บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง การใช้พจนานุกรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 32.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

การใช้พจนานุกรม

 

 

พจนานุกรม คือ หนังสือที่รวบรวมคำในภาษาไทยตามลำดับพยัญชนะ ให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของคำ การสะกดคำ การอ่านคำ และประวัติของคำ


การเรียงลำดับคำในพจนานุกรม
๑. พยัญชนะ เรียงลำดับจาก ก–ฮ โดยมี ฤ ฤๅ อยู่หลัง ร และ ฦ ฦๅ อยู่หลัง ล
๒. สระ เรียงลำดับได้ ดังนี้ -ะ   -ั   -ัะ   -า   -ำ   -ิ   -ี   -ึ   -ื   -ุ   -ู   เ-   เ-ะ   เ-า   เ-าะ   เ-ิ   เ-ี   เ-ีะ   เ-ื   เ-ืะ   แ-   แ-ะ   โ-   โ-ะ   ใ-   ไ- 

๓. วรรณยุกต์ เรียงลำดับได้ ดังนี้  -่   -้   -๊   -๋ 

๔. การเรียงลำดับคำ ทำได้ดังนี้
     ๑) เรียงลำดับคำตามพยัญชนะ แล้วจึงลำดับตามรูปสระ คำที่ไม่มีรูปสระจะอยู่หน้าคำที่มีรูปสระ เช่น
                               กก กะ ขนม แข พบ พาน มด มืด
     ๒) คำที่มีพยัญชนะต้นตัวเดียวกัน จะเรียงลำดับตามพยัญชนะตัวถัดไป ไม่ว่าจะเป็นสระ ตัวสะกด อักษรควบ หรืออักษรนำ เช่น
                               ลง ลน ลบ ลม ลวก ลอก
     ๓) คำที่มีพยัญชนะตามด้วยพยัญชนะ จะมาก่อนคำที่มีพยัญชนะตามด้วยสระ เช่น
                              ตรง ตราด ตลบ ตลาด
     ๔) คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ จะมาก่อนคำที่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น
                             ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า
     ๕) คำที่มีไม้ไต่คู้ จะมาก่อนคำที่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น
                             แขก แข็ง แข่ง แข้ง

 

แหล่งสืบค้นข้อมูล
นักเรียนสามารถศึกษาเรื่องพจนานุกรมเพิ่มเติมได้ที่ www.royin.go.th

 

การค้นหาความหมายของคำ
ในพจนานุกรม คำศัพท์หนึ่งคำจะมีการแสดงรายละเอียด ดังนี้
          นาคร [นาคอน] น. ชาวนคร, ชาวกรุง. (ป., ส.).           

          นาคร                           คือ       คำศัพท์

          [นาคอน]                      คือ       คำอ่าน

          น.                               คือ       ชนิดของคำ ในที่นี้คือ คำนาม

          ชาวนคร, ชาวกรุง            คือ       ความหมายของคำ

          (ป., ส.)                       คือ       ที่มาของคำ ในที่นี้คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต

ดังนั้น คำศัพท์ว่า นาคร เราจะทราบว่า อ่านออกเสียงว่า นา-คอน เป็นคำนาม หมายถึง ชาวนคร, ชาวกรุง และมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต


คำย่อในพจนานุกรม
๑. คำย่อในวงเล็บ จะบอกที่มาของคำว่ามาจากภาษาใด เช่น
ป.      ย่อมาจาก      บาลี
อ.      ย่อมาจาก      อังกฤษ
๒. คำย่อที่อยู่นอกวงเล็บจะบอกชนิดของคำ ได้แก่
ก.      ย่อมาจาก      กริยา
น.      ย่อมาจาก      นาม
บ.      ย่อมาจาก      บุพบท
ว.       ย่อมาจาก      วิเศษณ์
ส.      ย่อมาจาก      สรรพนาม
สัน.    ย่อมาจาก      สันธาน
อ.      ย่อมาจาก      อุทาน
๓. คำย่อที่อยู่ในวงเล็บ จะบอกลักษณะเฉพาะของคำ เช่น
กลอน      หมายถึง      คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง
ถิ่น          หมายถึง      คำที่เป็นภาษาถิ่น
สำ          หมายถึง      คำที่เป็นสำนวน

 

ประโยชน์ของพจนานุกรม

- บอกคำอ่าน
- บอกการสะกดคำ
- บอกความหมายของคำ
- บอกชนิดของคำ
- บอกที่มาของคำ 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th