุ - ผล และพิจารณาความน่าเชื่อถือของเรื่อง
       ๔. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังหรือดูอย่างสมเหตุสมผล

   ตัวอย่าง

       เรือนไทยเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ มีลักษณะโดดเด่น คือ ออกแบบให้มีใต้ถุนสูงหลังคาเป็นยอดแหลมมีโครงสร้างที่ไม่ใช้ตะปู แต่จะประกอบกันด้วยการเข้าเดือยทั้งหลัง
       ลักษณะเด่นของเรือนไทยทุกภาคจะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวแบบยกพื้น มักจะมีเรือนประธานและนอกชานเป็นหลักในหมู่เรือนอีกหลายหลัง ความสำคัญของนอกชานมีไว้เพื่อทำบุญเลี้ยงพระ บ้านส่วนใหญ่ยังนิยมเปิดโล่งไม่กั้นห้อง มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละภาค เช่น เรือนไทยภาคกลางจะมีใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนภาคเหนือจะมีกาแลเป็นจุดเด่นให้สังเกตง่ายและยังเป็นตัวแสดงฐานะของผู้อยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแกะสลักการฉลุ การกลึงเพื่อแสดงถึงความงามของเนื้อไม้และฝีมือทางช่างของคนไทย สิ่งเหล่านี้สามารถสะท้อนลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีความละเอียดอ่อน ความอ่อนช้อยในจิตใจ ซึ่งต่างจากลักษณะบ้านเรือนในปัจจุบันที่มักสร้างเป็นอาคารแบบยุโรปเป็นตึกสูง ๆ หลายชั้น ตัวอาคารติดกับพื้นดินไม่มีการยกพื้น ไม่มีใต้ถุน มีหน้าต่างมิดชิด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ พื้นที่มีน้อยจึงนิยมสร้างบ้านเป็นตึกสูง ๆ มีหลายชั้น เช่น แฟลตคอนโดมิเนียม เพื่อให้อยู่อาศัยได้จำนวนมาก ตัวอาคารก็ปกปิด อย่างมิดชิดเพื่อกันแดดกันฝนและกันขโมย
       การออกแบบบ้านเรือนในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศบ้านเมืองเรา เพราะเมืองเราเป็นเมืองร้อนอากาศอบอ้าวหากสร้างบ้านเรือนมิดชิดจะยิ่งร้อนอบอ้าวมากขึ้น ดังนั้นในการสร้างบ้านเรือนจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะเอกลักษณ์แบบไทย ๆ ที่เราควรจะอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
       จากข้อความอาจวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า ข้อความนี้กล่าวถึงลักษณะการสร้างบ้านเรือนของคนไทยแต่ละภาคในอดีต และแสดงความคิดเห็นถึงการสร้างบ้านเรือนในปัจจุบันว่าไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ แต่หากเราคิดในอีกมุมหนึ่งว่า สังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิถีความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไป อาคารบ้านเรือนจึงต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม แม้ว่าในปัจจุบันเรือนไทยแบบดั้งเดิมจะมีให้เห็นน้อย แต่เชื่อว่าคนไทยทุกคนภาคภูมิใจในศิลปะการสร้างบ้านเรือนไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน

 


   ๔. การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นจากเรื่องที่ฟังและดู
   การวิเคราะห์ คือ การคิดโดยแยกระหว่างข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น พิจารณาเจตนาของผู้พูด และความน่าเชื่อถือของสารอย่างมีสติ การวิเคราะห์นี้จะช่วยให้เราเป็นคนมีเหตุผล รู้จักพิจารณาไตร่ตรอง
 

   ลักษณะของข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
   ข้อเท็จจริง คือ ข้อความที่กล่าวถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ มีความสมเหตุสมผล
   ข้อคิดเห็น คือ ข้อความที่แสดงทรรศนะ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อส่วนตัว ที่สืบเนื่องมาจากข้อเท็จจริง ซึ่งผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น ผมเชื่อว่าคนไทยจะต้องรักและสามัคคีกัน

