กฎหมายคุ้มครองเด็ก
กฎหมายคุ้มครองเด็กเป็นหนึ่งในกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายคุ้มครองเด็กในประเทศไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ที่กำหนดเกี่ยวกับวิธีการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. การสงเคราะห์เด็ก คือ การอุปการะเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กที่ได้รับการสงเคราะห์ ซึ่งมีหลายประเภท ได้แก่ เด็กเร่ร่อน เด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้ เด็กที่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมหรือประกอบอาชีพที่ไม่เหมาะสม เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยมิชอบ เด็กพิการ และเด็กที่อยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์
2. การคุ้มครองเด็ก หรือการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก คือ การให้การศึกษาอบรม ฝึกอาชีพ เพื่อแก้ไขความประพฤติ บำบัด รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่เด็ก เด็กที่จะได้รับการคุ้มครองมี 3 ลักษณะ คือ เด็กที่ถูกทารุณกรรม เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด (ได้แก่ เด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย) และ เด็กที่อยู่ในสภาพจำต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ
3. การปฏิบัติต่อเด็ก มีหลักการ 3 ประการ ดังนี้
1) ต้องให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด โดยไม่แบ่งแยก
2) ต้องให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู
3) ต้องไม่ปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบ เช่น ทอดทิ้ง หรือทำทารุณกรรม
4. การส่งเสริมความประพฤติเด็ก กฎหมายกำหนดให้มีการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา 2 ลักษณะ คือ การให้คำปรึกษาแนะนำ และมุ่งเน้นให้นักเรียนปฏิบัติตนตามระเบียบ
5. ประโยชน์ของการปฏิบัติตนตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ประกอบด้วยประโยชน์ต่อตนเอง และประโยชน์ตอชุมชนและสังคม
กฎหมายการศึกษา
กฎหมายหลักในการดำเนินการด้านการศึกษาของไทยได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ที่มุ่งพัฒนาคนให้มีความสมบูรณ์ หลักการของการศึกษาเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ประโยชน์จากการปฏิบัติตามกฎหมายการศึกษามีทั้ง ประโยชน์ต่อตนเอง คือ ส่งผลให้มีความรู้กว้างขวางและมีจิตสำนึกด้านคุณธรรม และประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม คือ ส่งผลให้ชุมชนและสังคมเจริญก้าวหน้า
สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาที่เราควรเรียนรู้ ได้แก่
1. การจัดการศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยมีคุณภาพทั่วถึงและไม่เก็บค่าใช้จ่าย
2. บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลที่อยู่ในความดูแลได้รับการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี โดยจะต้องส่งเด็กที่มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 7 เข้าเรียนในสถานศึกษาจนอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 16 (เว้นแต่จะสอบได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้) ตลอดจนส่งให้รับการศึกษานอกเหนือจากภาคบังคับ ตามความพร้อมของครอบครัว
3. ผู้มีสิทธิในการจัดการศึกษา ได้แก่ รัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น
4. สิทธิประโยชน์ของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ได้แก่ การสนับสนุนจากรัฐให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแล เงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด และการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา
5. สิทธิประโยชน์ของผู้สนับสนุนหรือจัดการศึกษา ได้แก่ การสนับสนุนจากรัฐให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูบุคคล ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ เงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
ระบบการศึกษาของประเทศไทย จำแนกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1. การศึกษาในระบบ มีการกำหนดจุดหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผลซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาไว้แน่นอน แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การจัดการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ก่อนระดับอุดมศึกษา เช่น ประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออาชีวศึกษา และการศึกษาระดับอุดมศึกษา แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับต่ำกว่าปริญญา เช่น อนุปริญญา และระดับปริญญา ทั้ง 2 ระดับจะศึกษาในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาอื่น ๆ
2. การศึกษานอกระบบ การกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา การวัดและประเมินผลมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของแต่ละกลุ่ม
3. การศึกษาตามอัธยาศัย ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เช่น บุคคล ประสบการณ์ สังคม สื่อ และ สภาพแวดล้อม
สำหรับแนวการจัดการศึกษายึดหลักว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ในส่วนของกระบวนการจัดการศึกษาก็ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มประสิทธิภาพ การจัดการศึกษาทุกระบบ ทุกระดับ จึงต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมดังนี้
1. ความรู้เกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม
2. ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
3. ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญา และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาไทย
4. ความรู้และทักษะด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
5. ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการหรือได้รับการชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงผู้ใช้สินค้าและบริการที่ไม่ได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีประโยชน์ทั้งต่อตนเอง คือ ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ และประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม คือ ทำให้คนในสังคมได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ
ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ควรศึกษา ได้แก่
1. สิทธิของผู้บริโภค พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง 5 ประการ คือ
1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
4) สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
5) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย กรณีถูกละเมิดสิทธิในข้อ 1—4
2. การคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคใน 4 ด้าน คือ
1) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา ผู้ประกอบธุรกิจใช้ข้อความที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวม ได้แก่ ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ข้อความที่สนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียทางวัฒนธรรมของชาติ ทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยกหรือไม่สามัคคีกัน และข้อความอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อความโฆษณาที่อ้างอิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ การโฆษณาสินค้าที่รวมอยู่กับข้อความถวายพระพร
2) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก ผู้ประกอบธุรกิจต้องให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า สินค้าบางชนิดกฎหมายกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมฉลาก โดยฉลากของสินค้าที่ดังกล่าวต้องมีลักษณะตามที่กำหนด เช่น ระบุชื่อหรือเครื่องหมายการค้า สถานที่ผลิต และระบุข้อความที่จำเป็น แสดงฉลากไว้ที่ตัวสินค้าหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ หรือทำเป็นเอกสารหรือคู่มือประกอบสินค้าที่เห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน
3) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคจะต้องใช้ข้อสัญญาที่จำเป็น หากมิได้ใช้ข้อสัญญานั้นจะทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบเกินควร และห้ามใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
4) การคุ้มครองผู้บริโภคโดยประการอื่น กรณีสงสัยว่าสินค้าอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าดังกล่าว หากผลการทดสอบปรากฏว่าสินค้านั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และไม่สามารถป้องกันอันตรายดังกล่าวโดยการกำหนดฉลากตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการผู้บริโภคสามารถสั่งห้ามขายสินค้านั้น และให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงสินค้าได้ หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือสงสัยว่ากักเก็บไว้ขายต่อ ต้องสั่งให้ผู้ประกอบการทำลายสินค้านั้นโดยผู้ประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง
3. องค์การที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค องค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภค เช่น พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภค และดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เป็นต้น และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ดำเนินการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่ เช่น รับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภค ติดตามและสอดส่องพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น
กฎหมายลิขสิทธิ์
กฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ได้แก่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 คำว่า “ลิขสิทธิ์” หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์งานที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ได้ใช้สติปัญญา ความสามารถ และความเพียรพยายามสร้างสรรค์ขึ้น โดยแสดงออกตามประเภทงานลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ถือเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง สามารถซื้อ ขาย โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนระหว่างกันได้ งานที่มีลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ วรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงและภาพ และงานอื่น ๆ ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ส่วนงานที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ได้แก่ ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือของท้องถิ่น คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการและคำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐหรือท้องถิ่น ทั้งนี้ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีสิทธิในลิขสิทธิ์ทันทีนับตั้งแต่ได้มีการสร้างผลงาน โดยไม่ต้องทำการจดทะเบียน ประโยชน์ของการปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ได้แก่ ประโยชน์ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ทำให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และประโยชน์ต่อประชาชน คือ เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์สร้างผลงานที่ดีก็จะทำให้ประชาชนได้รับความรู้ ความบันเทิง และได้บริโภคผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น
ผู้มีสิทธิในลิขสิทธิ์ของงานมีลักษณะ ดังนี้
1. งานที่สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง หากมิได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์เป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธิเผยแพร่งานได้
2. งานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยรับจ้างจากบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิในงานดังกล่าว เว้นแต่จะมีการตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้สร้างสรรค์เป็นอย่างอื่น
3. งานดัดแปลงงานที่มีลิขสิทธิ์ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์เป็นของผู้ดัดแปลง
4. งานที่นำงานที่มีลิขสิทธิ์มารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ที่จัดทำมีลิขสิทธิ์ในงานนั้น โดยไม่กระทบสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เดิมในงานต้นแบบ
เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่น ทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ ให้เข่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
สำหรับอายุในการคุ้มครองลิขสิทธิ์จำแนกได้ดังนี้
1. งานทั่วไป มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และต่อไปอีก 50 ปี นับจากผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีงานที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วม และต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย ส่วนงานที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่วันที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้น แต่หากมีการโฆษณางานนั้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีระยะเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่โฆษณาเป็นครั้งแรก สำหรับงานที่ผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้มีการสร้างสรรค์งานแต่ถ้ามีการโฆษณาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ที่ได้โฆษณาเป็นครั้งแรก
2. งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอายุ 50 ปี นับจากที่ได้สร้างสรรค์งาน แต่ถ้ามีการโฆษณาในระยะเวลาดังกล่าว ให้มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่โฆษณาเป็นครั้งแรก
3. งานศิลปะประยุกต์ มีอายุ 25 ปี นับจากที่ได้สร้างสรรค์งาน แต่หากมีการโฆษณาระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 25 ปี นับตั้งแต่โฆษณาเป็นครั้งแรก
4. งานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยการว่าจ้าง ให้มีอายุ 50 ปี นับจากการสร้างสรรค์ผลงาน แต่ถ้าได้โฆษณาระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับแต่การโฆษณาเป็นครั้งแรก
กฎหมายลิขสิทธิ์มีขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานที่มีลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ (การกระทำบางอย่าง เช่น ศึกษาหรือวิจัยเพื่อส่วนรวม ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง และการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม
การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง ได้แก่
1) การละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานทั่วไป ได้แก่ การทำซ้ำ หรือดัดแปลงและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
2) การละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง ได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว
3) การละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานแพร่เสียง แพร่ภาพ ได้แก่ การจัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ การเผยแพร่ต่อสาธารณชน และจัดให้ประชาชนฟังโดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นทางการค้า
4) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าหรือสำเนา
โทษของผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง คือ ระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000—200,000 บาท แต่ถ้ากระทำเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000—800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม คือ การกระทำการหากำไรจากงานที่รู้หรือมีสาเหตุให้สมควรรู้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ได้แก่
1) ขาย มีไว้เพื่อขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอให้เช่าซื้อ
2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
โทษของผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม คือ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000—100,000 บาท แต่ถ้ากระทำเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000—400,000 บาท
Key Word กฎหมาย กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายการศึกษา กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิของผู้บริโภค กฎหมายลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th