ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
กฎหมาย
กฎหมาย คือ ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของประชาชน หากฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษ
ประเภทของกฎหมาย
1. ประเภทที่แบ่งตามลักษณะการใช้กฎหมาย มี 2 ประเภท คือ กฎหมายสารบัญญัติ คือ กฎหมายที่กำหนดหลักการทั่วไปและบัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และ กฎหมายวิธีสบัญญัติ คือ บทกฎหมายที่จะนำกฎหมายสารบัญญัติไปปรับใช้ให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายผ่านทางเจ้าพนักงานของรัฐและศาล
2. ประเภทที่แบ่งตามข้อความในบทบัญญัติของกฎหมาย มี 3 ประเภท คือ กฎหมายมหาชน คือกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนของรัฐ ใช้บังคับและกำหนดความประพฤติของประชาชนโดยรวม เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายอาญา เป็นต้น กฎหมายเอกชน กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและเสมอภาค ว่าด้วยเรื่องสิทธิทางแพ่งซึ่งเป็นสิทธิทางกฎหมายที่เอกชนคนใดคนหนึ่งจะใช้กับเอกชนอื่น หรือกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่น ๆ ได้แก่ ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และ กฎหมายระหว่างประเทศ ใช้ประกอบหลักการและกฎเกณฑ์ความประพฤติที่รัฐต่าง ๆ รู้สึกว่าผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
3. ประเภทที่แบ่งตามลักษณะการจัดทำกฎหมาย มี 3 ประเภท คือ กฎหมายฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติ กฎหมายฝ่ายบริหาร ได้แก่ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง และ กฎหมายท้องถิ่น เป็นกฎหมายที่รัฐมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตราออกบังคับใช้ในท้องถิ่น เรียกต่างกันตามรูปแบบการปกครอง ได้แก่ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา
กระบวนการตรากฎหมาย
ขั้นตอนการตรากฎหมาย
1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองของประเทศ ซึ่งแยกรายละเอียดต่างหากเพื่อขยายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัติหรือวิธีการดำเนินงานปลีกย่อยจะกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับอื่น มีกระบวนการตรากฎหมายดังนี้
1) การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรับธรรมนูญ ผู้มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มี 3 กลุ่ม ได้แก่ คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะกระทำเป็น 3 วาระ คือ วาระที่ 1 รับหลักการ ด้วยวิธีลงคะแนน ให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา วาระที่ 2 พิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากของแต่ละสภา และวาระที่ 3 การออกเสียงลงคะแนนเสียงในวาระที่สาม ต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา
3) การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีขั้นตอน คือ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่วินิจฉัยว่าข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็ให้เป็นอันตกไป กรณีที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลทำให้ข้อความที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ให้ส่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นกลับคืนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาตามลำดับ กรณีดังกล่าวนี้ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2. พระราชบัญญัติ คือ กฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา มีขั้นตอนการตราดังนี้
1) การเสนอร่างพระราชบัญญัติ ผู้มีสิทธิเสนอมี 4 กลุ่ม คือ คณะรัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยและกฎหมายที่เกี่ยวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (กรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเงินจะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก่อน)
2) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รัฐสภา ใช้ระบบ 2 สภา คือ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 1 และ 2 และลงมติในวาระที่ 3 ให้ใช้ได้แล้ว ต้องเสนอต่อไปยังวุฒิสภาให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติวาระที่ 1–3 เสร็จแล้ว หากวุฒิสภาเห็นชอบด้วย ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย กรณีวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย ให้ยับยั้งไว้ก่อนและส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร และกรณีแก้ไขเพิ่มเติม ให้แต่ละสภาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน จำนวนเท่า ๆ กันตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด หากสภาทั้งสองเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วยให้ยับยั้งไว้ก่อน กรณีพระราชบัญญัติที่ถูกยับยั้งเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนราษฎรสามารถยืนยันได้ทันที แต่หากเป็นพระราชบัญญัติอื่น ๆ ต้องรอให้เกิน 180 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร การยืนยันเช่นนี้จะต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
3) ผู้ตราพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ด้วยคำแนะนำและยินยอมจากรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
4) การบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะทำได้ก็ต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
3. พระราชกำหนด คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ได้แก่ พระราชกำหนดทั่วไป และพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราหลักเกณฑ์การตราพระราชกำหนดทั่วไป คือ ในกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ ส่วนการตราพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราต้องอยู่ในระหว่างสมัยประชุม หรือมีความจำเป็น ความจำเป็นดังกล่าวต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน การตราพระราชกำหนดมีขั้นตอนดังนี้
1) การเสนอร่างพระราชกำหนด ผู้มีสิทธิคือ รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดเท่านั้น
2) การพิจารณาร่างพระราชกำหนด คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการ
3) การตราพระราชกำหนด พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนด
4) การใช้บังคับเป็นกฎหมาย จะทำได้ก็ต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
5) การอนุมัติพระราชกำหนด เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยเสนอร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดต่อรัฐสภา กรณีพระราชกำหนดทั่วไป ต้องนำเสนอรัฐสภาในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไปโดยไม่ชักช้า ส่วนพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา ต้องนำเสนอต่อรัฐสภาภายใน 3 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กรณีที่รัฐสภาอนุมัติ พระราชกำหนดจะมีผลเป็นพระราชบัญญัติ แต่หากไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นเป็นอันตกไป โดยไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น
6) การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพระราชกำหนด ก่อนที่รัฐสภาจะอนุมัติพระราชกำหนด หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด และประธานได้ส่งไปแล้ว เมื่อวินิจฉัยแล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยไปยังประธานแห่งสภาที่ส่งมา กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาแต่ต้น
4. พระราชกฤษฎีกา คือ กฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี หลักเกณฑ์การตราพระราชกฤษฎีกา มี 3 กรณี คือ การตราพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ การตราพระราชกฤษฎีกาโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้อำนาจกับฝ่ายบริหาร ไม่บังคับใช้แก่ประชาชนทั่วไป และไม่มีบทมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้โดยเฉพาะ และการตราพระราชกฤษฎีกาโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท (พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดหรือกฎหมายอื่นที่เทียบเท่า) ที่ใช้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้ ขั้นตอนการตราพระราชกฤษฎีกามีดังนี้
1) การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ผู้มีอำนาจเสนอพระราชกฤษฎีกาจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือรักษาการตามกฎหมายแม่บทที่บัญญัติให้ออกพระราชกฤษฎีกานั้น
2) การพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ผู้มีอำนาจหน้าที่ คือ คณะรัฐมนตรี
3) การตราพระราชกฤษฎีกา ผู้มีอำนาจหน้าที่ คือ พระมหากษัตริย์
4) การบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะทำได้ต่อเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
5. กฎกระทรวง คือ กฎหมายของฝ่ายบริหารที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด ได้ออกเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดนั้น พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดกำหนดหลักเกณฑ์ใหญ่ ๆ ไว้ให้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดต่อ (เรื่องที่สำคัญมากออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ส่วนเรื่องสำคัญรองลงมาออกเป็นกฎกระทรวง) การตรากฎกระทรวงมีขั้นตอนดังนี้
1) การเสนอร่างกฎกระทรวง รัฐมนตรีหรือผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดที่บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงนั้นเป็นผู้เสนอ
2) การพิจารณาร่างกฎกระทรวง คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา
3) การตรากฎกระทรวง โดยรัฐมนตรีหรือผู้ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดที่บัญญัติให้ออกกฎกระทรวงนั้น
4) การบังคับใช้เป็นกฎหมายหลังประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาแล้ว
6. ข้อบัญญัติท้องถิ่น คือ กฎหมายลำดับรองหรือกฎเกณฑ์ที่ออกโดยฝ่ายบริหารมอบอำนาจให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นออกกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับในท้องถิ่นได้ ข้อบัญญัติท้องถิ่นมี 5 ประเภท ดังนี้ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ กฎหมายที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดออกใช้บังคับภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา
การตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติอื่นหรือพระราชกำหนด ให้อำนาจองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ มีขั้นตอนการตรา คือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดเสนอร่างข้อบัญญัต จากนั้นสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจารณาร่างข้อบัญญัติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราข้อบัญญัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นชอบ ต่อจากนั้นจึงบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดไว้โดยเปิดเผยที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 15 วัน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน อาจใช้บังคับได้ทันทีในวันถัดจากวันประกาศนั้น
เทศบัญญัติ คือ กฎหมายที่เทศบาลออกบังคับใช้ในเขตเทศบาล ในการตราต้องมีพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และพระราชบัญญัติอื่นหรือพระราชกำหนดให้อำนาจเทศบาลตราเทศบัญญัติได้ ขั้นตอนการตราเทศบัญญัติ เริ่มต้นจากนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในเขตเทศบาล เสนอร่างเทศบัญญัติ จากนั้นสภาเทศบาลพิจารณาเทศบัญญัติ นายกเทศมนตรีตราเทศบัญญัติ ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นชอบ แล้วจึงใช้บังคับเป็นกฎหมาย ซึ่งจะมีผลก็ต่อเมื่อได้ประกาศเทศบัญญัติไว้โดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาลแล้ว 7 วัน แต่กรณีฉุกเฉิน อาจใช้บังคับได้ทันทีในวันที่ประกาศเทศบัญญัตินั้น ทั้งนี้ นอกจากจะมีกฎหมายกำหนดวิธีประกาศใช้เป็นอย่างอื่น
ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล คือ กฎหมายที่องค์การบริหารราชการส่วนตำบลออกใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ในการตราต้องมีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และพระราชบัญญัติอื่นหรือพระราชกำหนดให้อำนาจองค์การบริหารส่วนตำบลตราข้อบังคับองค์การบริหารส่วนตำบลได้ การตราข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เริ่มจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล เสนอร่างข้อบัญญัติ สภาองค์การบริหารส่วนตำบล พิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตราข้อบัญญัติ และนายอำเภอให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติ
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร คือ กฎหมายที่กรุงเทพมหานครออกใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานคร ในการตราต้องมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และพระราชบัญญัติอื่นหรือพระราชกำหนดให้อำนาจกรุงเทพมหานครตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครได้ โดยต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย ขั้นตอนการตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเริ่มจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ถ้าเป็นร่างข้อบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภากรุงเทพมหานครต้องได้รับคำรับรองจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอร่างข้อบัญญัติ สภากรุงเทพมหานครพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือประธานสภากรุงเทพมหานคร ตราข้อบัญญัติ (ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ดำเนินการ เมื่อร่างข้อบัญญัติผ่านขั้นตอนครบแล้ว) ต่อจากนั้นจึงบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะใช้ได้ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ข้อบัญญัติเมืองพัทยา คือ กฎหมายที่เมืองพัทยาออกบังคับในเขตเมืองพัทยา ในการตราต้องมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ให้อำนาจเมืองพัทยาตราข้อบัญญัติเมืองพัทยาได้ ขั้นตอนการตราข้อบัญญัติเมืองพัทยา เริ่มจากนายกเมืองพัทยา สมาชิกสภาเมืองพัทยา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยาเสนอร่างข้อบัญญัติ สภาเมืองพัทยาพิจารณาร่างข้อบัญญัติ นายกเมืองพัทยาตราข้อบัญญัติ จากนั้นจึงบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งจะใช้ได้ต่อเมื่อได้ประกาศไว้โดยเปิดเผยที่ศาลาว่าการเมืองพัทยาแล้ว 7 วัน เว้นแต่เป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายที่กำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันถัดจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรากฎหมายได้โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอชื่อกฎหมาย พ.ศ. 2542 ดังนี้
1. ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ
2. รูปแบบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ ต้องมีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยหรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบในการนำเสนอกฎหมาย มีบทบัญญัติแบ่งเป็นมาตราที่ชัดเจน มีหลักการ และวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย
สำหรับวิธีการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ กระทำได้ 2 วิธี คือ การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและครอบครัว ประกอบด้วย กฎหมายเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์ กฎหมายบัตรประจำตัวประชาชน และกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัว
กฎหมายเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์
ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (กฎหมายกำหนดให้บุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือด้วยการสมรสตามกฎหมาย) กฎหมายกำหนดความสามารถของผู้เยาว์ไว้ว่า
1. การสมรส ชายและหญิงต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้