   ตัวอย่าง
       ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานความร้อนในธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง เป็นแหล่งพลังงานแห่งแรกของการเริ่มต้นในการมีสิ่งมีชีวิตบนโลกและเป็นแหล่งพลังงานสุดท้ายที่สิ่งมีชีวิตบนโลกมีใช้อย่างไม่มีวันหมด และเชื่อกันว่าเมื่อมนุษย์ใช้พลังงานจากแหล่งต่าง ๆ จนหมดหาสิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้แล้ว มนุษย์จะหันกลับมาใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์อีก
       จากข้อความดังกล่าวมีประเด็นที่ควรพิจารณา ดังนี้
       ข้อเท็จจริง ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานความร้อนในธรรมชาติที่สำคัญยิ่ง เป็นแหล่งพลังงานแห่งแรกของการเริ่มต้นในการมีสิ่งมีชีวิตบนโลก และเป็นแหล่งพลังงานสุดท้ายที่สิ่งมีชีวิตบนโลกมีใช้อย่างไม่มีวันหมด
       ข้อคิดเห็น และเชื่อกันว่า เมื่อมนุษย์ใช้พลังงานจากแหล่งต่าง ๆ จนหมด หาสิ่งอื่นมาทดแทนไม่ได้แล้ว มนุษย์จะหันกลับมาใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์อีก

   หลักการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นจากเรื่องที่ฟังและดู มีดังนี้
       ๑. ฟังหรือดูเรื่องราวให้ตลอด จับใจความสำคัญให้ได้
       ๒. พิจารณาแยกแยะเรื่องราวที่ฟัง โดยหาข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น
       ๓. แยกแยะข้อความ ค้นหาส่วนที่เป็นเหตุและส่วนที่เป็นผล
       ๔. อธิบายว่าผู้พูดมีวัตถุประสงค์หรือเจตนาในการพูดอย่างไร
       ๕. บอกว่าเรื่องที่พูดนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
       ๖. ขณะฟังหรือดูควรสังเกตท่าทาง น้ำเสียง ของผู้พูดเพื่อดูความสัมพันธ์ของท่าทางและเนื้อความ

 


   ๕. การฟังและการดูเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและความชื่นชม
   ความซาบซึ้งและชื่นชมที่เกิดจากการฟังและดูจะช่วยคลายความเครียด และยกระดับจิตใจ ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต มีหลักการดังนี้
       ๑. ฟังเรื่องราวให้ตลอด ทำความเข้าใจเรื่อง และจับใจความสำคัญของเรื่องให้ได้
       ๒. จินตนาการได้ตามเนื้อเรื่องที่ได้เห็นหรือได้ฟัง
       ๓. หาแนวคิดของเรื่องว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างไร
       ๔. พิจารณาว่าผู้พูดต้องการสอดแทรกความรู้สึกอะไรแก่ผู้ฟังหรือผู้ดู
       ๕. พิจารณาความเหมาะสมของการใช้ถ้อยคำว่ามีความไพเราะหรือเกิดภาพพจน์ชัดเจนหรือไม่

   ตัวอย่าง

                                              สิบเดือนอุ้มท้องพระ        ลอลักษณ์
                                          สงวนบ่ลืมตนสัก                หนึ่งน้อย
                                          ตราบพระปิ่นไตรจักร           เสด็จคลอด มานา
                                          ถนอมอาบอุ้มค้อยค้อย         ลูบเลี้ยงรักษา

                                                                                             (ลิลิตพระลอ)

 

   โคลงบทนี้แสดงให้เห็นถึงความเหนื่อยยากของแม่ที่ต้องอุ้มท้องและเฝ้าทะนุถนอมดูแลลูก

 


