บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง เวลา ศักราชและวิธีการทางประวัติศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 32.5K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

เวลา ศักราชและวิธีการทางประวัติศาสตร์

 

1. เวลากับประวัติศาสตร์
     1.1 ความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับประวัติศาสตร์
เวลา เป็นสิ่งที่กำหนดให้รู้ว่า เรื่องราวหรือเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไร และสิ้นสุดลงเมื่อไร
การศึกษาประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวและพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกันทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

 

เหตุการณ์ก่อการร้ายตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ก่อการร้ายตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา

 

     1.2 ความสำคัญของเวลาในการศึกษาประวัติศาสตร์
มนุษย์กำหนดเวลาเพื่อการดำเนินชีวิต และเรียงลำดับเหตุการณ์
2. การนับเวลา
     2.1 การนับเวลาในระบบสุริยคติ โดยถือดวงอาทิตย์เป็นหลัก
          1. วันทางสุริยคติ มีวันไม่เกินวันที่ 31
          2. เดือนทางสุริยคติ มี 12 เดือน
          3. เวลา 1 ปี คือ เวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ
     2.2 การนับเวลาในระบบจันทรคติ โดยถือเอาดวงจันทร์เป็นหลัก
          1. วันทางจันทรคติ เป็นการนับกับสัดส่วนของดวงจันทร์
          2. เดือนทางจันทรคติ มี 12 เดือน คือ เดือนอ้าย, เดือนยี่, เดือน 3, ... ไปถึงเดือน 12
          3. เดือนเต็ม–เดือนขาด ข้างแรม 15 วัน เรียกว่า เดือนเต็ม ส่วน ข้างแรม 14 วัน เรียกว่า เดือนขาด
          4. ปีอธิกมาส แปลว่าปีที่มีเดือนเพิ่ม โดยเพิ่มเดือน 8 หลังต่อจากเดือน 8 แรก

 

ปฏิทิน

 

          5. ปีอธิกวาร หมายถึงปีที่มีวันเพิ่ม บางปีมีการเพิ่มวันอีก 1 วัน ในเดือน 7
          6. ปีนักษัตร คือ ชื่อบอกรอบเวลา 12 ปี ได้แก่ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน
3. การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
     3.1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย แบ่งเป็นยุคต่าง ๆ ได้หลายแบบ เช่น
     1. แบ่งตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์ แบ่งเป็น 3 ยุค
          1) ยุคสังคมล่าสัตว์หรือสังคมนายพราน
          2) ยุคสังคมเกษตรกรรม
          3) ยุคสังคมเมือง
     2. แบ่งตามเทคโนโลยีการทำเครื่องมือเครื่องใช้ แบ่งเป็น 2 ยุค
          1) ยุคหิน แบ่งเป็นยุคย่อย ๆ 3 ยุค ได้แก่
               (1) ยุคหินเก่า ใช้เครื่องมือหินกะเทาะ อาศัยตามถ้ำ มีการล่าสัตว์ ไม่มีถิ่นฐานแน่นอน
               (2) ยุคหินกลาง ใช้เครื่องมือหินกะเทาะที่ประณีต ยังคงย้ายที่อยู่ไปตามแหล่งอาหาร
               (3) ยุคหินใหม่ มีการใช้เครื่องมือหินขัด มีการเพาะปลูกและ ตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง
          2) ยุคโลหะ แบ่งเป็นยุคย่อย ๆ ได้ 2 ยุค ได้แก่
               (1) ยุคสำริด มีการใช้เครื่องมือและเครื่องประดับที่ทำจากสำริด ดำรงชีวิตด้วยการเกษตร
               (2) ยุคเหล็ก มนุษย์นำแร่เหล็กมาถลุงทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ และยังดำรงชีวิตด้วยการเกษตร
     3.2 สมัยประวัติศาสตร์
สมัยประวัติศาสตร์ เริ่มเมื่อมีการค้นพบเรื่องราวที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องนำหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมาศึกษาควบคู่กันไปด้วย เพื่อทำให้วิเคราะห์และตีความได้ถูกต้อง
การแบ่งสมัยประวัติศาสตร์ชาติไทย แบ่งได้หลายแบบ เช่น 1.แบ่งตามราชธานี 2.แบ่งตามรัชกาล 3.แบ่งตามรัฐบาล
4. ศักราชและการเทียบศักราช
     4.1 ศักราชระบบต่าง ๆ
          1. พุทธศักราช (พ.ศ.) เหตุให้ตั้งศักราชขึ้น คือ การเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

 

การเสด็จปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

 

          2. คริสต์ศักราช (ค.ศ.) ตั้งขึ้นในสมัยโรมัน นับตั้งแต่วันประสูติของพระเยซู พ.ศ. มากกว่า ค.ศ. 543 ปี

 

การประสูติของพระเยซูคริสต์

 

