บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 280K views




สาระการเรียนรู้

 


๑. หน้าที่ชาวพุทธ
     หน้าที่หลักของชาวพุทธมี ๔ ประการ คือ การศึกษาหาความรู้ การปฏิบัติตนตามหลักธรรมและประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการปกป้องพระพุทธศาสนา
     ๑.๑ การปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีต่อพระสงฆ์
          ๑. การเข้าใจในกิจของพระสงฆ์ ชาวพุทธต้องศึกษาหน้าที่หรือกิจของสงฆ์ให้เข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ซึ่งภารกิจหลักของพระสงฆ์มี ๔ ด้าน ดังนี้
               ๑) การศึกษา พระสงฆ์มีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง
               ๒) การปฏิบัติธรรมและการเป็นนักบวชที่ดี พระสงฆ์ต้องนำสิ่งที่ศึกษามาปฏิบัติควบคู่กันไป โดยปฏิบัติให้เคร่งครัดตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
 


               ๓) การเผยแผ่ พระสงฆ์มีหน้าที่เผยแผ่สิ่งที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติให้ผู้อื่นเกิดความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตาม
 


การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นภารกิจหลักของพระสงฆ์


               ๔) การปกป้องและคุ้มครองพระพุทธศาสนา เช่น ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจอันดีแก่ผู้ที่เข้าใจผิดในการตีความพระธรรมวินัย กำจัดบุคคลผู้ไม่หวังดีที่ปลอมเข้ามาบวชเพื่อเป็นบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา เป็นต้น

          ๒. การศึกษาเรื่องคุณสมบัติของทายกและปฏิคาหก ชาวพุทธแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ
               ๑) กลุ่มนักบวชหรือบรรพชิต แยกเป็นภิกษุและภิกษุณี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลุ่มปฏิคาหก
               ๒) กลุ่มชาวบ้านหรือคฤหัสถ์ แยกเป็นอุบาสกและอุบาสิกา เรียกโดยรวมอีกอย่างหนึ่งว่า กลุ่มทายก แต่ถ้าแยกเป็นหญิงจะเรียกว่า ทายิกา
          คุณสมบัติของปฏิคาหก (กลุ่มผู้รับ) ได้แก่ มีความประพฤติดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตั้งใจและขยันหมั่นเพียรในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
          คุณสมบัติของทายก (กลุ่มผู้ให้) ได้แก่ เป็นคนดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ มีความตั้งใจที่จะให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
          คุณสมบัติในข้างต้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้ทาน กล่าวคือ การให้ทานจะได้ผลมากต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ
               ๑) วัตถุบริสุทธิ์ คือ ของที่จะให้ต้องเป็นของที่ตนได้มาโดยสุจริต
               ๒) เจตนาบริสุทธิ์ คือ การให้เพื่อมุ่งกำจัดความตระหนี่
               ๓) บุคคลบริสุทธิ์ คือ ทั้งทายกและปฏิคาหกต่างต้องมีศีลธรรม

     ๑.๒ การปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีต่อครอบครัวและสังคม
          ๑. การรักษาศีล ๘ ศีล คือ ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามหรือข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายและวาจาให้ดียิ่งขึ้น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
 


ชาวพุทธควรหาโอกาสรักษาศีล ๘ เพื่อเพิ่มพูนความดีให้แก่ตนเอง

 

          ศีล ๘ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุโบสถศีล มี ๘ ประการ ได้แก่
          ๑) การเว้นจากการทำลายชีวิต
          ๒) การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
          ๓) การเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
          ๔) การเว้นจากการพูดเท็จหลอกลวง
          ๕) การเว้นจากสุราและเมรัย
          ๖) การเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (เที่ยงไปแล้วจนถึงอรุณวันใหม่)
          ๗) การเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่น ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ซึ่งเป็นเครื่องประดับตกแต่ง
          ๘) การเว้นจากการนอนบนที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย

          ๒. การเข้าร่วมกิจกรรมและเป็นสมาชิกขององค์กรชาวพุทธ องค์กรชาวพุทธ หมายถึง หน่วยงาน กลุ่ม หรือชมรมชาวพุทธที่รวมตัวกันเพื่อทำงานด้านพระพุทธศาสนา โดยมีแนวคิดและมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาร่วมกันเป็นเอกภาพ และปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคม
          ตัวอย่างองค์กรชาวพุทธ เช่น สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (เป็นองค์กรชาวพุทธที่ใหญ่ที่สุด)
 


          ภารกิจหรือหน้าที่หลักขององค์กรชาวพุทธ ได้แก่ การเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา


          ๓. การปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีตามหลักทิศเบื้องบนในทิศ ๖ ทิศ ๖ หมายถึง บุคคลประเภทต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางสังคม โดยมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงปฏิบัติต่อกันดังนี้
               ๑) ทิศเบื้องบน (ปุรัตถิมทิศ) ได้แก่ บิดามารดา
               ๒) ทิศเบื้องขวา (ทักขิณทิศ) ได้แก่ ครูอาจารย์
               ๓) ทิศเบื้องหลัง (ปัจฉิมทิศ) ได้แก่ บุตรภรรยา
               ๔) ทิศเบื้องซ้าย (อุตตรทิศ) ได้แก่ มิตรสหาย
               ๕) ทิศเบื้องล่าง (เหฏฐิมทิศ) ได้แก่ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและลูกจ้าง
               ๖) ทิศเบื้องบน (อุปริมทิศ) ได้แก่ พระสงฆ์
 


          ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะทิศเบื้องบนคือ พระสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์กับชาวบ้านมีบทบาทหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกันดังนี้
 

 


๒. มารยาทชาวพุทธ
     มารยาทชาวพุทธ หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยและงดงามที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติต่อกัน ในส่วนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเรื่องการปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์ทางกาย ทางวาจา และทางใจ และการปฏิสันถารที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ในโอกาสต่าง ๆ
     ๒.๑ การปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์ทางกาย ทางวาจา และทางใจ
          ๑. การปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์ทางกาย เช่น
               ๑) การไปหาพระสงฆ์ การไปพบพระสงฆ์ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย กรณีที่ไปเพื่อนิมนต์ท่านมาเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคลหรืองานใด ๆ ควรมีเครื่องสักการบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ไปถวาย เพื่อแสดงความเคารพ
 


               ก่อนเข้าพบควรไต่ถามพระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัดว่าท่านอยู่วัดหรือมีธุระหรือไม่ แต่หากไม่พบบุคคลที่พอจะไต่ถามได้ ควรรอจังหวะอันสมควรหรือเคาะประตูให้เสียงก่อน เมื่อท่านอนุญาตแล้วจึงเปิดประตูเข้าไปเฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิงไม่ต้องเข้าไปหาพระสงฆ์ภายในกุฏิตามลำพัง
               เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าไปหาควรคุกเข่า กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วนั่งพับเพียบ ไม่นั่งบนที่นั่งเสมอกับท่าน เช่น เสื่อหรือพรมผืนเดียวกัน
               ๒) การลุกขึ้นต้อนรับ เมื่อพระสงฆ์เดินมายังสถานที่ในพิธี หากชาวพุทธนั่งอยู่ที่เก้าอี้ควรลุกขึ้นยืนรับ และควรน้อมตัวลงยกมือไหว้เมื่อท่านเดินผ่านมาตรงหน้า เมื่อพระสงฆ์นั่งเรียบร้อยแล้วจึงนั่งลงตามปกติ กรณีนั่งอยู่กับพื้น ไม่ต้องลุกขึ้นยืนรับ เมื่อท่านเดินผ่านควรยกมือไหว้หรือกราบเบญจางคประดิษฐ์
 


               ๓) การให้ที่นั่งแก่พระสงฆ์ ถ้าสถานที่นั้นจัดให้นั่งเป็นเก้าอี้ก็ควรให้พระสงฆ์นั่งแถวหน้า สำหรับผู้ชายหากต้องนั่งเก้าอี้แถวเดียวกับท่าน ควรนั่งเก้าอี้ด้านซ้ายของท่าน ส่วนผู้หญิงไม่ควรนั่งเก้าอี้แถวเดียวกับท่าน เว้นแต่จะมีผู้ชายนั่งด้านในระหว่างกลาง ถ้าสถานที่นั้นจัดให้นั่งกับพื้นควรจัดอาสนะต่างหาก
               ๔) การตามส่งพระสงฆ์ ชาวพุทธควรลุกขึ้นและน้อมตัวลงยกมือไหว้เมื่อท่านเดินผ่าน (กรณีนั่งบนเก้าอี้) ถ้าอยู่กับพื้นให้กราบหรือยกมือไหว้ สำหรับเจ้าภาพควรเดินตามและส่งท่านจนพ้นบริเวณงาน และน้อมตัวลงยกมือไหว้แสดงความเคารพ
               ๕) การหลีกทางให้พระสงฆ์ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
                    (๑) ถ้าพระสงฆ์เดินมาข้างหลัง เราควรหลีกทางชิดด้านซ้ายมือของท่าน แล้วยืนตรง มือทั้งสองกุมประสานกันไว้ข้างหน้า เมื่อท่านเดินผ่านมาถึงข้างหน้าให้น้อมไหว้ แล้วลดมือลงประสานกันไว้ดังเดิม ให้ท่านเดินผ่านไปก่อนแล้วจึงเดินตามหลัง
                    (๒) ถ้าเดินตามหลังพระสงฆ์ ให้เดินเยื้องไปทางซ้าย เว้นระยะห่างประมาณ ๒–๓ ก้าว เดินตามด้วยกิริยาอันสำรวม ไม่ควรทักทายหรือพูดคุยกับผู้อื่น
 