2. การทำนิติกรรม ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เนื่องจากถือว่าผู้เยาว์ยังมีสติปัญญา ร่างกาย ความคิด และความรู้ไม่สมบูรณ์พอที่จะทำหน้าที่ด้วยตนเองโดยลำพัง
3. การทำการใด ๆ กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรม 3 ประเภท ได้แก่
1) นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้มาซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ประกอบด้วย นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้มาซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง เช่น เด็กรับเงินจากผู้ใหญ่ที่ให้ด้วยความเอ็นดู แต่มิได้รับความยินยอมจากผู้ชอบธรรม ถือว่าการรับเงินเช่นนี้เป็นไปเพื่อจะได้กรรมสิทธิ์ในเงิน โดยไม่มีเงื่อนไข นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เช่น เมื่อเด็กเป็นหนี้ผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ยอมปลดหนี้ให้ เด็กก็สามารถทำสัญญาปลดหนี้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน เนื่องจากเป็นนิติกรรมที่ทำให้เด็กพ้นจากหน้าที่ชำระหนี้
2) นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น ผู้เยาว์อยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนและมีบุตร สามารถจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรหรือแสดงพฤติการณ์รับรองเด็กเป็นบุตร โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็มีผลตามกฎหมาย
3) นิติกรรมที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีพของผู้เยาว์ ประกอบด้วย นิติกรรมที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีพตามสมควร ผู้เยาว์สามารถหาซื้อสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพปกติได้ และนิติกรรมที่เป็นการสมควรแก่ฐานานุรูปแห่งตน คือ เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และฐานะทางการเงิน
4. การทำพินัยกรรม ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์
5. การประกอบธุรกิจการค้า ผู้เยาว์สามารถทำธุรกิจการค้าหรือธุรกิจอื่น ทั้งที่เป็นมรดกของครอบครัวหรือริเริ่มทำขึ้นเอง
กฎหมายบัตรประจำตัวประชาชน
บัตรประจำตัวประชาชนเป็นบัตรประจำตัวของผู้มีสัญชาติไทยที่ใช้แสดงตน เพื่อประโยชน์ของผู้ถือบัตรและทางราชการ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัว พ.ศ. 2526 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอบัตรประจำตัวประชาชนไว้ดังนี้
1. บุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจะต้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน เว้นแต่ผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวตามกฎหมายอื่นให้ใช้บัตรประจำตัวนั้นแทนได้ เช่น พระภิกษุ สามเณร นักบวช ผู้มีร่างกายพิการเดินไม่ได้ หรือเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ รวมทั้งผู้ที่ถูกควบคุมในเรือนจำ
2. บุคคลต่างด้าวที่ได้สัญชาติไทยหรือได้กลับคืนสัญชาติไทยหรือวันที่ศาลสั่งให้ได้สัญชาติไทย
3. บุคคลที่ได้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
4. บุคคลที่พ้นสภาพจากการได้รับการยกเว้น
บัตรประจำตัวประชาชน จะมีการใช้งานได้ 6 ปี บัตรที่ยังไม่หมดอายุในวันที่ผู้ถือบัตรมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ให้ใช้ต่อไปได้ตลอดชีวิต ส่วนบัตรที่หมดอายุต้องขอบัตรใหม่ภายใน 60 วัน การขอบัตรใหม่สามารถขอก่อนวันหมดอายุได้ สำหรับกรณีบัตรหาย ถูกทำลาย ชำรุด หรือมีการแก้ไขชื่อ ชื่อสกุล หรือย้ายที่อยู่ ก็ต้องขอมีบัตรใหม่เช่นเดียวกัน
กฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัว
กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว ได้แก่
1. การหมั้น คือ การที่ชายหญิงทำสัญญาว่าจะทำการสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สัญญาหมั้นจึงเป็นสัญญาจอง ยังไม่ถึงขั้นแต่งงาน การหมั้นมีเงื่อนไข คือ ชายและหญิงที่จะทำการหมั้นต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หากไม่ตรงตามข้อกำหนด ถือว่าการหมั้นเป็นโมฆะ คือ ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย หากผู้ที่จะหมั้นกันอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง กรณีที่ผู้เยาว์หมั้นกันเองโดยไม่มีความยินยอมดังกล่าวให้ถือว่าการหมั้นนั้นเป็นโมฆียะ คือสามารถบอกล้างการหมั้นได้และให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่แรก แต่ถ้าต่อมาเมื่อผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้วอาจให้สัตยาบันในสัญญาหมั้นก็จะทำให้สัญญามีความสมบูรณ์ การหมั้นที่มีความสมบูรณ์และถูกต้องตามประเพณีต้องมีสิ่งประกอบ 2 ประการ ได้แก่ ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้มอบหรือโอนให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และสินสอด คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนที่หญิงยอมสมรสด้วย แต่หากฝ่ายหญิงไม่อาจสมรสตามสัญญา ฝ่ายชายสามารถเรียกสินสอดคืนได้
2. การสมรส คือ การที่ชายและหญิงสมัครใจเข้ามาอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ คือ คู่สมรสต้องเป็นชายและอีกฝ่ายต้องเป็นหญิง การสมรสต้องกระทำโดยสมัครใจ มีการอยู่กินฉันสามีภรรยา และการสมรสต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว
เงื่อนไขการสมรส มี 2 ส่วน คือ