   ๖. การฟังและการดูเพื่อให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
    การสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์จากการฟังหรือดู จะให้ผลต่างกันตามปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ภูมิหลัง เพศ อายุ ประสบการณ์ เป็นต้น โดยสามารถนำไปใช้ในการผลิตผลงาน เช่น การเขียนเรียงความ นิทาน บทประพันธ์ ทั้งนี้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความหมั่นใฝ่รู้ ฝึกฝน สังเกตและคิดตาม ซึ่งมีหลักการ ดังนี้
       ๑. ฟังเรื่องราวให้ตลอด และจับใจความสำคัญให้ได้
       ๒. สรุปใจความสำคัญของเรื่องที่ฟังและดู
       ๓. พิจารณาหาคุณค่าของเรื่องที่ฟังและดู
       ๔. นำความคิดเดิมไปต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการเขียน การพูด หรือการกระทำก็ได้


   ตัวอย่าง

                                  เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน               ไปที่ถิ่นทำรังประนังนอน
                             บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้                  เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน
                             บ้างคลอเคล้าเข้าเคียงประเอียงอร       เอาปากป้อนปีกปกกกตระกอง
                             ไร้คู่อยู่เปลี่ยนตัวเดียวโดด                 ไม่เต้นโลดแลเหงาเหมือนเศร้าหมอง
                                                                                                (นิราศวัดเจ้าฟ้าของ สุนทรภู่)
 

   กลอนบทนี้ทำให้เห็นภาพเวลาเย็น ดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า มีหมู่นกบินกลับรังไปป้อนอาหารลูก ๆ ส่วนนกที่อยู่โดดเดี่ยวก็มีอารมณ์หงอยเหงา

 


   ๗. การประเมินค่าเรื่องที่ฟังและดู
   การประเมินค่า คือ การพินิจคุณค่าของสารที่รับว่าดีหรือไม่อย่างไร โดยอาจจะใช้แบบประเมินเป็นข้อ ๆ หรือองค์รวมในคราวเดียวก็ได้ ซึ่งหลักการประเมินค่าเรื่องที่ฟังและดู มีดังนี้
       ๑. จับให้ได้ว่าเรื่องที่ฟังนั้นให้ความรู้หรือความเพลิดเพลินอย่างไรบ้าง
       ๒. ผู้ฟังได้ความรู้เพิ่มเติมอะไรบ้าง
       ๓. ฟังได้ข้อคิดหรือคติสอนใจอะไรบ้าง
       ๔. เรียบเรียงความรู้ที่ได้มาใหม่อย่างเป็นลำดับขั้นตอน

   ตัวอย่าง
                                   วังเอ๋ยวังเวง                         หง่างเหง่ง ! ย่ำค่ำระฆังขาน
                              ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล            ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน
                              ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ        ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน
                              ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล              และทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย
                                                                   (กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้าของ พระยาอุปกิตศิลปสาร)
 

   กวีบรรยายภาพชีวิตของชาวนา เมื่อพระอาทิตย์เริ่มลับฟ้า ชาวนาและฝูงวัวควายก็เดินกลับอย่างเหนื่อยยาก อ่อนล้า ทุ่งนาสภาพร้างไร้ผู้คน และแสดงคุณค่าของอาชีพชาวนาที่น่ายกย่องในฐานะกระดูกสันหลังของชาติ



วิจารณญาณในการฟังและการดู
   ปัจจุบันการสื่อสารหลากช่องทาง ส่งผลให้สารอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ทุกขณะ เราจึงควรฟังและดูสารอย่างมีวิจารณญาณ โดยพินิจพิเคราะห์เนื้อแท้ของสาร วินิจฉัยสารว่าจริงหรือเท็จด้วยหลักเหตุผล รวมทั้งใช้ปัญญาและประสบการณ์ตีความสถานภาพและเจตนาของผู้ส่งสารร่วมด้วย ซึ่งมีหลักการดังนี้
   ๑. พิจารณาผู้ส่งสารว่ามีจุดมุ่งหมายและความจริงใจในการส่งสารเพียงใด
   ๒. พิจารณาผู้ส่งสารว่ามีความรู้ ประสบการณ์ หรือความใกล้ชิดกับเรื่องราวในสารนั้นเพียงใด
   ๓. พิจารณาผู้ส่งสารว่าใช้กลวิธีการส่งสารอย่างไร ใช้วิธีธรรมดาหรือซับซ้อนอย่างไร
   ๔. พิจารณาเนื้อหาของสารว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริงและส่วนใดเป็นข้อคิดเห็น
   ๕. พิจารณาเนื้อหาของสารว่ามีความเป็นไปได้และควรเชื่อเพียงใด