                    (๓) ถ้าเดินสวนทางกับพระสงฆ์ ควรหลีกชิดเข้าทางซ้ายมือของท่าน แล้วปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีที่พระสงฆ์เดินมาข้างหลัง
                    (๔) ถ้าพระสงฆ์ยืนอยู่ ให้หยุดยืนตรง น้อมตัวลงยกมือไหว้ หากท่านพูดด้วยให้ประนมมือพูดกับท่าน แล้วเดินหลีกไปทางซ้าย
                    (๕) ถ้าพบพระสงฆ์นั่งอยู่ ให้หยุดนั่งลง (ถ้าพื้นสะอาดให้นั่งคุกเข่าหรือพับเพียบ หากไม่สะอาดให้นั่งกระหย่ง) น้อมตัวลงยกมือไหว้ ถ้าท่านพูดด้วยให้ประนมมือพูดกับท่าน ถ้าท่านไม่พูดด้วยให้ลุกเดินหลีกไปทางซ้ายของท่าน ถ้าท่านอยู่ในที่กลางแจ้งและมีเงาปรากฏอยู่ ไม่ควรเดินเหยียบเงาของท่าน

          ๒. การปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์ทางวาจา เราควรประนมมือพูดกับท่าน ไม่ควรล้อเล่น พูดคำหยาบ หรือเล่าเรื่องส่วนตัว ส่วนผู้หญิงไม่ควรสนทนากับพระสงฆ์ตามลำพังสองต่อสอง


การใช้คำในการเขียนหนังสือถึงพระสงฆ์






การใช้คำพูดกับพระสงฆ์อย่างเป็นทางการ

 



          ๓. การปฏิบัติตนต่อพระสงฆ์ทางใจ ชาวพุทธควรมีความเคารพทางใจต่อพระสงฆ์ โดยคิดถึงท่านด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ

     ๒.๒ การปฏิสันถารที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ในโอกาสต่าง ๆ
     ๑. ความหมายและประเภทของการปฏิสันถาร การปฏิสันถาร หมายถึง การทักทายปราศรัยแขกผู้มาเยือน เพื่อแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
          ๑) การปฏิสันถารด้วยอามิส (อามิสปฏิสันถาร) หมายถึง การต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยสิ่งของ ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมที่ผู้ให้สามารถให้และตามความต้องการของผู้รับ
          ๒) การปฏิสันถารด้วยธรรม (ธรรมปฏิสันถาร) คือ การต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยียนด้วยการกล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำกันในทางธรรม
 


          ๒. คุณค่าของการปฏิสันถาร เช่น
               ๑) ผู้ต้อนรับและแขกผู้มาเยี่ยมเยียนได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
               ๒) ผู้ต้อนรับมีความสุขและมีความยินดีเมื่อได้ทำการต้อนรับ
               ๓) ผู้ต้อนรับได้รับการยอมรับ มีคนอยากคบหาสมาคมด้วย
               ๔) แขกผู้มาเยือนมีความยินดีและมีไมตรีจิตกับผู้ต้อนรับ

          ๓. การปฏิสันถารที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์
          ในกรณีที่พระสงฆ์ไปบ้าน ชาวพุทธควรให้การต้อนรับหรือปฏิสันถารเพื่อแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ ดังนี้
               ๑) การตักบาตร ผู้ตักบาตรควรทำความสะอาดร่างกายและแต่งกายให้เรียบร้อย ของที่เตรียมใส่บาตรควรจัดตามอัตภาพ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมอาหารที่ยังไม่ได้ตักเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หรือที่เรียกว่า ข้าวปากหม้อ แกงปากหม้อนำไปถวายพระก่อน
 


               ขั้นตอนการตักบาตรในตอนเช้าควรปฏิบัติดังนี้
               ๑) เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาควรนิมนต์ท่าน ถอดรองเท้าและไว้ท่านก่อนตักบาตร
ขณะตักบาตรควรระมัดระวังกิริยาให้เรียบร้อย หากมีดอกไม้ ธูปเทียน ถ้าเป็นชายให้ส่งด้วยมือได้ ถ้าเป็นหญิงต้องรอให้ท่านปิดฝาบาตร แล้วจึงวางดอกไม้ ธูปเทียนบนฝาบาตร เมื่อตักบาตรเสร็จให้ไหว้ท่านอีกครั้งหนึ่ง
               ๒) เมื่อพระสงฆ์ไปที่บ้าน เจ้าของบ้านควรออกไปต้อนรับถึงหน้าบ้าน และแสดงความเคารพด้วยการไหว้หรือกราบตามแต่ความเหมาะสม หากท่านเข้ามาในบ้าน กรณีต้อนรับโดยให้ท่านนั่งกับพื้นควรกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ หากนั่งเก้าอี้จะไหว้หรือกราบก็ได้
               ๓) เมื่อมีการประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ สิ่งที่เจ้าของบ้านตลอดจนผู้มาร่วมพิธีควรปฏิบัติ เช่น จัดอาสนะที่เหมาะสมให้แก่ท่าน จัดคนไว้ดูแลรับใช้พระสงฆ์ ตลอดจนรู้จักการประเคนที่ถูกต้อง กล่าวคือ ผู้ประเคนต้องอยู่ห่างจากพระสงฆ์ประมาณ ๑ ศอก และน้อมสิ่งของให้พระสงฆ์ด้วยอาการที่เคารพ ผู้ชายประเคนด้วยมือได้โดยตรง ส่วนผู้หญิงให้นำสิ่งของวางบนผ้าหรือภาชนะที่พระท่านทอดรับ
 


               ๔) ขณะสนทนากับท่านควรยกมือประนม เมื่อพูดจบให้ลดมือลง เนื้อหาในการสนทนาต้องไม่หยาบคาย

๓. ศาสนพิธี
     ศาสนพิธีเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีแนวทางปฏิบัติเป็นระเบียบแบบแผน เป็นองค์ประกอบหนึ่งของศาสนาที่เกิดจากความเชื่อในเรื่องนั้น ๆ ศาสนพิธีในพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๔ หมวดใหญ่ ดังนี้


     หากแบ่งประเภทของศาสนพิธีแบบย่อ ๆ จะแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ
     ๑. ศาสนพิธีที่เนื่องด้วยพุทธบัญญัติ คือ ศาสนพิธีที่เกิดขึ้นจากข้อบัญญัติทางวินัยของสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เช่น พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เป็นต้น
     ๒. ศาสนพิธีที่ไม่เนื่องด้วยพุทธบัญญัติ คือ ศาสนพิธีที่นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ไม่เกี่ยวกับข้อบัญญัติทางวินัย เช่น พิธีอาราธนาศีล พิธีทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
 



     ๓.๑ พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
     การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาศตนว่าจะเป็นผู้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชีวิตของตน
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในประเทศไทยมีวิธีปฏิบัติในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
     ๑. เมื่อบุตรหลานมีอายุระหว่าง ๑๒–๒๕ ปี ก็ประกอบพิธีให้บุตรหลานได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ หรือหากบุตรหลานเป็นชาวพุทธอยู่แล้วแต่จะไปอยู่ในต่างแดนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็นิยมประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะเช่นกัน
     ๒. เมื่อทางโรงเรียนจะปลูกฝังนิสัยเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา มักจะประกอบพิธีให้นักเรียนที่เข้าศึกษาใหม่ในรอบปีได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะเป็นหมู่
 


การแสดงตนเป็นพุทธมามกะของนักเรียน


     ๓. เมื่อมีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ ก็ประกอบพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

     ระเบียบพิธี สำหรับชาวพุทธที่ยังไม่ได้บวชเป็นสามเณรและภิกษุ การแสดงตนเป็นพุทธมามกะควรจะกระทำในพระอุโบสถหรือสถานที่ที่มีพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชาที่ประดับแจกัน ดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูปสำหรับบูชาพระรัตนตรัย และที่สำคัญคือพระสงฆ์อย่างน้อย ๔ รูป โดยมีขั้นตอนดังนี้
     ๑ใผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นุ่งขาว ห่มขาว หรือแต่งกายตามเครื่องแบบของตนตามแต่กรณี คุกเข่าหน้าโต๊ะหมู่บูชา จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เปล่งวาจากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย

คำบูชาพระรัตนตรัย

อิมินา สกฺกาเรน พุทฺธํ ปูเชมิ

ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)

อิมินา สกฺกาเรน ธมฺมํ ปูเชมิ

ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)

อิมินา สกฺกาเรน สงฺฆํ ปูเชมิ

ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้ (กราบ)

 

     ถ้าแสดงตนเป็นหมู่คณะ ให้หัวหน้าเข้าไปจุดธูปเทียนคนเดียว คนอื่น ๆ วางดอกไม้ธูปเทียนไว้ในที่ที่จัดไว้ นั่งคุกเข่าประนมมือ หัวหน้ากล่าวคำบูชา ให้ว่าพร้อม ๆ กัน การกราบต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ทุกครั้ง
     ๒. ในกรณีแสดงตนคนเดียวให้เดินเข่าเข้าไปหาพระสงฆ์แล้วกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ในกรณีแสดงตนเป็นหมู่คณะให้คุกเข่าประนมมืออยู่กับที่ ตัวแทนนำพานเครื่องสักการะที่เดียวเข้าถวายพระอาจารย์หรือประธานสงฆ์ แล้วกราบพร้อมกัน ๓ ครั้ง
     ๓. หลังจากกราบเสร็จ นั่งคุกเข่าประนมมือ เปล่งคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระสงฆ์ทั้งที่เป็นภาษาบาลีและเป็นภาษาไทย เป็นตอน ๆ ไปจนจบ