1) เงื่อนไขการสมรส ได้แก่ การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ชายและหญิงที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงแสดงความยินยอมเป็นสามีภริยากันและจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียน
2) เงื่อนไขที่เป็นข้อห้าม มี 5 ประการ ได้แก่
(1) ชายหรือหญิงที่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
(2) ชายหรือหญิงที่เป็นญาติสืบสายโลหิตจะสมรสกันไม่ได้ เช่น พ่อหรือแม่กับลูก พี่น้องร่วมบิดามารดากัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
(4) ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วไม่ได้
(5) หญิงที่เคยสมรสแล้วแต่สามีตาย หรือการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดลงโดยสาเหตุอื่น เช่น หย่า จะสมรสกับสามีใหม่ก็ต่อเมื่อการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดลงไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่จะสมรสกับคู่สมรสเดิม หรือมีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายจะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้าน ความสัมพันธ์ด้านส่วนตัว คือ ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันและ ความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สิน เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วจะเกิดกองทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยาขึ้นมา ทรัพย์สินที่ว่านี้มี 2 ประเภท คือ สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจมาเกี่ยวข้อง เช่น ทรัพย์สินที่อีกฝ่ายมีก่อนวันจดทะเบียนสมรส และสินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย หรือทรัพย์ที่ได้มาโดยพินัยกรรมระบุว่าเป็นสินสมรส ตลอดจนดอกผลของสินส่วนตัว
3. การรับรองบุตร กฎหมายแบ่งบุตรเป็น 3 ประเภท คือ
1. บุตรชอบด้วยกฎหมาย มี 2 ประเภท ได้แก่ บุตรในสมรส คือเด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และบุตรนอกสมรส คือ เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ในทางกฎหมายถือว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดา แต่จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้เมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง บุตรนั้นจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับแต่วันที่จดทะเบียนสมรส แต่ไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อบิดาได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร มีผลในวันที่จดทะเบียน และเมื่อศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร มีผลนับตั้งแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด
2. บุตรนอกกฎหมาย คือบุตรที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และมิได้มีการดำเนินการให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเฉพาะของมารดาฝ่ายเดียว ต่อมาหากบิดารับรองโดยพฤติการณ์ เช่น ให้บุตรใช้นามสกุลของบิดา ส่งเสียอุปการะ หรือรับรองข้อเท็จจริงกับบุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตร ถือว่าแม้มิได้รับรองเป็นบุตรตามกฎหมาย แต่ก็รับรองว่าเป็นบุตรตามข้อเท็จจริง บุตรจึงมีสิทธิรับมรดกของบิดา แต่ไม่มีสิทธิเรียกร้องอย่างอื่น เช่น ค่าอุปการะเลี้ยงดู
3. บุตรบุญธรรม คือ บุตรที่เกิดขึ้นโดยการสมมุติของกฎหมายว่ามีสิทธิเสมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลเป็นการตัดความสัมพันธ์ในเรื่องอำนาจการปกครองระหว่างบุตรกับบิดามารดาโดยกำเนิดก่อนตั้งความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรมขึ้นมาแทน แต่บุตรบุญธรรมกับบิดามารดาโดยกำเนิดก็ยังมีหน้าที่ต่อกันในเรื่องอื่น ๆ ตามปกติ
การรับบุตรบุญธรรมมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1) ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และจะต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
2) ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี จะต้องให้ความยินยอมด้วย
3) การรับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรม จะต้องได้รับคำยินยอมจากบิดามารดาของผู้นั้น
4) กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสอยู่ด้วย จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
5) การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522
6) บุตรบุญธรรมมีฐานะเช่นเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม สิทธิใดที่บุตรชอบด้วยกฎหมายได้รับ บุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิด้วย เช่น มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือสิทธิที่จะได้รับมรดก
7) การรับบุตรบุญธรรมมีผลเฉพาะตัวผู้จดทะเบียนเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น เว้นแต่คู่สมรสนั้นให้ความยินยอมจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน จึงเป็นบุตรบุญธรรมของทั้งสามีและภรรยา
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและประเทศ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและประเทศ ได้แก่
กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจและหน้าที่ในการ เสนอนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตลอดจนกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2. กองทุนสิ่งแวดล้อม (กองทุนหนึ่งของกระทรวงการคลัง) ทำหน้าที่บริหารเงินในกองทุนเพื่อใช้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ให้ส่วนราชการนำไปลงทุน หรือให้รัฐวิสาหกิจ เอกชนกู้ยืม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
3. การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม การวางแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม การกำหนดเขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
4. การควบคุมมลพิษ กฎหมายกำหนดให้
1) มีคณะกรรมการควบคุมมลพิษ
2) การกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด
3) การกำหนดขอบเขตควบคุมมลพิษ
4) มลพิษทางอากาศและเสียง เช่น ออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษเกินมาตรฐาน
5) มลพิษทางน้ำ เช่น ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องติดตั้งระบบกำจัดน้ำเสีย
6) มลพิษอื่นและของเสียอันตราย เช่น การป้องกันและควบคุมมลพิษจากการทำเหมืองแร่
7) การตรวจสอบและควบคุม เช่น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีระบบบำบัดต้องบันทึกข้อมูลและสรุปผลการทำงานของระบบเพื่อเสนอต่อเจ้าพนักงานในท้องถิ่น
กฎหมายภาษีอากร ภาษีอากร หมายถึง เงินที่รัฐหรือท้องถิ่นเรียกเก็บจากบุคคลตามเงื่อนไขที่ประมวลรัษฎากรหรือพระราชบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 กำหนดไว้เพื่อใช้ในการบริหารประเทศหรือท้องถิ่น
ภาษีอากรมี 2 ประเภท คือ ภาษีทางตรง หมายถึง ภาษีที่ผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระภาษีนั้นทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้ โดยทั่วไปจัดเก็บจากฐานรายได้หรือฐานทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีทางอ้อม หมายถึง ภาษีที่ผู้เสียภาษีไม่ได้เป็นผู้แบกภาระของภาษีนั้นไว้ทั้งหมด แต่สามารถผลักภาระไปให้ผู้อื่นได้บางส่วนหรือทั้งหมด เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนี้ คือ ผู้มีรายได้จากหน้าที่การงานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าเงินดังกล่าวจะรับหรือจ่ายในหรือนอกประเทศ วิธีเสียภาษีจะมีกำหนดเวลายื่นแบบแสดงการเสียภาษีไว้ ผู้มีเงินได้พึงประเมินในปีที่ล่วงมาแล้วเข้าหลักเกณฑ์ข้อใด ต้องยื่นรายการและเสียภาษีในระยะเวลาระหว่างเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนมีนาคมของปีถัดไป แบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด. 90) มีจำนวน 4 หน้า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป
ส่วนที่สอง การกรอกรายการเงินได้พึงประเมิน
ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้พึงประเมินทุกประเภทของตนตลอดปีภาษี (ไม่รวมเงินได้ที่กฎหมายยกเว้นภาษี หรือที่ไม่ต้องเสียภาษี) ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่มีเงินได้
กฎหมายแรงงาน นายจ้างต้องวางข้อกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติดังนี้
1) การทำงานปกติ ต้องประกาศกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวัน ซึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง
2) การทำงานล่วงเวลา หากต้องการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป
3) การลา มี 6 ประเภท คือ
(1) ลาป่วย ลูกจ้างมีสิทธิลาได้เท่าเวลาที่ป่วยจริง หากลาตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ หากไม่มีต้องชี้แจงให้นายจ้างทราบ
(2) ลาคลอด ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งได้ไม่เกิน 90 วัน (นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย)
(3) ลาเพื่อทำหมัน ลูกจ้างมีสิทธิลาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดและออกใบรับรอง
(4) ลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น ลูกจ้างมีสิทธิลาได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
(5) ลาเพื่อรับราชการทหาร ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
(6) ลาเพื่อการฝึกอบรม ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
4) การกำหนดวันหยุด มี 3 ประเภท คือ
(1) วันหยุดประจำสัปดาห์ ต้องไม่น้อยกว่า 1 วัน และเว้นระยะไม่เกิน 6 วัน ทั้งนี้นายจ้างและลูกจ้างอาจร่วมกันกำหนดวันได้
(2) วันหยุดตามประเพณี นายจ้างต้องประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย
(3) วันหยุดพักผ่อน ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าหรือตกลงร่วมกับลูกจ้าง
กรณีการใช้แรงงานหญิง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายหญิงอย่างเท่าเทียม เว้นแต่สภาพงานไม่อาจปฏิบัติได้ ได้แก่ ห้ามทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกาย และห้ามหญิงมีครรภ์ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่สั่นสะเทือน งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ งานแบกหามหรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม งานที่ทำในเรือ ห้ามทำงานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือวันหยุด สำหรับผู้มีตำแหน่งผู้บริหาร วิชาการ ธุรการ การเงินหรือบัญชี อาจทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเท่าที่ไม่กระทบต่อสุขภาพ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ทั้งนี้ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์