   ตัวอย่าง
       บางสิ่งมีค่าโดยไม่มีราคาและบางสิ่งมีราคาโดยไม่มีค่า แต่ทั้ง ค่า และ ราคาล้วนแต่เป็นคำที่โลกสมมุติขึ้นจะต่างกันก็ตรงที่ว่าเมื่อพูดถึง ราคาเราสัมผัสหรือวัดด้วยเงิน แต่เมื่อพูดถึงค่า เราวัดและสัมผัสมันด้วยใจด้วยความรู้สึก บางครั้งดอกไม้เล็ก ๆ ริมทางหรือน้ำเย็น ๆ สักขันที่หยิบยื่นด้วยใจก็เป็นสิ่งที่มีค่าต่อผู้รับอย่างประมาณมิได้ แม้มันจะไม่มีราคาค่างวด ตรงกันข้ามสุรานอกจิบละสองหมื่นขวดละสองแสนอย่างที่เคยเป็นข่าว แม้จะมีราคาสูงยิ่งแต่ก็มิแน่ใจว่ามันจะเปี่ยมด้วยค่าที่สัมผัสได้สักเสี้ยวหนึ่งของน้ำเย็นหนึ่งขันที่ไม่มีราคานั้น
       ในสังคมที่วัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยราคา เราจะพบว่าบุคคลที่มีราคาโดยไม่มีค่าและบุคคลที่มีค่าโดยไม่มีราคานั้นมีให้เห็นได้กลาดเกลื่อน จะเจ็บปวดอยู่บ้างก็ตรงที่คนที่มีราคานั้นเป็นที่ยอมรับมากกว่าคนที่มีค่าคนที่มีความรู้สูง ๆชนิดที่สามารถขายความรู้ความชำนาญได้ในราคาดีเป็นเงินเดือนเรือนหมื่นเรือนแสนเป็นที่ชื่นชมอยากจะเอาอย่างกัน โดยไม่มีคำถามว่าความรู้ราคาแพงหรือผลงานราคาแพงเหล่านั้นทำให้คนผู้นั้นมีค่าได้จริงหรือไม่ ในขณะเดียวกันบุคคลที่มีค่าแต่ไม่มีราคาเพราะไม่เคยขายความคิดหรือหลักการแม้จะมีผู้พยายามซื้ออยู่ตลอดเวลาก็ตามนั้นเป็นบุคคลที่สังคมเราตระหนักถึงมากน้อยแค่ไหนในเมื่อ ค่า ในยุคสมัยนี้สับสนปนเปเพราะวัดค่าด้วยราคาของเงินทั้งนั้น
       ตัวอย่างข้างต้น ผู้แต่งแสดงทรรศนะเกี่ยวกับคำว่า “ค่า” และ “ราคา” ที่มีความหมายต่างกัน โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ประกอบ จบด้วยข้อคิดให้ผู้อ่านตระหนักในความหมายของคำว่า “ค่า” ที่บิดเบือนไป



การฟังประเภทต่าง ๆ
   ๑. พระบรมราโชวาท
   การฟังพระบรมราโชวาท ผู้ฟังต้องจับสาระสำคัญให้ได้ว่าผู้พูดต้องการสั่งสอน แนะนำ หรือตักเตือนเกี่ยวกับสิ่งใด และสามารถนำประโยชน์ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร

   ตัวอย่าง

พระบรมราโชวาทในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน
และสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๙
 