 คำนมัสการพระพุทธเจ้า

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น (๓ ครั้ง)

 

คำปฏิญาณตน

เอสาหํ ภนฺเต สุจิรปรินิพฺพุตมฺป ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมฺจ สงฺฆฺจ พุทฺธมามโกติ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ

             ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกนับถือ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้รับเอาพระพุทธเจ้าเป็นของตน

หมายเหตุ

             ๑)  ถ้าผู้ปฏิญาณตนเป็นผู้หญิงคนเดียว เปลี่ยน พุทฺธมามโกติ เป็น พุทฺธมามิกาติ

             ๒) ถ้าปฏิญาณตนพร้อมกันหลายคนทั้งชายและหญิง คำปฏิญาณตนให้เปลี่ยนดังนี้

                         เอสาหํ ชายเปลี่ยนเป็น เอเต มยํ หญิงเปลี่ยนเป็น เอตา มยํ

                         คจฺฉามิ ทั้งชายและหญิงเปลี่ยนเป็น คจฺฉาม

                         พุทฺธมามโกติ ทั้งชายและหญิงเปลี่ยนเป็น พุทฺธมามกาติ

                         มํ ทั้งชายและหญิงเปลี่ยนเป็น โน

             คำแปลให้เปลี่ยนเฉพาะคำว่า ข้าพเจ้า เป็น ข้าพเจ้าทั้งหลาย เท่านั้น นอกนั้นเหมือนกัน

   
      เมื่อปฏิญาณตนจบ พระสงฆ์ทั้งหมดประนมมือรับว่า สาธุ พร้อมกัน จากนั้นผู้ปฏิญาณตนนั่งพับเพียบแล้วประนมมือฟังโอวาทจากประธานสงฆ
    ๔. เมื่อจบโอวาทแล้ว ผู้ปฏิญาณตนรับว่า สาธุ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำอาราธนาศีลและสมาทานศีลตามลำดับ

 คำอาราธนาศีล ๕

                         อหํ ภนฺเต วิสุ ํ วิสุ ํ รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปฺจ สีลานิ ยาจามิ

                         ทุติยมฺป อหํ ภนฺเต วิสุ ํ วิสุ ํ รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปฺจ สีลานิ ยาจามิ

                         ตติยมฺป อหํ ภนฺเต วิสุ ํ วิสุ ํ รกฺขนตฺถาย ติสรเณน สห ปฺจ สีลานิ ยาจามิ

             (ผู้ปฏิญาณตนกล่าวเหมือนกันทั้งชายและหญิง แต่ถ้าอาราธนาพร้อมกันหลายคนให้เปลี่ยนคำ อหํ เป็น มยํ และ ยาจามิ เป็น ยาจาม)

      คำนมัสการพระพุทธเจ้าและคำสมาทานศีล ๕

                                 (ประธานสงฆ์กล่าวนำ ผู้ปฏิญาณตนกล่าวตาม)

                         นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

                         นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

                         นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

 

 

                   (ประธานสงฆ์ว่า ยมหํ วทามิ ตํ วเทหิ ผู้ปฏิญาณตนรับว่า อาม ภนฺเต ต่อจากนั้นประธานสงฆ์บอกคำขอถึงพระรัตนตรัย ผู้ปฏิญาณตนกล่าวตาม)

                         พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

                         ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

                         สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

                         ทุติยมฺป พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

                         ทุติยมฺป ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

                         ทุติยมฺป สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

                         ตติยมฺป พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

                         ตติยมฺป ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

                         ตติยมฺป สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

             (ประธานสงฆ์ว่า ติสรณคมนํ นิฏิตํ ผู้ปฏิญาณตนรับว่า อาม ภนฺเต ต่อจากนั้นประธานสงฆ์บอกศีลทีละข้อ ผู้ปฏิญาณตนกล่าวตาม)

                         ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

                         อทินฺนาทานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

                         กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

                         มุสาวาทา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

                         สุราเมรยมชฺชปมาทฏานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

                         อิมานิ ปฺจ สิกฺขาปทานิ สมาทิยามิ

             (ประธานสงฆ์บอกบทนี้จบเดียว ผู้ปฏิญาณตนกล่าวตาม ๓ ครั้ง) ประธานสงฆ์บอกอานิสงส์ของศีลต่อไปว่า

                   สีเลน สุคติ ํ ยนฺติ สีเลน โภคสมฺปทา

                   สีเลน นิพฺพุติ ํ ยนฺติ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย (ผู้ปฏิญาณตนไม่ต้องว่าตาม)


     ๕. เมื่อพระสงฆ์บอกอานิสงส์ของศีลจบแล้ว ผู้ปฏิญาณตนกราบ ๓ ครั้ง ถ้ามีเครื่องไทยธรรมให้นำมประเคน จากนั้นนั่งพับเพียบ เตรียมกรวดน้ำเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา
     ๖. ขณะประธานสงฆ์สวดว่า ยถา วริวหา... ผู้ปฏิญาณตนกรวดน้ำ และเมื่อท่านสวดขึ้นต้นว่า สพฺพีติโย... เทน้ำลงในที่รองรับให้หมดแล้วประนมมือรับพร เสร็จแล้วนั่งคุกเข่ากราบ ๓ ครั้ง

     ๓.๒ พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝนและผ้าจำนำพรรษา
     ๑. พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้นุ่งเวลาสรงน้ำในฤดูฝน แต่เดิมพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน คือ ไตรจีวร ประกอบด้วย ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ และผ้าสบง ส่วนผ้าอาบน้ำฝนทรงอนุญาตให้ใช้ในภายหลัง
     ประวัติการถวายผ้าอาบน้ำฝน วันหนึ่งนางวิสาขาให้คนรับใช้ไปนิมนต์พระสงฆ์มาฉันที่บ้านของตน ขณะนั้นฝนได้ตกลงมา เมื่อคนรับใช้ไปถึงที่วัดเห็นพระสงฆ์เปลือยกายอาบน้ำฝนก็เข้าใจว่าเป็นพวกชีเปลือย จึงกลับมาบอกนางวิสาขาว่าไม่พบพระสงฆ์ พบแต่พวกชีเปลือย นางวิสาขาก็ทราบทันทีว่าเป็นพระสงฆ์ที่กำลังสรงน้ำ เมื่อนางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าจึงทูลขอพุทธานุญาตที่จะถวายผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำแก่พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยมีข้อกำหนดเวลาไว้ดังนี้
     ๑) เวลาสำหรับแสวงหาผ้าเพื่อนำมาทำผ้าอาบน้ำฝน เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ไปถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ รวมเป็นเวลา ๑ เดือน
     ๒) เวลาสำหรับทำผ้าอาบน้ำฝน เริ่มตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
     ๓) เวลาสำหรับใช้สอย เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

     ระเบียบพิธี การถวายมี ๒ วิธี คือ การถวายเป็นหมู่ คือ การนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพร้อมกับผู้อื่นตามเวลาที่วัดกำหนด และการถวายเฉพาะตัว คือ การนำผ้าไปถวายแด่พระสงฆ์ในเวลาที่วัดกำหนดเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ซึ่งทั้ง ๒ วิธีมีระเบียบปฏิบัติดังนี้
     ๑) เมื่อถึงวันที่กำหนด พระภิกษุสามเณรและชาวบ้านมาประชุมพร้อมกันในโบสถ์หรือศาลาการเปรียญ
     ๒) ก่อนถวายจะมีการเทศน์ ๑ กัณฑ์ เกี่ยวกับประวัติและอานิสงส์ของการถวายผ้าอาบน้ำฝน
     ๓) หลังจากเทศน์จบ หัวหน้าทายกนำกราบพระและกล่าว นโม พร้อมกัน ๓ จบ จากนั้นกล่าวคำถวายผ้าอาบน้ำฝนซึ่งตั้งไว้ข้างหน้าพระสงฆ์

คำถวายผ้าอาบน้ำฝน

             อิมานิ มยํ ภฺนเต วสฺสิกสาฏิกานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ วสฺสิกสาฏิกานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

             ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอาบน้ำฝน พร้อมกับของอันเป็นบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าอาบน้ำฝน พร้อมกับของอันเป็นบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

(ในการถวายถ้าไม่มีเครื่องบริขารให้ตัดคำบาลีว่า สปริวารานิ และคำแปลว่า พร้อมกับของอันเป็นบริวารเหล่านี้ออก)

 

     ๔) เมื่อจบคำถวายแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ พร้อมกัน จากนั้นเจ้าอาวาสหรือพระภิกษุที่ได้รับมอบหมายออกมารับผ้าแทนสงฆ์
     ๕) หลังจากประเคนเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เมื่อพระสงฆ์สวดว่า ยถา วาริวหา... ให้กรวดน้ำ เสด็จแล้วประนมมือรับพร