          3. มหาศักราช (ม.ศ.) ตั้งขึ้นในอินเดียโดยพระเจ้ากนิษกะ ไทยรับเอามหาศักราชมาจากเขมร พ.ศ. มากกว่า ม.ศ. 621 ปี
          4. จุลศักราช (จ.ศ.) ตั้งขึ้นในพม่าโดยพระเจ้าสูริยวิกรม ไทยรับจุลศักราชเข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัชกาลที่ 5 พ.ศ. มากกว่า จ.ศ. 1181 ปี
          5. รัตนโกสินทรศก (ร.ศ.) ตั้งขึ้นรัชกาลที่ 5 เริ่มนับเมื่อรัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. มากกว่า ร.ศ. 2324 ปี
          6. ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) ศักราชนี้ถือเอาเหตุการณ์ที่นบีมุฮัมมัด อพยพชาวมุสลิมจากนครมักกะฮ์ (เมกกะ) ไปเมืองมะดีนะฮ์ พ.ศ.มากกว่า ฮ.ศ. 1122 ปี
     4.2 รอบทศวรรษ ศตวรรษ และสหัสวรรษ
          1. ทศวรรษ คือ รอบ 10 ปี
          2. ศตวรรษ คือ รอบ 100 ปี
          3. สหัสวรรษ คือ รอบ 1000 ปี
5. ตัวอย่างการใช้คำบอกเวลาและศักราชในเอกสารประวัติศาสตร์ไทย
ตัวอย่าง จาก พิเศษ เจียจันทร์พงศ์. พระพุทธสิหิงค์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546. หน้า 38.

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุโหรว่าทรงพระประสูติกาลเมื่อวัน 5 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน เบญจศก จ.. 1105 เวลาเที่ยงคืนตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.. 2286 เวลา 24.00 . ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ...”

จากข้อความที่ยกมา วัน 5 คือ วันที่ 5 ในรอบสัปดาห์โดยเริ่มนับจากวันอาทิตย์เป็นวัน 1 วัน 5 จึงตรงกับวันพฤหัสบดี เบญจศก ใช้กำกับจุลศักราชที่ลงท้ายด้วย 5 จ.ศ.1105 เทียบเป็น พ.ศ. โดยนำ 1181 มาบวก ตรงกับ พ.ศ. 2286
6. หลักฐานทางประวัติศาสตร์
     6.1 ประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์
          1.จำแนกตามลักษณะ มี 2 ประเภท คือ
               1) หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น จารึก พงศาวดาร
               2) หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น โบราณวัตถุ คำบอกเล่า
          2. จำแนกตามความสำคัญของหลักฐาน มี 2 ประเภท คือ
               1) หลักฐานชั้นต้น คือ หลักฐานที่บันทึกไว้โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง รู้เห็นเหตุการณ์
               2) หลักฐานชั้นรอง คือ หลักฐานที่ผู้บันทึกได้รับฟังจากคำบอกเล่า หรือข้อเขียนของผู้อื่น

 

ศิลาจารึกวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย

 


     6.2 หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
          1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีหลักฐานที่สำคัญ ได้แก่
               1) จารึก เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ต้องอาศัยนักอ่านจารึกที่มีความชำนาญ ส่วนการจารึกถ้าจารึกลงวัสดุใดก็เรียกชื่อตามวัสดุนั้น เช่น ศิลาจารึก จารึกใบลาน เป็นต้น
               2) ตำนาน เป็นหลักฐานที่มีการเล่าสืบต่อกัน แต่ตำนานอาจมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของช่วงเวลา
               3) พระราชพงศาวดาร เป็นบันทึกเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ตามลำดับเหตุการณ์ เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์

 

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ

 