       “ทหารนั้นอาจกล่าวได้ว่าได้ปฏิบัติตัวปฏิบัติงานมาด้วยดีทั้งในด้านยุทธการอันเป็นภารกิจโดยตรงของทหารและในด้านการพัฒนาสร้างสรรค์ให้ประชาชนมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นปกติสุข ตลอดจนช่วยเหลือบำบัดบรรเทาทุกข์ในยามที่เกิดภัยพิบัติเดือดร้อน ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจได้รับความศรัทธาเชื่อถือและร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางควรเป็นที่ประจักษ์ว่าแนวทางที่ทหารปฏิบัติตนปฏิบัติงานมานั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง จึงสมควรอย่างยิ่งที่ทหารทุกคนทุกตำแหน่งจะได้ถือเป็นกรณียกิจสำคัญที่จะต้องพยายามปฏิบัติให้ต่อเนื่องตลอดไป ทั้งตั้งใจพยายามปฏิบัติปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น...”
       พระบรมราโชวาทองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เหล่าทหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบตลอดมา ทำให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข และขอให้ทหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป



   ๒. คำปราศรัย
   คำปราศรัย คือ คำพูดของบุคคลสำคัญในโอกาสต่าง ๆ เนื้อความต้องมีความน่าสนใจ ใช้ภาษาสละสลวยและน่าฟัง ในการฟังคำปราศรัยนั้น ผู้ฟังต้องจับสาระสำคัญให้ได้ว่าพูดในโอกาสใด มีความสำคัญอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

   ตัวอย่าง

คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี
เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี........
 

       เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช........ วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมศกนี้ ผมขอเป็นตัวแทนของผู้ใหญ่ทุกคนส่งความรักความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังเด็กและเยาวชนของประเทศทุกคน
       วันเด็กแห่งชาติเป็นวันสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทของตนเองต่อชาติบ้านเมือง โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมและเตรียมพร้อมที่จะเป็นกำลังของชาติต่อไป ในสังคมไทยเราตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติมีการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพของชาติสามารถสร้างสรรค์จรรโลงสังคมไทยไปสู่เป้าหมายอันพึงปรารถนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจและตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองต่อภารกิจอันสำคัญดังกล่าวด้วย
       เด็กและเยาวชนนั้นจะต้องมีหน้าที่ทั้งต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่อสังคมส่วนรวม หน้าที่ต่อตนเองคือการศึกษาเล่าเรียน การหาประสบการณ์การสร้างวินัยและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่ชีวิต หน้าที่ต่อผู้อื่นคือการเชื่อฟังผู้ใหญ่ อันมีบิดามารดาครูอาจารย์ และญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น เด็กและเยาวชนต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณตั้งมั่นอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมจรรยา รู้จักช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือผู้อื่น และประหยัดอดออม ส่วนหน้าที่ต่อสังคมส่วนร่วมคือพยายามฝึกฝนตนเองให้มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และมีส่วนร่วมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม หากเด็กทุกคนสามารถประพฤติปฏิบัติได้ในหน้าที่สำคัญทั้ง ๓ ประการดังกล่าวนี้ ก็เชื่อมั่นได้ว่าอนาคตของชาติย่อมมีความเจริญมั่นคงตลอดไป
       นอกจากนี้สิ่งที่เด็ก ๆ ทุกคนพึงตระหนักก็คือในปัจจุบันโลกของเราเป็นโลกแห่งสิทธิเสรีภาพ เป็นโลกที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน และเป็นสังคมฐานความรู้ที่มีการใช้ความรู้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เป็นโลกแห่งการแข่งขันความสลับซับซ้อนและการติดต่อกับสังคมภายนอก ดังนั้นเด็กและเยาวชนนอกจากจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ต่อตนเองต่อผู้อื่น และต่อสังคมดังที่กล่าวมาแล้วยังต้องรู้จักปรับตัวให้ทันต่อโลกด้วยหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และติดตามข่าวสารของบ้านเมืองเพื่อให้สามารถก้าวทันข้อมูลและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ และมองความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตนเองและแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดอันจะก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป
       วันเด็กแห่งชาติปีนี้ผมได้ให้คำขวัญ เพื่อให้เด็กและเยาวชนนำคำขวัญนี้ไปปฏิบัติให้บังเกิดผลทั้งต่อตนเองและประเทศชาติบ้านเมือง เพราะการพัฒนาประเทศให้ได้ผลดีนั้นประชาชนต้องมีความรักชาติพร้อมที่จะเสียสละเพื่อชาติ และส่วนรวม ส่วนการรักพ่อแม่รักเรียนและรักสิ่งดี ๆ เป็นคุณสมบัติที่จะนำไปสู่ความเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีและมีอนาคตที่ดีต่อไป
       ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปีนี้ผมขออำนวยพรให้เด็กและเยาวชนไทยที่รักทุกคนมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งและมั่นคงเป็นเด็กยุคใหม่ที่มีอนาคตสดใสเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
       สาระสำคัญของคำปราศรัยนี้ คือ การให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นอนาคตที่ดีของชาติ รู้จักหน้าที่ของตนเอง ตลอดจนต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากเด็กทุกคนทำได้ดังนี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศเจริญมั่นคงต่อไป



