วันเทโวโรหนะ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7K views




วันเทโวโรหนะ หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกมาสู่มนุษยโลก หลังจากที่ได้แสดงธรรมเทศนาโปรดพระมารดา และเสด็จจำพรรษา ณ ดาวดึงส์พิภพครบไตรมาสแล้ว โดยเสด็จลงทางบันไดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร ทางตอนเหนือของกรุงสาวัตถี ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือ วันพระเจ้าเปิดโลก

เหตุที่เกิดวันเทโวโรหนะนั้น มีเรื่องเล่าตามอรรถกถาธรรมบทพอจะสรุปได้ว่า 
ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงเสด็จไปประทับ ณ นครสาวัตถี และทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนอยู่เป็นประจำ จนมีประชาชนอยู่เป็นประจำ จนมีประชาชนจำนวนมากหันมานับถือศาสนาพุทธ การที่ประชาชนหันมานับถือศานาพุทธด้วย ทำให้เหล่าเดียรถีย์เสื่อมลง เครื่องสักการะเดียรถีย์เหล่านี้ก็ลดน้อยลงด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้พวกเดียร์ถีย์เดือดร้อนต่างพากันคิดหาวิธีทำลายพระพุทธศาสนา โดยการกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า และเหล่าสาวกบ้าง แกล้งเบียดเบียนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนบ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ ในทางกลับกันพวกเดียรถีย์กลับได้รับผลร้ายนั้นเสียเอง ในที่สุดเหล่าเดียรถีย์จึงคิดแผนการทำลายพระพุทธศาสนาขึ้นอีกอย่างหนึ่ง โดยอาศัยพระพุทธบัญญัติในข้อที่ว่า ห้ามมิให้พระสาวกในพระพุทธศาสนาแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ ซึ่งเหล่าเดียรถีย์เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าคงไม่กล้าฝ่าฝืนข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ด้วยพระองค์เอง จึงช่วยกันกระจายข่าวว่า " พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกสิ้นท่าหมดปาฎิหารย์ไร ๆ แล้ว จึงงดการแสดง ตรงกันข้ามกับเหล่าคณาจารย์เดียรถีย์ซึ่งมีปาฏิหาริย์ อบรมมั่นคงเต็มี่พร้อมเสมอจะแสดงให้ปรากฎเมื่อไรได้ทุกเมื่อ ถ้าไม่เชื่อก็เชิญพระพุทธเจ้ามาแสดงปาฏิหารย์แข่งกันดู ว่าใครจะเก่งกาจสามารถกว่าใคร" 

ข่าวที่เดียรถีย์กล่าวหาพระพุทธเจ้านั้นได้กระจายไปทั่ว เป็นที่โจษจันของชาวเมืองโดยทั่วไป บ้างไม่รู้แก่นแท้ในพระพุทธศาสนาก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสื่อมเสีย พวกเดียร์ถีย์เห็นว่าพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกเงียบเฉยไม่ออกมาแก้ความ ก็กล่าวหาพระพุทธเจ้าหนักขึ้นว่า " พระพุทธเจ้าไม่มีความสามารถในการแสดงอิทธิปาฏิหารย์จึงเงียบอยู่เช่นนี้ไม่กล้ารับคำท้าทายจากเหล่าเดียรถีย์ทั้งหลาย " ความนี้ได้รู้ถึงพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมาทรงใคร่ครวญว่าหากพระองค์ไม่แสดงปาฏิหารย์ให้เดียรถีย์ประจักษ์แก่สายตา จะเกิดผลเสียแก่พระพุทธศาสนามากกว่าผลดีเป็นแน่ พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศว่าพระองค์จะแสดงยมกปาฏิหารย์ ณ ต้นมะม่วง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เมื่อเหล่าเดียรถีย์ได้รู้ความที่พระพุทธเจ้าที่แสดงอิทธิปาฏิหารย์ก็พากันหวาดกลัว ต่างกากลวิธีกลั่นแกล้งมิให้พระพุทธเจ้าทรงสามารถแสดงปาฏิหารย์ได้ โดยแบ่งออกเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งช่วยกันทำลายต้นมะม่วงในเมืองสาวัตถีจนหมดสิ้น ส่วนพวกหนึ่งช่วยกันสร้างมณฑปในวัดเพื่อแสดงปาฏิหารย์ของตน ส่วนอีกพวกหนึ่งให้ช่วยกันประกาศให้ประชาชนไปชมการแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า และคอยชมความล้มเหลวในการแสดงปาฏิหาริย์ครั้งนี้