กรณีใช้แรงงานเด็ก สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงาน มีการจัดทำบันทึกสภาพการจ้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเก็บไว้ ณ สถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ พร้อมทั้งแจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ออกจากงาน
ข้อห้ามมิให้นายจ้างปฏิบัติ ได้แก่
1) ห้ามมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง
2) ห้ามมิให้ลูกจ้างที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย สำหรับเด็ก มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับการจ้างเด็กแสดงภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงอื่นที่คล้ายคลึงกัน โดยนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้พักผ่อนตามสมควร
3) ห้ามมิให้ลูกจ้างที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลาหรือในวันหยุด
4) ห้ามมิให้ลูกจ้างที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานหลอม เป่า หล่อ รีด หรือปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติซึ่งเป็นอันตราย รวมทั้งงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย จุลชีวันเป็นพิษ วัตถุมีพิษ วัตถุระเบิด ไวไฟ (เว้นแต่ในสถานีน้ำมันเชื้อเพลิง) งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี งานขับหรือบังคับรถยก ปั้นจั่น งานใช้เลื่อยไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ งานที่ทำใต้ดิน งานทำความสะอาดเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรขณะที่กำลังทำงาน และงานที่ต้องทำบนนั่งร้านสูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป
5) ห้ามมิให้ลูกจ้างที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นการพนัน สถานบริการ
6) ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้างที่เป็นเด็ก
7) ห้ามิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างที่เป็นเด็กให้แก่บุคคลอื่น หากนายจ้างจ่ายเงินหรือประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ปกครองหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับเด็กล่วงหน้าก่อนจ้างงานขณะแรกจ้าง หรือก่อนถึงงวดการจ่ายในแต่ละคราว มิให้ถือว่าเป็นค่าจ้างและห้ามมิให้นำมาหักจากค่าจ้างซึ่งต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามกำหนดเวลา
นอกจากนี้ นายจ้างยังต้องจัดให้ลูกจ้างที่เป็นเด็กมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงติดต่อกัน หลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง นอกจากข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว กฎหมายยังส่งเสริมการคุณภาพชีวิตและการทำงานของเด็ก เช่น กำหนดให้ลูกจ้างที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุม สัมมนา อบรม รับการฝึก หรือลาเพื่อการอื่น ซึ่งจัดโดยสถานศึกษา หน่วยงานรัฐ หรือเอกชนได้ แต่ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้า พร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องถ้ามี ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน
วิธีจ่ายค่าจ้างในกรณีต่าง ๆ มีดังนี้
1) การจ่ายค่าจ้างปกติ กรณีที่มีลักษณะงาน คุณภาพ และปริมาณเท่าเทียมกัน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินผลประโยชน์อื่นให้แก่ลูกจ้างทั้งชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกันด้วยเงินตราไทย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หากจะจ่ายด้วยวิธีอื่นหรือเงินตราต่างประเทศต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
2) การจ่ายค่าจ้างกรณีต่าง ๆ เช่น วันหยุด ต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อน และวันหยุดประจำสัปดาห์ ยกเว้นลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงาน กรณีลาป่วย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับวันปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่หนึ่งปีต้องไม่เกิน 30 วันทำงานและกรณีลาคลอด ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างเท่ากับวันปกติ ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ต้องไม่เกิน 45 วัน เป็นต้น
กฎหมายปกครอง
กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นลงมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดำเนินการปกครอง โดยกล่าวถึงการจัดระเบียบขององค์การปกครอง ตัวอย่างกฎหมายปกครอง ได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแบ่งระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินไว้ 3 ส่วน คือ
1. ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง จำแนกเป็น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวงซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง และกรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม
2. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็นการบริหารตามหลักรวมอำนาจ แต่แบ่งอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล และกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ประกอบด้วย จังหวัด อำเภอ (ภายในประกอบด้วยตำบลและหมู่บ้าน)
3. ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
Keyword กฎหมาย การตรากฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น นิติกรรม ภาษี กฎหมายปกครอง
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th