   ๓. ข่าว
   การฟังหรือดูข่าวให้ประสบผลตามความมุ่งหมายมีหลักการดังนี้
       ๑. ตั้งเป้าหมายในการฟังหรือดูเพื่ออะไร ถ้าฟังหรือดูให้ทราบคร่าว ๆ อาจจะฟังหรือดูจากพาดหัวข่าวหรือสรุปข่าว แต่ถ้าเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ควรละเอียด และพิจารณาความน่าเชื่อถือ
       ๒. ตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ จับใจความสำคัญของข่าวให้ได้
       ๓. พิจารณาเนื้อข่าวก่อนเชื่อ เพราะข่าวอาจมีการแต่งเติมผิดไปจากความจริง ควรเทียบข่าวกับหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวอื่น ๆ
       ๔. พิจารณาว่าข่าวที่ฟังหรือดูมีประโยชน์และ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

   ตัวอย่าง 

วิงวอน ‘ยูเนสโกขึ้นบัญชีคุ้มครอง ‘เอเวอร์เรสต์
 

       ยูเนสโกเหล่านักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ยูเนสโกขึ้นบัญชีคุ้มครองเอเวอร์เรสต์ เหตุเพราะกำลังถูกคุกคามจากพิษภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
       โดยกลุ่มดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยนักปีนเขาสมาชิกกลุ่ม “เฟรนด์ออฟเอิร์ธ” และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดังจะยื่นหนังสือต่อองค์การยูเนสโกเพื่อให้ขึ้นบัญชีมรดกโลกที่กำลังเสี่ยงอันตรายต่อเทือกเขาเอเวอร์เรสต์ เนื่องจากกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันเทือกเขาสูงที่สุดของโลกแห่งนี้กำลังเสี่ยงต่อภาวะอุณหภูมิโลกร้อน ซึ่งทำให้เกิดน้ำแข็งละลายและทำให้ระดับน้ำในทะเลสาบเพิ่มขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง
       โดยหากสถานที่แห่งนี้ไม่ได้รับมาตรการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน อาจทำให้เกิดเหตุทะเลสาบในย่านเอเวอร์เรสต์พังทลายและกระทบต่อชีวิตราษฎรหลายหมื่นชีวิตและทำลายสภาพแวดล้อมของเทือกเขาแห่งนี้เองด้วย
       นอกจากนี้กลุ่มยังจะเสนอให้ยูเนสโกขึ้นบัญชีเกาะปะการังในเบลิซและทะเลน้ำแข็งในเปรูเพราะพิษอุณหภูมิโลกร้อนเช่นกัน
       นางแคทเธอลีน เพียซ โฆษกกลุ่ม “เฟรนด์ออฟเอิร์ธ” เผยว่าเป็นครั้งแรกที่เอเวอร์เรสต์ถูกเสนอให้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกที่เสี่ยงอันตราย ขณะที่นายปีเตอร์ ร็อดดิกผู้อำนวยการโครงการ “ไคเมตจัสติก” ชี้ว่ายูเนสโกจำเป็นจะต้องขึ้นบัญชีสถานที่เหล่านี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้คนและทำให้สถานที่เหล่านี้คงอยู่ต่อไปในอนาคต
                                                      (จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ หน้า ๔)
 