     ๒. พิธีถวายผ้าจำนำพรรษา ผ้าจำนำพรรษา หมายถึง ผ้าที่ถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนในวัดนั้น ๆ ที่ได้รับและอนุโมทนากฐินเรียบร้อยแล้ว มีสิทธิรับและใช้สอยผ้าจำนำพรรษาได้อีก ๕ เดือน แต่หากไม่ได้รับและอนุโมทนากฐินจะรับและใช้สอยผ้านี้ได้ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น
     ระเบียบพิธี การถวายผ้าจำนำพรรษามีระเบียบปฏิบัติเช่นเดียวกับการถวายผ้าอาบน้ำฝน ต่างกันเฉพาะคำถวายเท่านั้น


 

 

คำถวายผ้าจำนำพรรษา

             อิมานิ มยํ ภนฺเต วสฺสาวาสิกจีวรานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต

 ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ วสฺสาวาสิกจีวรานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

             ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าจำนำพรรษา พร้อมกับของอันเป็นบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าจำนำพรรษา พร้อมกับของอันเป็นบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

 


     ๓.๓ พิธีทอดกฐิน
     กฐิน แปลว่า กรอบไม้หรือสะดึงสำหรับขึงเย็บจีวรของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล เนื่องจากชาวบ้านในสมัยนั้นจะถวายผ้าทั้งผืน พระสงฆ์จึงต้องนำมาผ้ามาขึงไม้สะดึงและเย็บจีวรเอง สังฆกรรมที่พระสงฆ์ตัดเย็บจีวรแล้วมอบหมายให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งครองจีวร เรียกว่า กรานกฐิน ส่วนการทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป แล้วให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะสงฆ์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น

     มีเรื่องเล่าว่าเกี่ยวกับประเพณีทอดกฐินไว้ว่า พระสงฆ์ชาวเมืองปาวาจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ถึงก็เข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์เหล่านั้นจึงต้องจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอด ๓ เดือน จึงออกเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากยังมีฝนตกชุก ทำให้จีวรของพระสงฆ์เหล่านั้นเปื้อนโคลน พระพุทธเจ้าทรงเห็นถึงความลำบากนั้น จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนรับผ้ากฐินได้

     การทอดกฐินมีกำหนดเวลาตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๑ เดือน ในวัดหนึ่ง ๆ จะทอดกฐินเพียง ๑ ครั้งใน ๑ ปี ดังนั้น การทอดกฐินจึงเป็น กาลทาน คือ ทานที่ถวายได้เฉพาะในเวลาที่กำหนด

     กฐินแบ่งเป็น ๒ ประเภทตามระยะเวลาในการจัดเตรียม คือ
     ๑. มหากฐิน คือ กฐินไม่เร่งด่วน ต้องเตรียมตัวเป็นเวลาหลายวัน และมีการตระเตรียมสิ่งของอื่น ๆ มากมาย เช่น กฐินสามัคคี
     ๒. จุลกฐิน คือ กฐินเร่งด่วน ในสมัยพุทธกาล หมายถึง กฐินที่พระสงฆ์จะต้องกรอด้าย ทอ ตัดเย็บ ย้อมให้เป็นผ้านุ่งผืนใดผืนหนึ่งให้เสร็จภายในวันเดียว แต่ปัจจุบันหมายถึง กฐินที่มีการบอกกล่าวและทำพิธีทอดกันในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ๑–๒ วัน
ในประเทศไทยนิยมเรียกชื่อกฐินตามสถานะของผู้ทอดและประเภทวัดที่จะไปทอด กล่าวคือ
          ๑. กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เองหรือโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์นำไปทอดถวายที่พระอารามหลวง
          ๒. กฐินพระราชทาน กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน องค์กร หรือบุคคลนำไปทอดที่พระอารามหลวง
 


          ๓. กฐินต้น หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดเป็นการส่วนพระองค์ที่วัดราษฎร์
          ๔. กฐินสามัคคี หมายถึง กฐินที่หน่วยงาน องค์กร กลุ่มบุคคล หรือบุคคลนำไปถวายที่วัดราษฎร์ โดยส่วนใหญ่จะมีการบอกบุญเรี่ยไรเงินบริจาคร่วมกันทอดเป็นหมู่คณะ
 


     ระเบียบพิธี การทอดกฐินในแต่ละวัดมีระเบียบวิธีดังนี้
     ๑. การเตรียมการ
     เริ่มจากการจองกฐิน คือการแจ้งความประสงค์ที่จะนำผ้ากฐินไปทอดยังวัดที่ต้องการ จากนั้นจึงบอกบุญแก่ญาติพี่น้องและผู้มีจิตศรัทธาเพื่อร่วมพิธีในวันเวลาที่กำหนด แล้วจึงเตรียมผ้ากฐินและเครื่องบริวาร เช่น ผ้าไตรจีวร ๓ ไตร และบริวารกฐิน (ไทยธรรม เงิน เครื่องใช้ของสงฆ์) เป็นต้น
     ๒. การถวายกฐิน มีระเบียบพิธีดังนี้
          ๑) นำเครื่องกฐินและเครื่องบริวารไปตั้ง ณ วัดก่อน พอถึงกำหนดเวลาเจ้าภาพและคณะจะพากันไปวัดเพื่อทำพิธีถวาย
          ๒) ก่อนกำหนดเวลาจะนำเครื่องบริวารกฐินไปตั้งไว้ในพระอุโบสถก่อน ส่วนผ้ากฐินจะนำเข้าทีหลัง
          ๓) เมื่อถึงกำหนดเวลาที่พระสงฆ์ผู้รับกฐินลงพระอุโบสถพร้อมกัน เจ้าภาพพร้อมผู้ร่วมพิธีจะไปที่พระอุโบสถ เมื่อถึงด้านหน้า เจ้าหน้าที่จะนำผ้ากฐินไปรอส่งให้ประธานผู้ทอดกฐิน ประธานรับผ้ากฐินวางลงบนมือ ถือประคองนำคณะเข้าสู่พระอุโบสถ แล้วนำผ้ากฐินวางบนพานที่จัดไว้ข้างหน้าพระสงฆ์
          ๔) ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและกราบ ๓ ครั้ง จากนั้นลุกขึ้นมายกผ้ากฐินที่วางไว้บนพานวางพาดใส่สองแขน ประนมมือ หันหน้าไปทางพระประธาน กล่าวนโม ๓ จบ แล้วหันหน้าตรงไปยังพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ดังนี้

คำถวายผ้ากฐิน ๒ แบบ

แบบที่ ๑ แบบมหานิกาย

             อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม

             อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (บางแห่งเพิ่มคำว่า ทุติยมฺปิ หน้า อิมํ)

             อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (บางแห่งเพิ่มคำว่า ตติยมฺปิ หน้า อิมํ)

             ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน พร้อมกับของอันเป็นบริวารนี้ แด่พระสงฆ์ (๓ ครั้ง)

แบบที่ ๒ แบบธรรมยุติกนิกาย

             อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปริวารํ

กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย             

             ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐิน พร้อมกับของอันเป็น

บริวารนี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน พร้อมกับของอันเป็นบริวารนี้ ของข้าพเจ้า

ทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้า

ทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ




 

          ๕) เมื่อกล่าวคำถวายผ้ากฐินจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ ประธานวางผ้ากฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับมานั่งที่ ต่อจากนั้นเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์
 

 

          ๖) หลังเสร็จพิธีกรานกฐิน ประธานและผู้ร่วมพิธีประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับ จากนั้นประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนาว่า ยถา วาริวหา... ประธานหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ เสร็จแล้วประนมมือรับพร

     ๓.๔ พิธีทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
     การทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์หรือ การทำบุญเลี้ยงพระ เป็นพิธีกรรมที่นิยมในหมู่พุทธศาสนิกชน สามารถทำได้ทั้งในงานมงคลและอวมงคล
 


     ระเบียบพิธี มีระเบียบปฏิบัติดังนี้
     ๑. การทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ในงานมงคล แต่เดิมการทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ในงานมงคลจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น เรียกว่า สวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นหรือเวลาเพลก็ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เรียกกันว่า เลี้ยงพระเช้า เลี้ยงพระเพล
          ๑) การอาราธนาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ นิยมนิมนต์พระสงฆ์เป็นจำนวนคี่ แต่งานมงคลสมรสสามารถนิมนต์เป็นจำนวนคู่ได้
          การอาราธนานิมนต์พระโดยทั่วไปมี ๒ วิธี คือ การอาราธนาด้วยปากเปล่าและการทำเป็นหนังสืออาราธนาที่เรียกว่า ฎีกาอาราธนา ในงานมงคลจะใช้คำว่า ขออาราธนาเจริญพระพุทธมนต์ ขณะที่งานอวมงคลใช้ว่า ขออาราธนาสวดพระพุทธมนต์
 

 

          ๒) ด้านการเตรียมการ หากประกอบพิธีที่วัด จะต้องแจ้งให้ทางวัดทราบเกี่ยวกับเรื่องที่จะให้วัดช่วยทำและเรื่องที่เจ้าภาพจะทำเอง แต่หากประกอบพิธีที่บ้าน เจ้าภาพต้องเตรียมการในด้านต่าง ๆ ดังนี้
               (๑) สิ่งของที่ใช้ในพิธี ได้แก่ โต๊ะหมู่บูชา ๑ ชุด พระพุทธรูป ๑ องค์ แจกันและเชิงเทียนอย่างละ ๑ คู่ กระถางธูป ๑ ใบ ภาชนะสำหรับรับพระพุทธมนต์ ๑ ใบ พร้อมเทียนขี้ผึ้งสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ ดอกไม้ ธูป เทียน ที่พรมน้ำพระพุทธมนต์ อาสนะ (จัดตามจำนวนพระสงฆ์) กระโถน แก้วน้ำร้อน–น้ำเย็น สายสิญจน์ ๑ ม้วน และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ
               (๒) เครื่องไทยธรรม หมายถึง สิ่งของที่จะใช้ถวายพระสงฆ์ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับพระภิกษุสามเณร
 