               4) จดหมายเหตุ เป็นบันทึกคล้ายกับพงศาวดาร และเป็นบันทึกร่วมสมัย คือ ผู้บันทึกได้บันทึกเรื่องราวในวันที่เกิดเหตุการณ์หรือบันทึกในวันที่ใกล้เคียงกัน ถือเป็นหลักฐานชั้นต้น
               5) เอกสารการปกครอง เป็นเอกสารเกี่ยวกับการบริหารราชการฝ่ายปกครอง มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เช่น ใบบอก คือ รายงานจากหัวเมืองเข้ามายังส่วนกลาง
นอกจากนี้ยังมีหนังสือโต้ตอบราชการ รายงานการประชุม เอกสารการทูตทั้งสมัยก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชั้นต้น
               6) งานเขียนทางประวัติศาสตร์ คือ หนังสือหรือบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ซึ่งค้นคว้าโดย นักประวัติศาสตร์ หรือนักวิชาการสาขาอื่น ๆ เช่น นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา ฯลฯ จัดอยู่ในหลักฐานชั้นรอง
          2. หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มี 5 ประเภท คือ
               1) หลักฐานทางโบราณคดี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
                    (1) หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
                    (2) หลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
               2) หลักฐานทางศิลปกรรม ได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม จากความเชื่อทางศาสนา และแบ่งตามยุคสมัยที่สร้าง
               3) หลักฐานทางด้านนาฏศิลป์ ดนตรี และเพลงพื้นบ้าน เป็นศิลปะที่ถ่ายทอดกันมา
               4) หลักฐานประเภทคำบอกเล่า ถ่ายทอดด้วยคำพูดต่อ ๆ กันมา เช่น นิทาน ประวัติบุคคลสำคัญ
               5) หลักฐานประเภทโสตทัศน์ หลักฐานประเภทนี้เป็นของราชการ เรียกว่า เอกสารโสตทัศน์จดหมายเหตุ ได้แก่ ภาพถ่าย
     6.3 ตัวอย่างหลักฐานประวัติศาสตร์สุโขทัย
          1. จารึก เป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุด เช่น จารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
          2. พงศาวดารและตำนาน
               1) พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ
               2) ตำนาน เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์
          3. จดหมายเหตุ จดหมายเหตุของชาวจีน ชื่อหยวนสื่อ บันทึกว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 1841
          4. วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิพระร่วงหรือไตรภูมิกถา เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
          5. หลักฐานทางโบราณคดี เช่น โบสถ์ วิหาร เมืองโบราณ
          6. หลักฐานทางศิลปกรรม
               1) สถาปัตยกรรม เช่น เจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
               2) ประติมากรรม เช่น พระพุทธชินราช
               3) ภาพลายเส้น เช่น ภาพจำหลักลายเส้นบนแผ่นหินชนวน
          7. หลักฐานประเภทโสตทัศน์ ได้แก่ ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพจากดาวเทียมช่วยให้กำหนดแหล่งโบราณคดีได้แม่นยำยิ่งขึ้น
7. วิธีการทางประวัติศาสตร์
วิธีการทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ 5 ขั้นตอน
     1. การกำหนดปัญหาหรือเรื่องที่จะศึกษา ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร
     2. การเก็บรวบรวมหลักฐาน จะต้องค้นหาและรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด หาได้จาก ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่เก็บโบราณวัตถุ สถานที่ เช่น แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์

 

พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ฉบับย่อ

 

     3. การตรวจสอบและประเมินหลักฐาน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การพิจารณาลักษณะภายนอกของหลักฐาน และการพิจารณาข้อมูลหรือเนื้อหาในหลักฐาน ว่าเชื่อถือได้หรือไม่
หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ควรพิจารณาว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างเมื่อไร สร้างที่ไหน มีวัตถุประสงค์ในการสร้างอย่างไร เป็นของเดิมหรือมีการซ่อมเสริมเติมแต่ง
หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ควรพิจารณาว่าหลักฐานนั้นทำขึ้นเมื่อไรหรือสมัยใด ใครเป็นผู้บันทึก ผู้บันทึกมีฐานะเป็นอะไร เชื่อถือได้หรือไม่
     4. การตีความหลักฐาน แบ่งเป็น 2 ระดับ
          1) การตีความขั้นต้น หรือ การตีความในแนวราบ เป็นการตีความตามรูปภายนอก
ตัวอย่างเช่น จารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 18–21 ซึ่งเขียนเป็นคำอ่านปัจจุบันว่า 

“...เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีเข้า เจ้าเมืองบ่เอา จกอบในไพร่ ลูท่าง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้า ใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทอง ค้า...”

ตีความได้ว่า “เมืองสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีความอุดมสมบูรณ์ การค้าขายทำได้โดยสะดวก ไม่เก็บภาษี ราษฎรค้าขายได้ตามใจชอบ”
          2) การตีความขั้นลึก หรือ การตีความแนวดิ่ง เป็นการตีความเพื่อหาความหมายที่ไม่ได้บอกมาตรง ๆ เช่น เจตนา ทัศนคติ ข้อเท็จจริง
ข้อความจารึกหลักที่ 1 เมื่อตีความขั้นลึกแล้วได้ความหมายอีกหลายความหมาย เช่น
– ผู้จารึกยกย่องพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และมีทัศนคติที่ดีต่อสุโขทัย จากข้อความที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
– สุโขทัยมีการเก็บภาษีหลายประเภท การยกเว้นภาษีผ่านด่านคงไม่กระทบกระเทือนรายได้ของรัฐมากนัก
ในการตีความต้องเป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่ตีความเกินหลักฐาน และไม่นำปัจจุบันไปตัดสินอดีต
     5. การเรียบเรียงและนำเสนอ
          1) การเรียบเรียง คือ การนำการตีความจากหลักฐานเรียบเรียง เพื่อตอบปัญหาประเด็นที่สงสัยหรืออยากรู้
          2) การนำเสนอ คือ การนำผลงานที่ได้เรียบเรียงไปเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บรรยาย หนังสือ

 

คำสำคัญ
สุริยคติ
จันทรคติ
อธิกมาส
อธิกวาร
สำริด
หลักฐานชั้นต้น
หลักฐานชั้นรอง
พงศาวดาร

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th