       จากบทความในข่าวทำให้ทราบว่านักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมมีการเรียกร้องให้ยูเนสโกขึ้นบัญชีคุ้มครองเทือกเขาเอเวอร์เรสต์เป็นมรดกโลกที่เสี่ยงอันตราย เพราะภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้ทะเลสาบบริเวณเทือกเขาเอเวอร์เรสต์พังทลายลงมา เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และทำให้สภาพแวดล้อมของเทือกเขาเสื่อมโทรม 



   ๔. สารประชาสัมพันธ์
   การประชาสัมพันธ์ เป็นรูปแบบการสื่อสารที่หน่วยงานใช้รายงานผลงาน เผยแพร่ข่าวสาร หรือสร้างค่านิยมที่ดีแก่สาธารณชน เนื้อความมีลักษณะเชิญชวนให้คล้อยตาม มีหลักการฟังและการดูดังนี้
     ๑. ฟังหรือดูอย่างตั้งใจ จับประเด็นสำคัญของเนื้อความว่าเป็นเรื่องอะไร จัดขึ้นที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
     ๒. ใช้วิจารณญาณในการฟังหรือดู เพราะสารประชาสัมพันธ์มีลักษณะเชิญชวนให้คล้อยตาม จึงต้องพิจารณาเรื่องความน่าเชื่อถือเป็นสำคัญ

   ตัวอย่าง
 



       สารประชาสัมพันธ์นี้บอกรายละเอียดได้อย่างชัดเจน ได้แก่ ชื่องาน ชื่อการแสดง ชื่อคณะการแสดง รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดง วันเดือนปี สถานที่จัดงาน หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อสอบถาม และค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ถือเป็นสารประชาสัมพันธ์ที่ดี เพราะสามารถทำให้ผู้ฟังทราบข้อมูลครบถ้วน



   ๕. บทความหรือสารคดี
   บทความ คือ งานเขียนที่มุ่งเสนอความคิดที่มาจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง อาจเจือข้อคิดเห็นของผู้เขียนบ้าง ส่วนสารคดี คือ งานเขียนที่มุ่งให้ความรู้ แต่อาจแทรกความบันเทิงร่วม การฟังหรือดูสารประเภทนี้เป็นการรับสารเพื่อความรู้ให้ก้าวทันโลก ดังนั้นผู้ฟังหรือดูจะต้องจับใจความของเรื่องและนำประโยชน์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้