เมื่อถึงกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ ปรากฎว่า เกิดพายุใหญ่พัดมณฑปของพวกเดียรถีย์พังจนหมดสิ้น ส่วนพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงมีทีท่าว่าจะแสดงปาฏิหาริย์แต่อย่างใด และในตอนบ่ายของวันนั้นนายคัณฑะ คนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ถวายมะม่วงผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าเสียก่อน เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธองค์จึงนำมะม่วงผลนั้นถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าได้รับมะม่วงสุกผลนั้นจากนายคัณฑะ ทรงรับสั่งให้พระอานนท์นำมะม่วงสุกผลนั้นไปทำน้ำปานะถวาย และให้นำเมล็ดมะม่วงวางลงบนพื้นดินบริเวณนั้น เมื่อทรงฉันน้ำปานะหมดทรงล้างพระหัตถ์ให้น้ำล้างพระหัตถ์รดบนเมล็ดมะม่วงนั้น ปรากฏว่า ต้นมะม่วงได้งอกขึ้นและใหญ่โดอย่างรวดเร็ว พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า พระองค์จะแสดงปาฏิหารย์ ณ ต้นมะม่วงแห่งนี้ พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตช่อไฟและท่อน้ำแล่นเป็นคู่สลับกันไปมาในอากาศรอบต้นมะม่วงนั้น และทรงเนรมิตบุคคลผู้เหมือนพระองค์ทุกประการขึ้นองค์หนึ่ง พร้อมกับทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี กระจายออกทั่วบริเวณพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมพร้อมกับทรงจงกรมสลับกับพระพุทธนิมิต เมื่อประชาชนได้เห็นแก่สายตาของตนเองว่าพระพุทธเจ้าสามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้เสมอ ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธากันโดยทั่วไป ส่วนเหล่าเดียรถีย์นั้นประชาชนต่างพากันสมน้ำหน้าสาปแช่งจนพวกเดียรถีย์นั้นต้องย่อยยับลงไปในครั้งนี้เอง

ในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าทรงประกาศว่า พระองค์จะไปจำพรรษายังดาวดึงส์เทวโลก เนื่องจากทรงระลึกว่าทรงเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา พระนางปชาบดี พระนางยโสธราพิมพา และพระราหุลราชกุมาร ตลอดจนประยูรญาติทั้งหลายให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแล้ว แต่ยังมิได้สนองพระคุณพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา เนื่องจากพระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้เพียง ๗ วันเท่านั้น เห็นว่าควรจะสนองพระคุณพระพุทธมารดาให้สมควรแก่พระคุณ ทรงเทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดา ตลอดเวลา ๓ เดือน เมื่อออกพรรษาพระองค์จึงเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสนคร โดยมีขบวนเทพยดา และประชาชนตามส่งเสด็จ และรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ ในวันเทโวโรหนะนี้พระองค์ทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลก ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ประชาชนจำนวนมากต่างพร้อมใจมาเฝ้ารับเสด็จและนำภัตตาหารมาถวายแด่พระพุทธเจ้า แต่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จนั้นมีจำนวนมาก บางพวกที่อยุ่ห่างไม่สามารถใส่อาหารลงในบาตรได้ จึงนำข้าวสาลีมาปั้นเป็นก้อน ๆ แล้วโยนใส่บาตร จนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมมาจนถึงปัจจุบันที่ต้องทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรในวันเทโวโรหนะ

กิจกรรมในวันเทโวโรหนะ
๑. ทำบุญตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นประเพณีนิยมดังกล่าวมาแล้วในข้างต้น
๒. ฟังธรรมเทศนา
๓. ทำทาน
๔. รักษาศีลภาวนา

แหล่งอ้างอิง : ศิริวรรณ คุ้มโห้.  วันและประเพณีสำคัญ.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด

Tag :