ภาษาไทย ม. 2 เรื่อง พยางค์ คำ และการสร้างคำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 144.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
 

 

พยางค์และคำในภาษาไทย

  พยางค์
= เสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ มีความหมายหรือไม่ก็ได้
 

     ลักษณะของพยางค์
        
เสียงพยัญชนะต้น + เสียงสระ + เสียงวรรณยุกต์ บางพยางค์อาจมีเสียงพยัญชนะสะกด
        ๑. พยางค์หนัก สมบูรณ์ ออกเสียงได้ลำพัง เช่น ขวา เปลี่ยน เสื้อ

        ๒. พยางค์เบา ต้องมีพยางค์หนักมารับข้างท้าย เช่น สะดวก พนม วิชา ฤดี กุหลาบ
        ๓. พยางค์ลดน้ำหนัก แปรเสียงพยางค์หนักให้เบาลง เช่น คุณจะมาพูดยังงี้ได้ยังไง ช่างไม่ถนอมน้ำใจกัน
        ๔. พยางค์เน้นหนัก เพื่อเปรียบเทียบหรือเพิ่มความสนใจ เช่น ผมสั่งกาแฟไม่ใช่ชา
 

   คำ = เสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย

     ลักษณะของคำ
        เสียง + ความหมาย อาจมีพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ก็ได้
 

การสร้างคำ

   คำสมาส
เป็นการสร้างคำตามหลักไวยากรณ์บาลีสันสกฤต
 

     ลักษณะของคำสมาส
        ๑. เกิดจากการนำคำมูลที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมารวมกัน

        ๒. พยางค์สุดท้ายของคำหน้าต้องไม่ประวิสรรชนีย์หรือเป็นตัวการันต์
        ๓. คำที่มีความหมายหลัก (คำตั้ง) อยู่หลัง และคำขยายอยู่หน้า แปลจากคำหลังไปคำหน้าแต่คำสมาสบางคำ  เรียงคำตั้งไว้หน้า โดยคำตั้งต้องไม่ประวิสรรชนีย์ ไม่เป็นตัวการันต์ และต้องออกเสียงพยางค์ท้ายคำตั้ง
        ๔. พยางค์ท้ายของคำหน้ามักออกเสียงสระอะ แม้ไม่มีรูปสระกำกับ
        ๕. คำว่า พระ ที่มาจากคำว่า วร ในภาษาบาลีสันสกฤตถือเป็นคำสมาส 
 


คำประสมและกลุ่มคำที่มีลักษณะคล้ายคำสมาส
   
๑. ไม่ใช่คำจากภาษาบาลีสันสกฤตทั้งหมด เช่น ราชวัง (วัง คำไทย) พระธำมรงค์ (ธำมรงค์ คำเขมร)
   ๒. คำตั้งอยู่หน้าคำขยายถึงแม้มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่น การแพทย์ คดีธรรม ผลบุญ ผลผลิต

คำสมาสมีสนธิ เป็นการนำคำสมาสมาเชื่อม (สนธิ) หรือกลมกลืนเสียงสระ
 


หลักการสนธิ
   ๑. มีตัว อ เป็นพยัญชนะต้นของคำหลัก

   ๒. ใช้สระพยางค์ท้ายของคำหลังและตัดสระพยางค์ท้ายของคำหน้าเช่น นิรันดร (นิร+อันดร)
 


   ๓. ใช้สระพยางค์ต้นของคำหลังโดยเปลี่ยน อะ เป็น อา, อิ เป็น เอ, อุ เป็น อู หรือ โอ และตัดสระพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น พงศาวดาร (พงศ+อวตาร) นเรศวร (นร+อิศวร) ราชูทิศ (ราช+อุทิศ) นโยบาย (นย+อุบาย)




    ๔. เปลี่ยนสระพยางค์ท้ายของคำหน้าจาก อิ อี เป็น ย, อุ อู เป็น ว ใช้สระพยางค์ต้นของคำหลังซึ่งอาจเปลี่ยนรูป หรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่สระพยางค์ต้นของคำหลังไม่ใช่ อิ อี หรือ อุ อู อย่างสระพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น กิตยากร (กิตติ+อากร) ธาตวากร (ธาตุ+อากร)
 


   ๕. สมาสมีสนธิบางคำไม่เปลี่ยนสระอิ อี ท้ายพยางค์เป็น ย แต่ตัด อิ อี ทิ้งไปเช่น ราชินูปถัมภ์ (ราชินี+อุปถัมภ์) ศักดานุภาพ (ศักดิ+อานุภาพ)



สรุป
     พยางค์ คือ เสียงที่เปล่งออกมาจะมีความหมายหรือไม่ก็ได้ ส่วนคำ เป็นเสียงที่มีความหมาย อาจมีพยางค์เดียวหรือหลายพยางค์ คำสมาสเป็นวิธีการสร้างคำจากคำภาษาบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น

คำสำคัญ : คำ, พยางค์, คำสมาส, สนธิ
 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th