   ตัวอย่าง

 งานไม่ใช่เงิน

       การประกอบธุรกิจต่าง ๆ เรียกว่า งาน คือหน้าที่หรือกิจการที่ต้องทำหมายความว่าการทำงานก็คือทำหน้าที่
       หน้าที่ของคนเราจะมีอะไรบ้างเป็นเรื่องที่ตอบยากด้วยคำจำกัด เพราะหน้าที่ของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน หน้าที่ของคนเพียงในครอบครัวพ่ออย่างหนึ่ง แม่อย่างหนึ่ง ลูกอย่างหนึ่ง คนใช้ก็อีกอย่างหนึ่งขยายออกไปถึงคนทั้งประเทศหน้าที่ก็ขยายออกไปอีก ซึ่งจะแยกประเภทของงานก็จะได้ ๒ ประเภท คือ งานส่วนตัวกับงานส่วนรวม
       งานส่วนตัวทำเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวและครอบครัว งานส่วนรวมเป็นงานสาธารณะเพื่อหมู่คณะเพื่อประเทศชาติ งานบางอย่างทำเพื่อได้มา บางอย่างทำเพื่อเสียสละ งานเพื่อเสียสละเป็นงานสันติโดยส่วนเดียว งานส่วนตัวไม่ใช่สันติโดยตรงแต่ถ้าเป็นงานดีก็เป็นทั้งสันติส่วนตัวและส่วนรวมคู่กันไป
       ผลงานนั้นเป็นเครื่องวัดระดับของคนบอกให้รู้ว่าเป็นคนดีหรือเลวมากน้อยเพียงไร ไม่ปรากฏจากหลักการใดว่างานคือเงินเพราะเงินเป็นเพียงผลพลอยได้จากงานเท่านั้น
       ทำงานทุกอย่างจงนึกถึงผลงานโดยตรง อย่าคำนึงเฉพาะแต่เงินเท่านั้นเพราะคนตื่นเงินนั้นย่อมประพฤติตนจนเป็นที่ดูหมิ่นของคนทั้งปวง
                                                                            (ตัดตอนมาจากหนังสือแสงธรรมของมูลนิธิ ก.ศ.ม.)

       บทความนี้ผู้เขียนเสนอความคิดเห็นเพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังคิดพิจารณาตนเองว่าอยากทำงานเพื่อผลงานหรือเพื่อเงิน ซึ่งผลงานจะเป็นตัววัดคุณค่าของคน ส่วนเงินเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น



   ๖. โฆษณา
   การโฆษณา คือ การสื่อสารโน้มน้าวใจเพื่อให้ซื้อสินค้าและบริการ แต่มักการกล่าวเกินจริง เราจึงรับสารอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเชื่อ ซึ่งหลักการฟังหรือดูโฆษณา มีดังนี้
       ๑. ฟังหรือดูด้วยความตั้งใจ
       ๒. เก็บรายละเอียดสินค้าเพื่อใช้เปรียบเทียบกับสินค้ายี่ห้อ หรือร้านอื่นในเรื่องคุณภาพ ราคา และบริการเสริมต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
       ๓. ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาข้อมูลของสินค้าว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่

   ตัวอย่าง

พิสูจน์ความมหัศจรรย์น้ำหนักลดลงได้ถึง ๑๐ กิโลกรัม
ภายใน ๒ วัน โดยคุณไม่ต้องทำอะไรเลย
เพียงโทรมาปรึกษาเราซิคะ “สลิมบี้ คลินิก”
๐–๒๙๐๘๗๑๗๐, ๐๒๙๐๘ ๗๑๑๕
ทุกวันตั้งแต่ ๑๐.๐๐–๒๐.๐๐น.
คุณจะหมดความกังวลใจทันทีถ้าคุณโทรหาเราตั้งแต่ตอนนี้
 
 

       โฆษณานี้ใช้ข้อความจูงใจเกินจริง คือ “น้ำหนักลดลงได้ถึง ๑๐ กิโลกรัมภายใน ๒ วัน โดยคุณไม่ต้องทำอะไรเลย” หากพิจารณาจะพบว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก โฆษณานี้จึงขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นผู้ฟังและผู้ดูจึงควรใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือก นอกจากนี้ในส่วนรายละเอียดของโฆษณาก็ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดสถานที่ให้บริการ และชื่อผู้ที่จะติดต่อ
       ทักษะการฟังและการดูควรหมั่นฝึกฝนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การพัฒนาตนเองและผู้อื่น นำไปสู่ความสำเร็จทุกด้านในการดำเนินชีวิต

 


สรุป
   การพัฒนาทักษะการฟังและการดูให้มีประสิทธิภาพต้องมีการใช้วิจารณญาณเป็นพื้นฐาน ภายใต้ความเพียรฝึกฝนการจับใจความ เก็บรายละเอียด และสรุปความ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ประเมินค่า ทั้งยังก่อให้เกิดความลึกซึ้งทางอารมณ์และจินตนาการทางความคิดเพื่อต่อยอดสิ่งอื่น


 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th