               (๓) ควรทำความสะอาดสถานที่ที่จะทำพิธีให้เรียบร้อย
               (๔) จัดอาสน์สงฆ์สำหรับเป็นที่นั่งของพระสงฆ์ โดยจะต้องจัดให้สูงกว่าที่นั่งของชาวบ้าน แต่ต้องต่ำกว่าพระพุทธรูป
               (๕) การจัดโต๊ะหมู่บูชา หากใช้โต๊ะหมู่บูชาเป็นชุดควรจัดให้ถูกต้องตามชุดนั้น ๆ เช่น โต๊ะหมู่บูชาแบบหมู่ ๕ หรือหมู่ ๗ อาจใช้ตั่งหรือโต๊ะที่ไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไปปูด้วยผ้าขาวหรือผ้าสีเรียบ ๆ แล้วใช้ตั่งหรือโต๊ะตัวเล็ก ๆ อีกตัวหนึ่งตั้งซ้อนเป็นที่ตั้งพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชาจะต้องหันหน้าออกทางทิศเดียวกันกับพระสงฆ์ ส่วนใหญ่มักตั้งให้พระพุทธรูปหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออก
 


               (๖) การอัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนโต๊ะหมู่บูชา ควรทำเมื่อใกล้เวลาประกอบพิธี พระพุทธรูปสามารถใช้ปางใดก็ได้ แต่ต้องไม่เล็กจนเกินไป หากมีที่ครอบให้เอาออกก่อน
               (๗) ภาชนะสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ หากไม่มีภาชนะโดยเฉพาะ สามารถใช้บาตรของพระหรือขันน้ำพานรองแทนได้ แต่ต้องไม่ใช้ขันเงินหรือทองคำ โดยนำภาชนะไปใส่น้ำที่สะอาด ติดเทียนขี้ผึ้งแท้ ๑ เล่มไว้ที่ปากครอบน้ำพระพุทธมนต์หรือปากบาตรหรือขันนั้น แล้วนำไปวางไว้ข้างหน้าโต๊ะหมู่บูชา ใกล้กับพระสงฆ์ที่เป็นประธาน
               (๘) การวางด้ายสายสิญจน์ มีหลักว่าให้วงรอบรั้วบ้าน แต่หากไม่สะดวกให้วงเฉพาะห้องหรืออาคารพิธีโดยรอบ หรืออาจวงสายสิญจน์จากฐานของพระพุทธรูปบนโต๊ะบูชาแล้วโยงมาที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์เท่านั้นก็ได้ วิธีวางสายสิญจน์ต้องวางจากขวาไปซ้ายของสถานที่หรือวัตถุและควรโยงหลบป้องกันมิให้ข้ามผ่าน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องผ่านสายสิญจน์ ห้ามข้าม ให้ลอดมือกับศีรษะผ่านไป เมื่อวงภาชนะสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ ๓ รอบแล้ว ก็วางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้บนพานรองซึ่งอยู่ใกล้กับภาชนะสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์
               (๙) การเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ ควรเตรียมน้ำร้อน น้ำเย็น และกระโถนให้พร้อม ไม่ควรจัดหมากพลูหรือบุหรี่ถวาย
          ๓) ข้อปฏิบัติในการเลี้ยงพระ เมื่อถึงเวลากำหนดเลี้ยงพระ เจ้าภาพควรปฏิบัติดังนี้
               (๑) การต้อนรับพระสงฆ์ หากพระสงฆ์ที่มาถึงไม่ได้สวมรองเท้า เจ้าภาพต้องคอยล้างเท้าและเช็ดเท้าท่าน แต่ถ้าท่านสวมรองเท้าให้คอยเก็บรองเท้าของท่านให้เป็นสัดส่วน แล้วจึงนิมนต์นั่งยังอาสนะที่จัดไว้ แล้วจึงประเคนเครื่องรับรอง
               (๒) การดำเนินพิธีตามลำดับ เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง ต่อจากนั้นอาราธนาศีล สมาทานศีล อาราธนาพระปริตรตามลำดับ เมื่อพระสงฆ์เริ่มเจริญพระพุทธมนต์ ทุกคนในพิธีต้องนั่งประนมมือฟังด้วยความเคารพ พอถึงมงคลสูตรซึ่งขึ้นต้นว่า อเสวนา... ให้เจ้าภาพไปจุดเทียนน้ำพระพุทธมนต์แล้วประเคนภาชนะสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ให้ประธานสงฆ์
               (๓) การถวายข้าวพระพุทธและเลี้ยงพระ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว เจ้าภาพต้องถวายข้าวพระพุทธ ใส่สำรับแล้วนำไปวางไว้ตรงหน้าโต๊ะหมู่บูชา เสร็จแล้วจุดธูป ๓ ดอก ปักในกระถางธูปหน้าโต๊ะหมู่บูชา นั่งคุกเข่าประนมมือว่า นโม ๓ จบ และกล่าวคำถวายว่า อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ จบแล้วกราบ ๓ ครั้ง ต่อจากนั้นเป็นการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วจึงถวายเครื่องไทยธรรมต่อไป และเมื่อการถวายภัตตาหารเสร็จสิ้นลงแล้ว เจ้าภาพควรลาข้าวพระพุทธ โดยนั่งคุกเข่าหน้าสำรับ กราบ ๓ ครั้ง ประนมมือกล่าวคำว่า เสสํ มงฺคลํ ยาจามิ จบแล้วไหว้ยกข้าวพระพุทธออกไป
               (๔) การกรวดน้ำ ควรใช้น้ำบริสุทธิ์ เมื่อประธานสงฆ์เริ่มสวดว่า ยถา วาริวหา... เจ้าภาพหลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศลลงในภาชนะสำหรับรองรับ ขณะรินให้สำรวมจิตอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับว่า อิทํ เม โหตุ สุขิตา โหนฺตุ เมื่อพระสงฆ์เริ่มสวดอนุโมทนาซึ่งเริ่มด้วยคำว่า สพฺพีติโย... พร้อมกัน ควรรินน้ำให้หมด แล้วประนมมือรับพร เมื่อพระสงฆ์สวดจบให้นำน้ำที่กรวดไปเทลงพื้นดินนอกอาคารหรือตามต้นไม้ แต่ห้ามเทลงในที่สกปรก ต่อจากนั้นรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์



การกรวดน้ำเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย กระทำกันทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล 


     ๒. การทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ในงานอวมงคล การทำบุญงานอวมงคล หมายถึง การทำบุญเกี่ยวกับเรื่องการตาย นิยมทำ ๒ กรณี คือ การทำบุญหน้าศพ และการทำบุญอัฐิ
          ๑) การทำบุญหน้าศพ มีระเบียบปฏิบัติ ดังนี้
               (๑) การอาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ นิยมเป็นจำนวนคู่ เช่น ๘ รูป ๑๐ รูป หรือมากกว่านั้น
               (๒) ไม่มีการตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์และไม่มีการวงด้ายสายสิญจน์ แต่มีการเตรียมสายโยง (สายสิญจน์) หรือภูษาโยงสำหรับต่อจากศพเพื่อใช้บังสุกุล
               (๓) การบังสุกุลจะทำหลังจากพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว และหลังจากบังสุกุลแล้วจึงถวายเครื่องไทยธรรม
 


          ๒) การทำบุญอัฐิ มีระเบียบพิธีทำนองเดียวกันกับการทำบุญหน้าศพ แต่เจ้าภาพต้องเตรียมที่ตั้งอัฐิหรือภาพที่ระลึกของผู้ตายแยกต่างหากจากโต๊ะหมู่บูชา ตั้งกระถางธูปและเชิงเทียน ๑ คู่ ที่หน้าโต๊ะอัฐิหรือภาพเพื่อบูชา

๔. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันธรรมสวนะ และเทศกาลสำคัญ
     ๔.๑ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
     วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หมายถึง วันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา เหตุการณ์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพระรัตนตรัย โดยวันที่รู้จักกันโดยทั่วไปมีดังนี้

     ๑. วันมาฆบูชา มาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หากในปีใดมีเดือน ๘ สองหน จะเลื่อนไปทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
     ความสำคัญ วันมาฆบูชาเป็นคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักการของพระพุทธศาสนาในที่ประชุมใหญ่ของพระสาวก โดยการประชุมดังกล่าวมีองค์กระกอบ ๔ ประการ คือ
     ๑) วันประชุมตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ
     ๒) พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์มาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
     ๓) พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา
     ๔) พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์

     การปฏิบัติตน ในวันมาฆบูชาชาวพุทธควรปฏิบัติตน เช่น ทำบุญตักบาตร และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังธรรมเทศนา รักษาศีล บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หรือร่วมพิธีเวียนเทียนที่วัดหรือศาสนสถานเพื่อเป็นพุทธบูชา
 


     หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โอวาทปาติโมกข์
     โอวาทปาติโมกข์ หมายถึง หลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มี ๓ ประการ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องใส

