บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การเมืองการปกครอง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 73.1K views



 การเมืองการปกครอง

 

 

รัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดที่กำหนดระเบียบการปกครองของประเทศ มีหลักการและเจตนารมณ์ดังนี้
1. แสดงความเป็นรัฐเดี่ยว ไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบอื่น
2. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ
3. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
4. หลักสิทธิมนุษยชน เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล
5. หลักความเสมอภาค
6. หลักความเป็นกฎหมายสูงสุด
7. หลักประเพณีการปกครอง เมื่อเกิดปัญหาก็ใช้หลักประเพณีการปกครองมาวินิจฉัยเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในบทบัญญัติ

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

 

 


โครงสร้างและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ

(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550) จำแนกออกเป็น 15 หมวด ได้แก่

1) บททั่วไป

2) พระมหากษัตริย์

3) สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย

4) หน้าที่ของชนชาวไทย

5) แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

6) รัฐสภา

7) การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน

8) การเงิน การคลัง และงบประมาณ

9) คณะรัฐมนตรี

10) ศาล

11) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

12) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

13) จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

14) การปกครองส่วนท้องถิ่น

15) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

และยังมีบทเฉพาะกาล พร้อมด้วยบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 309 มาตรา โดยให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม และแบ่งประเภทสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้เป็นหมวดหมู่

 

อำนาจอธิปไตย
อำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองรัฐ ตามระบอบประชาธิปไตยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ
1. อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการออกกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ใช้ผ่านทางรัฐสภา อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้กับประชาชน การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และการให้ความเห็นชอบในกิจการสำคัญในการปกครองประเทศ

 

 

รัฐสภา

 


2. อำนาจบริหาร คือ อำนาจในการกำหนดนโยบายและบริหารประเทศให้บรรลุผลตามนโยบาย ใช้ผ่านทางคณะรัฐมนตรี อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีได้แก่ การกำหนดนโยบายและบริหารราชการแผ่นดิน การออกกฎหมายที่จำเป็นในการบริหารงานของประเทศ เช่นพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และอำนาจหน้าที่อื่น ๆ เช่น ยุบสภา ประกาศใช้และยกเลิกกฎอัยการศึก มีส่วนที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่น การประกาศสงคราม และการทำหนังสือสัญญาต่าง ๆ กับต่างประเทศ

 

 

คณะรัฐมนตรี

 

 


3. อำนาจตุลาการ คือ อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีความต่าง ๆ ตามกฎหมาย ใช้อำนาจผ่านทางศาล ปัจจุบันศาลไทยมี 4ประเภท ดังนี้

 

 

ศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ

 

 

     1) ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยประเด็นปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
     2) ศาลยุติธรรม พิพากษาคดีทั้งปวง โดยเฉพาะคดีแพ่งและคดีอาญา (เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง) แบ่งเป็น 3 ชั้น คือ
          (1) ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลอาญา ศาลแพ่ง
          (2) ศาลอุทธรณ์ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น
          (3) ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดที่พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาในชั้นนี้ถือว่าสิ้นสุด มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาคดีข้าราชการการเมืองที่กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
     3) ศาลปกครอง พิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างภายในราชการหรือราชการกับเอกชน เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
     4) ศาลทหาร พิพากษาเฉพาะคดีอาญาทหารและคดีที่มีลักษณะพิเศษทางอาญา เช่น คดีที่ทหารตกเป็นจำเลย คดีที่เกิดขึ้นในภาวะสงคราม หรือประกาศกฎอัยการศึก

 

อำนาจทั้ง 3 ฝ่ายในข้างต้นจะมีการถ่วงดุลกัน วิธีการที่รัฐธรรมนูญใช้ถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยได้แก่
1. การถ่วงดุลอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยรัฐสภา
     1) สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี
     2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ส่วนสมาชิกวุฒิสภาอาจขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้
     3) วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ทุจริตออกจากตำแหน่ง
     4) รัฐสภามีอำนาจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่คณะรัฐมนตรีเสนอ หากพิจารณาว่าไม่ผ่านเท่ากับเป็นการไม่ไว้ใจคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะบริหารราชการต่อไปไม่ได้ และเป็นประเพณีที่นายกรัฐมนตรีต้องลาออก
     5) การอนุมัติร่างพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่ากึ่งหนึ่งไม่ลงมติออกเสียงให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ โดยประเพณีการปกครอง หากเป็นร่างพระราชบัญญัติสำคัญ เกี่ยวกับการเงิน หรือเป็นพระราชกำหนด ถือเป็นมารยาทที่คณะรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ หรือหากนายกรัฐมนตรีลาออกเพียงคนเดียว คณะรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย

     6) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี รัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่ายังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของประเทศ
     7) การอภิปรายซักถามในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีต้องการฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน จัดเป็นการแถลงเพื่อทราบ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายหรือท้วงติงได้
2. การถ่วงดุลอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรโดยคณะรัฐมนตรี ทำได้โดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับคณะรัฐมนตรีอย่างรุนแรง เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรมีพฤติกรรมไม่เหมาะไม่ควร และคณะรัฐมนตรีต้องการเปลี่ยนแปลงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง
3. การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจตุลาการกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ฝ่ายที่มีอำนาจได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม
     1) ศาลรัฐธรรมนูญ ถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติโดยวินิจฉัยเรื่องต่อไปนี้
          (1) การสิ้นสุดของสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
          (2) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากศาล
          (3) ร่างพระราชบัญญัติที่มีข้อความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
          (4) บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะบังคับคดีใดคดีหนึ่งที่ยังมิได้รับการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
          (5) วินิจฉัยและมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด
     2) ศาลปกครอง ถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเรื่องต่อไปนี้
          (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          (2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
          (3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดชอบอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
          (4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
          (5) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาล เพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างใดอย่าหนึ่ง
          (6) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
     3) ศาลยุติธรรม ถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร คือ มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

การปฏิบัติตนตามรัฐธรรมนูญ
การปฏิบัติตนตามรัฐธรรมนูญมีหลักการที่ควรศึกษาดังนี้
1. สิทธิและเสรีภาพของตนเองตามรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550 สามารถสรุปได้ดังนี้
     1) ความเสมอภาค บุคคลทุกคนทั้งหญิงและชายมีความเสมอภาคกัน สำหรับผู้ที่เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่จะมีกฎหรือกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
     2) สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย การได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสารถึงกันด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เสรีภาพในการนับถือศาสนาและการได้รับความคุ้มครองมิให้ถูกเกณฑ์แรงงาน
     3) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ สิทธิที่จะไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำความผิดตามที่กฎหมายได้บัญญัติและกำหนดโทษไว้ และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
     4) สิทธิในทรัพย์สิน ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นของตน และได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่จะอาศัยอำนาจของกฎหมายที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
     5) สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
     6) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อสารมวลชน
     7) สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ได้แก่ สิทธิในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี และเสรีภาพในทางวิชาการ
     8) สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ เช่น สิทธิที่เสมอภาคกันในการได้รับบริการสาธารณสุข เด็กและเยาวชนมีสิทธิในการมีชีวิตรอดและได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาอย่างเหมาะสม และผู้มีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการและการช่วยเหลือจากรัฐ เป็นต้น
     9) สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน เช่น สิทธิในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของรัฐ สิทธิในการได้รับข้อมูลต่าง ๆ จากรัฐก่อนการอนุญาตหรือดำเนินโครงการใด ๆ ที่กระทบต่อตนเองและสังคม และสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองที่มีผลกระทบต่อตนเอง เป็นต้น
     10) เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น และเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน
     11) สิทธิชุมชน ได้แก่ สิทธิในการอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
     12) สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิต่อต้านด้วยสันติวิธีต่อการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

 

คนไทยทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา


2. หน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่
     1) การรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

 

ประชาชนชาวไทยต้องเคารพ เทิดทูน และรักษาสถาบันพระมหากษัตรย์

 

 

     2) การป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย

     3) การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

 

ประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

 

 

     4) การพัฒนาประเทศ หน้าที่ของประชาชนชาวไทยในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การรับราชการทหาร การช่วยเหลือป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ และการเสียภาษีอากร

 

 

รัฐนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศ

 

 

ชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปี จะต้องรับการตรวจรับราชการทหาร

 

 

คนไทยทุกคนมีหน้าที่รับการศึกษา

 

 

ประเพณีลอยกระทง

 

 

เด็ก ๆ ร่วมกันปลูกป่า

 

 

     5) การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน 

 

Keyword  รัฐธรรมนูญ  อำนาจอธิปไตย  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  อำนาจตุลาการ  การถ่วงดุลอำนาจ  สิทธิ  เสรีภาพ

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th