     ๒. วันวิสาขบูชา วิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองหน (อธิกมาส) ก็จะเลื่อนไปทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗

     ความสำคัญ วันวิสาขบูชาเป็นคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ ได้มีมติประกาศรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล

     การปฏิบัติตน มีหลักปฏิบัติเช่นเดียวกับวันมาฆบูชา
 


     หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานมีอยู่มากมาย แต่ในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะอริยสัจ ๔

     อริยสัจ หมายถึง หลักความจริงอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง เป็นหลักการที่นำไปสู่การดับทุกข์หรือความหลุดพ้น มีหลัก ๔ ประการ คือ
     ๑) ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง หรือบกพร่อง จำแนกเป็น ๒ ประการ คือ
          (๑) สภาวทุกข์ คือ ความทุกข์ประจำที่ทุกคนมีเหมือนกันหมดและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย
          (๒) ปกิณณกทุกข์ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการทนต่อเหตุภายนอกที่มากระทบไม่ได้ เรียกว่า ทุกข์จรมา เช่น ความเสียใจ ความผิดหวัง
     ๒) สมุทัย คือ สาเหตุของความทุกข์ สมุทัยมี ๓ ประการ คือ
          (๑) กามตัณหา คือ ความอยากได้
          (๒) ภวตัณหา คือ ความอยากเป็น
          (๓) วิภวตัณหา คือ ความอยากไม่เป็น (ความไม่อยากเป็น)
     ๓) นิโรธ คือ ความหมดสิ้นความทุกข์
     ๔) มรรค คือ แนวทางปฏิบัติเพื่อความหมดสิ้นความทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘

     ๓. วันอัฏฐมีบูชา อัฏฐมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
     ความสำคัญ วันอัฏฐมีบูชาเป็นวันคล้ายวันที่มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ

     การปฏิบัติตน โดยทั่วไปมีการปฏิบัติเช่นเดียวกับวันสำคัญอื่น ๆ
 


     หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวันอัฏฐมีบูชาที่ควรศึกษาและนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ได้แก่ สุจริต ๓
     สุจริต หมายถึง ความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ สุจริตแสดงออกได้ ๓ ทาง ดังนี้
     ๑) ทางกาย เรียกว่า กายสุจริต หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกทางกาย เช่น การเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเว้นจากลักทรัพย์
     ๒) ทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต หมายถึง ความประพฤติที่ดีเกิดทางวาจา เช่น การเว้นจากการพูดโกหก รวมทั้งคำหยาบ
     ๓) ทางใจ เรียกว่า มโนสุจิต หมายถึง ความประพฤติที่เกิดขึ้นทางใจ เช่น การไม่พยาบาทอาฆาตผู้อื่น

     ๔. วันอาสาฬหบูชา อาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หากปีใดมีเดือน ๘ สองหนก็จะทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง
     ความสำคัญ วันอาสาฬหบูชาเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ธรรมที่ทรงแสดงต่อมาได้มีการรวบรวมและเรียกชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในวันดังกล่าวได้เกิดพระสงฆ์รูปแรก ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม

     การปฏิบัติตน มีหลักปฏิบัติเช่นเดียวกับวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา
 


     หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวันอาสาฬหบูชา ได้แก่ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
     ธัมมจักกัปวัตตนสูตร มีใจความสำคัญกล่าวถึงที่สุด ๒ อย่างที่ไม่ควรปฏิบัติและทางที่ควรปฏิบัติ คือ มรรคมีองค์ ๘
 

 

     ๑) ที่สุด ๒ อย่างที่ไม่ควรปฏิบัติ ได้แก่
          (๑) กามสุขัลลิกานุโยค หมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข
          (๒) อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนให้ยากลำบากด้วยการทรมานตนเอง

     ๒) มรรคมีองค์ ๘ หมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๘ ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

     พระพุทธเจ้าทรงเรียกข้อปฏิบัติทั้ง ๘ ประการนี้ว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลางที่ไม่เคร่งหรือหย่อนเกินไป

     ๔.๒ วันธรรมสวนะและเทศกาลสำคัญ
     ๑. วันธรรมสวนะ วันธรรมสวนะ หมายถึง วันฟังธรรม อาจเรียกว่าเรียกว่า วันพระ หรือ วันอุโบสถ เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนมาประชุมกันที่วัดเพื่อให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และฟังธรรม ในประเทศไทยกำหนดไว้เดือนละ ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ (บางเดือนเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ)

     ความสำคัญ วันพระเป็นวันแห่งการทำความดี พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้ชาวพุทธได้มีโอกาสทำบุญ รักษาศีล และฟังธรรม เพื่อทำจิตใจให้สะอาด สงบ และมีปัญญามากยิ่งขึ้น

     หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกับวันธรรมสวนะทั้งสิ้น เพราะวันดังกล่าวเป็นวันฟังธรรม แต่หลักธรรมที่นำมาเป็นแนวทางในการศึกษาในที่นี้คือ อิทธิบาท ๔

     อิทธิบาท คือ หลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จ มี ๔ ประการ ได้แก่
     ๑) ฉันทะ คือ ความสนใจ ความรัก ความชอบ
     ๒) วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม
     ๓) จิตตะ คือ ความเอาใจใส่
     ๔) วิมังสา คือ การพิจารณาใคร่ครวญ

     ๒. เทศกาลสำคัญ เทศกาล หมายถึง คราวหรือสมัยที่กำหนดไว้เป็นประเพณีเพื่อทำบุญและเพื่อความรื่นเริงท้องถิ่น เทศกาลที่จะนำมาศึกษานี้ ได้แก่
          ๑) เทศกาลเข้าพรรษา เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
          ความสำคัญ เป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์จะต้องอยู่ประจำวัดใดวัดหนึ่งตลอด ๓ เดือน ชาวพุทธจึงถือโอกาสทำความดีเป็นกรณีพิเศษ เช่น งดดื่มสุรา และตั้งใจรักษาศีล เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษายังมีการถวายผ้าอาบน้ำฝนและการถวายเทียนพรรษาอีกด้วย
 


          หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง การที่ชาวพุทธถวายผ้าอาบน้ำฝนหรือถวายเทียนพรรษา สะท้อนถึงหลักธรรมเรื่อง ความเสียสละและความสามัคคี
          ความเสียสละ หมายถึง ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน สามารถทำได้ ๒ วิธี คือ เสียสละวัตถุหรือสิ่งของ และเสียสละอารมณ์หรือกิเลสที่เป็นเหตุให้จิตใจเศร้าหมอง
          ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความรักใคร่ปรองดองกัน เป็นความสุขที่นำความสุขและความเจริญมาสู่หมู่คณะ

          ๒) เทศกาลออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
          ความสำคัญ วันออกพรรษาเป็นวันที่พระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน แล้วทำพิธีปวารณา คือ การยินยอมหรือเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อยก็ตาม การที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เช่นนี้ก็เนื่องจากตลอดระยะเวลาของการจำพรรษา พระภิกษุย่อมเห็นความประพฤติและข้อบกพร่องของกันและกัน ฉะนั้น ก่อนที่จะแยกย้ายกันจาริกไปจึงควรมีการว่ากล่าวตักเตือนเพื่อให้เจ้าตัวได้นำไปแก้ไข ซึ่งจะจึงก่อให้เกิดประโยชน์ คือ ทำให้รู้จักปรับปรุงแก้ไขตนเอง ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
          กิจกรรมพิเศษที่ชาวพุทธจะทำในเทศกาลออกพรรษา ได้แก่ การตักบาตรเทโวโรหณะ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า การตักบาตรเทโว
          การตักบาตรเทโว เป็นการทำบุญตักบาตรเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระมารดา
 


        หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง การปวารณาของสงฆ์ชาวพุทธสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะให้มากยิ่งขึ้น

๕. การบริหารจิตและการเจริญปัญญา
     การบริหารจิต หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตให้สงบ เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ การบริหารจิตจะทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านเกิดความสงบนิ่งอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่คิดถึงเรื่องอื่น
     การเจริญปัญญา หมายถึง การฝึกฝนอบรมหรือการพัฒนาตนให้เกิดปัญญา ปัญญาจะมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพต้องอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน
 


     ๕.๑ การสวดมนต์แปลและแผ่เมตตา
          ๑. การสวดมนต์แปล คือ การนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่แปลจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทยมาสวดสาธยายเพื่อให้เกิดความสงบ ความเป็นสิริมงคล ตลอดจนเกิดความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งบทสวดที่นิยม ได้แก่ บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ
 

 

บทสวดสรรเสริญพุทธคุณ

             อิติป โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร

ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ

             พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความเจริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

 

บทสวดสรรเสริญธรรมคุณ

             สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ

             พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

 

บทสวดสรรเสริญสังฆคุณ

             สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ายปฏิปนฺโน

ภควโต สาวกสงฺโฆ สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏ

ปุริสปุคฺคลา เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลิกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ

             พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ

             พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดให้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

 

 

 

         

          ๒. การแผ่เมตตา เป็นการส่งความรักและความปรารถนาดีไปยังผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู เพื่อเป็นการแสดงไมตรีจิต
 

คำแผ่เมตตา

สพฺเพ สตฺตา                           สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

อเวรา โหนฺตุ                           จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ                 จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

อนีฆา โหนฺตุ                           จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ                จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด

 

     
     ๕.๒ วิธีปฏิบัติและประโยชน์ของการบริหารจิตและการเจริญปัญญาตามหลักสติปัฏฐาน ๔
     ๑. วิธีปฏิบัติของการบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐาน
          สติปัฏฐาน หมายถึง การมีสติกำหนดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ให้รู้และเข้าใจตามที่เป็นจริง มี ๔ ประการ คือ
          ๑) การมีสติกำหนดพิจารณากาย หมายถึง การมีสติกำหนดรู้เท่าทันในเรื่องของกายและอิริยาบถต่าง ๆ ของกาย
               (๑) การมีสติกำหนดอิริยาบถยืน ทำได้โดยการยืนด้วยอาการสำรวม ยกมือไพล่หลัง มือขวาจับมือซ้ายไว้ตรงกระเบนเหน็บ หรือวางไว้ข้างหน้าบริเวณสะดือ ยืนตัวตรง หลับตาสำรวมจิต ให้สติจับอยู่ที่ร่างกาย กำหนดว่า ยืนหนอ ช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงสู่ปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ แต่ละครั้งแบ่งเป็น ๒ ช่วง ดังนี้
               ช่วงแรก กำหนดลงว่า ยืน โดยสำรวมจิต คือ วาดมโนภาพร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ และกำหนดว่า หนอ คิดถึงร่างกายจากสะดือไปปลายเท้า นับเป็น ๑ ครั้ง
               ช่วงสอง กำหนดขึ้นว่า ยืน สำรวมจิตคิดถึงร่างกายจากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ และกำหนดว่า หนอ คิดถึงร่างกายจากสะดือไปทางกลางกระหม่อม นับเป็น ๒ ครั้ง
               กำหนดขึ้น–ลง เช่นนี้จนครบ ๕ ครั้ง แล้วลืมตาขึ้น ค่อย ๆ ก้มมองดูปลายเท้า ให้สติจับอยู่ที่เท้าหรือที่พื้นในระยะไม่เกิน ๓ ก้าว เพื่อเตรียมกำหนดอิริยาบถต่อไป

               (๒) การมีสติกำหนดอิริยาบถเดิน หรือที่เรียกว่า การเดินจงกรม มีทั้งหมด ๖ ระยะ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง ๔ ระยะ คือ
               ระยะที่ ๑ กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ก่อนจะเดินให้สำรวมจิตอยู่ที่เท้าขวา แล้วกำหนดรู้ในใจว่า ขวา ยกส้นเท้าขวาห่างจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว ให้มีสติกำหนดรู้พร้อมกับส้นเท้าขวาที่ยกขึ้น กำหนด ย่าง ให้ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้า ๆ ให้สติกำหนดรู้พร้อมเท้าขวาที่เคลื่อนไปข้างหน้า พอกำหนดว่า หนอ ค่อย ๆ วางเท้าลงพื้น โดยปลายเท้าและส้นเท้าถึงพื้นพร้อมกัน สติกำหนดรู้พร้อมกับเท้าที่ลงสัมผัสพื้น


การเดินจงกรมระยะที่ ๑ กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
 

               จากนั้นสำรวมจิตไว้ที่เท้าซ้าย มีสติกำหนดที่เท้าซ้ายแล้วกำหนดว่า ซ้าย ย่าง หนอ ในลักษณะเดียวกับ ขวาย่างหนอ ทำสลับขวา–ซ้ายเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยระยะในการก้าวเดินให้ห่างกันประมาณ ๑ คืบ ส่วนสายตามองดูที่ปลายเท้าหรือที่พื้นในระยะไม่เกิน ๓ ก้าว ส่วนระยะทางนั้นขึ้นอยู่กับสถานที่
               เมื่อเดินสุดสถานที่ที่กำหนด หยุดแล้วขยับเท้ามาเคียงกัน ยืนตัวตรง หลับตา มีสติกำหนดว่า ยืนหนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง เหมือนกับอิริยาบถยืน จากนั้นลืมตาก้มหน้าลงดูปลายเท้า เพื่อทำท่าต่อไป
               ท่ากลับ ให้กำหนดว่า กลับหนอ ๔ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ยกปลายเท้าขวาให้ส้นเท้าหมุนไปทางขวา ๙๐ องศา พร้อมกำหนดว่า กลับ โดยให้สติอยู่ที่ส้นเท้าขวา แล้วค่อย ๆ วางปลายเท้าขวาลง พร้อมกำหนดว่า หนอ ครั้งที่ ๒ เคลื่อนเท้าซ้ายมาชิดกับเท้าขวา พร้อมกำหนดว่า กลับ โดยให้สติอยู่ที่เท้าซ้ายที่เคลื่อนไหว แล้วค่อย ๆ วางเท้าซ้ายลง พร้อมกำหนดว่า หนอ ครั้งที่ ๓ ทำเช่นเดียวกับครั้งที่ ๑ ส่วนครั้งที่ ๔ ทำเช่นเดียวกับครั้งที่ ๒ ซึ่งอยู่ในทางกลับหลังหัน


ท่ากลับ
 


               จากนั้นให้กำหนดว่า ยืนหนอ ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง และลืมตา ก้มหน้ามองดูปลายเท้าแล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลา

               การกำหนดเดินจงกรม ระยะที่ ๒ กำหนดว่า ยกหนอ เหยียบหนอ ระยะที่ ๓ ยกหนอ ย่างหนอ ระยะที่ ๔ ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ การเดินจงกรมในระยะดังกล่าวมีวิธีเดินลักษณะเดียวกับระยะที่ ๑ แต่มีความละเอียดมากขึ้น

               ระยะที่ ๒ กำหนดว่า ยกหนอ เหยียบหนอ



               ระยะที่ ๓ กำหนดว่า ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ

 


               ระยะที่ ๔ กำหนดว่า ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ





               (๓) การมีสติกำหนดอิริยาบถนั่ง ควรทำต่อจากเดินจงกรม เมื่อเดินจงกรมตามกำหนดเวลา กำหนดว่า ยืนหนอ อีก ๕ ครั้ง จากนั้นกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า ปล่อยมือหนอ ช้า ๆ จนกว่าจะสุดมือ ค่อย ๆ ย่อตัวลง พร้อมมีสติกำหนดตามอาการ เช่น ย่อตัวหนอ เท้าพื้นหนอ คุกเข่าหนอ นั่งหนอ
               วิธีนั่ง นิยมนั่งขัดสมาธิบนพื้น วางเท้าขวาทับบนเท้าซ้าย มือขวาหงายวางลงบนมือซ้าย นั่งตัวตรง ปล่อยทุกส่วนของร่างกายให้เป็นไปตามธรรมชาติ หลับตา สติจับที่ท้อง กำหนดอาการพองยุบของท้อง เวลาหายใจเข้า กำหนดว่า พองหนอ เวลาหายใจออกกำหนดว่า ยุบหนอ สติกำหนดตามอาการนั้นไม่ช้าหรือเร็วกว่ากัน
               นอกจากนี้ยังมีวิธีที่นิยมกันมาก คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออกที่เรียกว่าอานาปานสติ
               อานาปานสติ หมายถึง การมีสติกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น

               (๔) การมีสติกำหนดอิริยาบถนอน ให้ค่อย ๆ เอนตัวพร้อมกำหนดตามไปว่า นอนหนอ ช้า ๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้ว ให้เอาสติมาจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ และสังเกตจะหลับตอนพองหนอหรือยุบหนอ
 


               (๕) การมีสติกำหนดอิริยาบถอื่น ๆ การทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหาร ผู้ปฏิบัติต้องมีสติสัมปชัญญะเป็นปัจจุบันตลอดเวลา
               (๖) การมีสติกำหนดทวารทั้ง ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย โดยให้สติกำกับที่ทวารนั้น ๆ เช่น เมื่อตาเห็นรูปให้กำหนดว่า เห็นหนอ เมื่อหูได้ยินเสียงให้กำหนดว่า ได้ยินหนอ เป็นต้น

          ๒) การมีสติกำหนดพิจารณาเวทนา หมายถึง การมีสติกำหนดรู้อย่างเท่าทันเรื่องเวทนา ในการฝึกสมาธิเมื่อมีความรู้สึก เช่น เจ็บ เมื่อย คัน ก็มีสติกำหนดตามความรู้สึกดังกล่าวสั้น ๆ ว่า เจ็บหนอ เมื่อยหนอ คันหนอ จนกว่าความรู้สึกจะหายไป แล้วกลับมากำหนดพองยุบเหมือนเดิม
          ๓) การมีสติกำหนดพิจารณาจิต หมายถึง การมีสติกำหนดรู้ทันสภาพหรืออาการของจิต เช่น ขณะเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เมื่อคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ให้มีสติกำหนดว่า คิดหนอ เมื่อยินดีกำหนดว่า ยินดีหนอ เป็นต้น
          ๔) การมีสติกำหนดพิจารณาธรรม หมายถึง การมีสติกำหนดรู้ทันสิ่งที่ปรากฏหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น

          การบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐานเน้นอานาปานสติมีวิธีปฏิบัติดังนี้
          ๑) ขั้นเตรียมการ ควรเลือกสถานที่ที่สงบ จากนั้นกำหนดเวลาในการฝึกซึ่งควรเป็นเวลาเช้าหรือก่อนนอน โดยแต่ละครั้งที่ฝึกไม่ควรนานเกินไป มีการสมาทานศีลและรักษาศีล โดยรับจากพระสงฆ์หรือตั้งใจด้วยตนเอง แล้วจึงบูชาพระรัตนตรัยหรือสวดมนต์แปลเพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์ จากนั้นแผ่เมตตาเพื่อส่งความปรารถนาดีไปยังสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ข้อสำคัญในการฝึกคือตัดความกังวลต่าง ๆ ออกไป และคิดถึงแต่เรื่องการบริหารจิตเท่านั้น
 


          ๒) ขั้นฝึกปฏิบัติ ให้เลือกฝึกบริหารจิตด้วยสติปัฏฐานเน้นอานาปานสติแบบใดแบบหนึ่งจากที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น

     ๒. ประโยชน์ของการบริหารจิตตามหลักสติปัฏฐาน
     ช่วยให้ผู้ฝึกมีจิตใจสบาย มีสติมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคความดัน โรคกระเพาะอาหารได้อีกด้วย นอกจากนี้ในเรื่องบุคลิกภาพยังช่วยในด้านการควบคุมอารมณ์ ส่วนประโยขน์สูงสุดของการบริหารจิตคือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน

     ๓. วิธีปฏิบัติของการเจริญปัญญา เมื่อจิตเกิดความสงบและมีประสิทธิภาพก็จะเกิดปัญญาตามมา ปัญญา คือ ความรอบรู้เรื่องโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งแบ่งได้ ๓ ประเภทตามแหล่งกำเนิด คือ
          ๑) สุตมยปัญญา คือ ความรอบรู้ที่เกิดจากการฟังหรือการศึกษา
          ๒) จินตามยปัญญา คือ ความรอบรู้ที่เกิดจากการคิดพิจารณาเรื่องที่รับรู้ แล้วนำมาวิเคราะห์และรวบรวมเป็นความรู้ใหม่
          ๓) ภาวนามยปัญญา คือ ความรอบรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ ถือเป็นปัญญาขั้นสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา
 


          การเจริญปัญญาตามประเภทของปัญญาทำได้ดังนี้
          ๑) สุตมยปัญญา มีวิธีฝึกอบรมดังนี้
               (๑) ทำจิตให้เป็นสมาธิ
               (๒) ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ให้มาก
               (๓) อ่านหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภท รวมทั้งศึกษาจากสื่ออื่น ๆ อีก
               (๔) จดจำเรื่องที่ได้ฟัง ดู หรือได้อ่านไว้
               (๕) นำเรื่องที่ได้ฟัง ดู หรืออ่านมาจัดระบบใหม่

          ๒) จินตามยปัญญา มีวิธีฝึกอบรมดังนี้
               (๑) ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ
               (๒) แสวงหาข้อมูลให้มาก ๆ
               (๓) ใช้วิธีคิดที่ถูกต้องและมีเหตุผล
               (๔) ใช้เวลาในการคิดอย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน

          ๓) ภาวนามยปัญญา มีวิธีฝึกอบรมดังนี้
               (๑) ทำจิตให้เป็นสมาธิ
               (๒) ดู ฟัง อ่าน และคิดให้มาก
               (๓) ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง พร้อมทั้งหมั่นสังเกตไปด้วย
               (๔) บันทึกและสรุปข้อความรู้ต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล
 


     ๔. ประโยชน์ของการเจริญปัญญา
          ๑) ประโยชน์ต่อตนเอง เช่น ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างชัดเจนและเป็นผู้มีเหตุผล และประโยชน์ที่สำคัญที่สุด คือ ช่วยให้หลุดพ้นจากกิเลส
 


          ๒) ประโยชน์ต่อสังคม หากทุกคนในสังคมมีปัญญา มีเหตุผล ย่อมไม่เกิดปัญหาที่มีสาเหตุมาจากอารมณ์ เช่น การทะเลาะวิวาท การคดโกง สังคมจะมีความสงบเรียบร้อย

๖. การพัฒนาการเรียนรู้ด้วยวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
     โยนิโสมนสิการ แปลตามศัพท์ว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมายถึง การคิดที่ถูกต้องแยบคายหรือการคิดอย่างถี่ถ้วนลึกซึ้ง หรือการคิดที่ถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดตามเหตุผลและสร้างสรรค์ โยนิโสมนสิการจึงเป็นกระบวนการคิดวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา ประกอบด้วยวิธีคิด ๑๐ แบบ ดังนี้
     ๑. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
     ๒. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ
     ๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณะ
     ๔. วิธีคิดแก้ปัญหา (อริยสัจ)
     ๕. วิธีคิดแบบอรรถสัมพันธ์
     ๖. วิธีคิดแบบคุณ–โทษ และทางออก
     ๗. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้–คุณค่าเทียม
     ๘. วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม คือ
     ๙. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน
     ๑๐. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท

     ในชั้นนี้จะกำหนดให้ศึกษาวิธีคิด ๒ วิธี คือ
     ๖.๑ วิธีคิดแบบสามัญลักษณะ
     สามัญลักษณะ คือ ลักษณะทั่วไปที่สิ่งต่างมีเหมือนกันหมด ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นการคิดแบบรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายว่ามีการเปลี่ยนแปลง คือ เป็นอนิจจัง สิ่งต่าง ๆ ไม่อาจอยู่ในสภาพเดิมได้ คือ เป็นทุกขัง ดังนั้นจึงไม่ใครเป็นเจ้าของอะไรอย่างแท้จริง เพราะทุกสิ่งไม่มีตัวตน คือ เป็นอนัตตา วิธีคิดแบบสามัญลักษณะแบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน คือ
     ๑) รู้เท่าทันและยอมรับความเป็นจริง เมื่อประสบกับเรื่องราวที่ไม่น่าพึงพอใจก็สามารถคิดได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา
     ๒) แก้ไขและดำเนินการไปตามเหตุปัจจัย เป็นการปฏิบัติด้านปัญญา กล่าวคือ ศึกษาให้เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา แล้วดำเนินการแก้ไขที่ต้นเหตุนั้น

     ๖.๒ วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน
     วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นวิธีคิดที่มีปัจจุบันเป็นอารมณ์ หมายถึง การคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วยปัญญา การมีสติตามทันสิ่งที่รับรู้ เกี่ยวข้อง หรือต้องทำในเวลานั้น ๆ
     ดังนั้น วิธีคิดแบบนี้จึงมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้งานในปัจจุบันได้ผลดียิ่งขึ้น เนื่องจากสนับสนุนให้มีการพิจารณาบทเรียนจากอดีตและเตรียมการวางแผนกิจการล่วงหน้าเพื่อระวังภัยในอนาคต

๗. สัมมนาพระพุทธศาสนา
     สัมมนาพระพุทธศาสนา หมายถึง การประชุมพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะโดยใช้กระบวนการทางพระพุทธศาสนา การสัมมนาทางพระพุทธศาสนามี ๓ แบบ ดังนี้
     ๑. การสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นประเด็นน่าสนใจ เช่น ข่าวหรือเหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่ต้องการข้อเสนอแนะ
     ๒. การสัมมนาเกี่ยวกับหัวข้อตามสาระการเรียนรู้ที่กำหนดให้เป็นหัวข้อใหญ่ประจำระดับชั้น เพื่อนำความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ว่าจะบูรณาการกับชีวิตประจำวันอย่างไรและวิธีใด
     ๓. การสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอนหรือบุคลากรทางพระพุทธศาสนาให้สามารถสอนพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งแนะนำเทคนิคการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 


     การแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม
     การที่จะแก้ปัญหาสังคมให้ได้ผลจำเป็นจะต้องศึกษาสาเหตุของปัญหา แล้วจึงจัดการสาเหตุดังกล่าว มีหลักการ คือ วิธีแก้ปัญหาสังคมตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้
     ๑. ขั้นกำหนดปัญหา
     ๒. ขั้นตั้งสมมุติฐาน
     ๓. ขั้นพิสูจน์และทดลอง
     ๔. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล
     ๕. ขั้นสรุปผล


วิธีการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับวิธีแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเปรียบเทียบได้ดังนี้
 

 

บทสรุป
     การเรียนรู้เรื่องกิจของพระสงฆ์และคุณสมบัติของปฏิคาหกและทายก เป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ชาวพุทธที่ดียังต้องหมั่นรักษาศีล ๘ ในโอกาสต่าง ๆ อีกทั้งต้องหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมและเป็นสมาชิกขององค์กรชาวพุทธ รวมทั้งต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องต่อพระสงฆ์ตามหลักทิศ ๖ ทั้งนี้ ชาวพุทธที่ดีควรแสดงมารยาทให้เหมาะสมต่อพระสงฆ์ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

     พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน พิธีถวายผ้าจำนำพรรษา พิธีทอดกฐิน พิธีทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เป็นศาสนพิธีที่มีระเบียบปฏิบัติแตกต่างกัน ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธจึงต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
     เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันธรรมสวนะ และเทศกาลสำคัญ เราควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสม โดยการละเว้นความชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

     การบริหารจิตและการเจริญปัญญาเป็นวิธีการทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสและมีความรู้ความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพที่เป็นจริง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี วิธีที่นิยมทำกันมาก ได้แก่ การบริหารจิตและการเจริญปัญญาตามหลักสติปัฏฐานเน้นอานาปานสติ เราควรหมั่นบริหารจิตและเจริญปัญญาอย่างสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตและเพื่อประโยชน์สูงสุดในพระพุทธศาสนา


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th