บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง พัฒนาการของภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 230.2K views




ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



1. พัฒนาการของทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย
     1.1 พัฒนาการของประเทศออสเตรเลีย
          1.1.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการประเทศ
          ออสเตรเลียเป็นทั้งทวีปและประเทศ มีลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตที่ราบสูงภาคตะวันออก เขตที่ราบภาคกลาง และเขตที่ราบสูงภาคตะวันตก
 

 


          1.1.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
          ออสเตรเลียเป็นดินแดนที่มีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่นานแล้ว ชนพื้นเมืองดั้งเดิม เรียกว่า แอบอริจินี ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) นักเดินเรืออังกฤษได้เดินทางไปยังออสเตรเลีย สำรวจพบว่าบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของเกาะมีความอุดมสมบูรณ์ จึงยึดเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และให้ชื่อดินแดนนี้ว่า นิวเซาท์เวลส์

          1.1.3 พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง
          ใน ค.ศ. 1821 เป็นต้นมา รัฐบาลอังกฤษได้ส่งเสริมให้พวกเสรีชนเดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งในออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษา เมื่อเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นก็มีการจัดตั้งรัฐต่าง ๆ ขึ้นเป็นอิสระจากกัน
          ออสเตรเลียได้รวมตัวกันจัดตั้งประเทศเครือรัฐออสเตรเลียเมื่อ ค.ศ. 1901 จัดการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ โดยใช้ระบบ 2 สภา สมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวแทนของรัฐ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ

          1.1.4 พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม
          ประเทศออสเตรเลียมีจำนวนประชากรประมาณ 21 ล้านคน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ชนพื้นเมือง ชนผิวขาว และชนผิวเหลือง
 


          ออสเตรเลียใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการ ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนา

          1.1.5 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ
          อาชีพที่สำคัญในประเทศออสเตรเลีย คือ การเกษตร
          อุตสาหกรรมเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย ทำให้อุตสาหกรรมของออสเตรเลียพัฒนาอย่างรวดเร็ว
 


     1.2 พัฒนาการของนิวซีแลนด์
          1.2.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของประเทศ
          ประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ในเขตภูเขาหินใหม่ที่เปลือกโลกยังเคลื่อนไหว ไม่มั่นคง จึงมักเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ อยู่เสมอ
นิวซีแลนด์ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือ นอร์ทไอแลนด์ (เกาะเหนือ) และเซาท์ไอแลนด์ (เกาะใต้)

          1.2.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
          คนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนนี้คือ ชาวเมารี ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม ต่อมานักเดินเรือชาวดัตช์ได้ค้นพบดินแดนแห่งนี้และตั้งชื่อว่า นิวซีแลนด์ จนในสมัยที่กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) นักเดินเรือชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาจึงได้สำรวจและเขียนแผนที่เกี่ยวกับรายละเอียดของชายฝั่งทะเลนิวซีแลนด์

          1.2.3 พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง
          หลังทำสนธิสัญญาไวตังกิ ทำให้ชาวยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษเข้ามาตั้งถิ่นฐานในนิวซีแลนด์มากขึ้นและต้องการยึดครองที่ดินของชาวเมารี จึงมีการสู้รบกันยืดเยื้อยาวนานถึง 10 ปี แต่ในที่สุดชาวเมารีเป็นฝ่ายแพ้และยินยอมยุติการสู้รบ
ปัจจุบันนิวซีแลนด์เป็นประเทศเอกราชในเครือจักรภพอังกฤษ มีสมเด็จราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงเป็นประมุข นิวซีแลนด์ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

          1.2.4 พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม
          นิวซีแลนด์มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบตะวันตกคล้ายคลึงกับประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชาวตะวันตก ขณะเดียวกันกลุ่มชนพื้นเมืองก็ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ได้กลมกลืน

          1.2.5 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ
          นิวซีแลนด์เป็นประเทศเกษตรกรรม รายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์


2. พัฒนาการของทวีปแอฟริกา
     ทวีปแอฟริกามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย มีเนื้อที่ประมาณ 30 ล้านตารางกิโลเมตร
     2.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อการพัฒนาการของทวีป
     ทวีปแอฟริกาตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ พื้นที่ประมาณ 2 ใน 3 ของทวีปเป็นที่ราบสูง จึงได้ชื่อว่า ทวีปแห่งที่ราบสูง ดินแดนภายในประกอบด้วยทะเลทราย ภูเขา และป่าไม้

     2.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
     ทวีปแอฟริกามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทวีปมืดหรือกาฬทวีป แอฟริกาเป็นตลาดการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก

     2.3 พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง
          สมัยโบราณ บริเวณที่ราบลุ่มน้ำมีอาณาจักรโบราณ ที่สำคัญคือ อาณาจักรอียิปต์ ที่มีฟาโรห์ (Pharaoh) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงอำนาจสูงสุดปกครอง การปกครองแบ่งออกเป็นโนมิส (Nomes)
          สมัยกลาง ระหว่าง ค.ศ. 700–1300 พวกมุสลิมนำอารยธรรมอิสลามเข้ามาในตอนเหนือและชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา
          สมัยที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ประเทศในยุโรปแข่งขันขยายอำนาจเข้าไปดินแดนนอกทวีป
          สมัยเป็นเอกราช เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1945 ประเทศตะวันตกอ่อนแอลงเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามมาก อาณานิคมในทวีปแอฟริกาต่างขอเป็นเอกราช

     2.4 พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม
     แอฟริกาเป็นทวีปที่กว้างใหญ่จึงมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา
     เชื้อชาติ ประชากรดั้งเดิมเป็นชาวนิกรอยด์หรือแอฟริกันนิโกร
     ภาษา มีภาษาพูดมากกว่า 1,000 ภาษา
     ศาสนา ในสมัยโบราณมีความเชื่อเรื่องวิญญาณ อำนาจของดวงดาว และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ต่อมาในราว ค.ศ. 1517 ศาสนาอิสลามแผ่ขยายเข้ามาหลายประเทศ คริสต์ศตวรรษที่ 18–19 จักรวรรดินิยมตะวันตกได้เข้ามายึดครองดินแดนในทวีปแอฟริกา ได้นำคริสต์ศาสนามาเผยแผ่

     2.5 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ
     สมัยโบราณเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเกษตร งานฝีมือประเภทเครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา กองเรือสินค้าของอียิปต์นำทองคำ ข้าวสาลี และผ้าลินินไปค้าขายกับประเทศตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน


3. พัฒนาการของทวีปยุโรป
     ทวีปยุโรปมีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30 ล้านตารางกิโลเมตร และมีดินแดนทางด้านตะวันออกติดต่อเป็นผืนเดียวกับทวีปเอเชีย จึงเรียกทวีปทั้งสองรวมกันว่า ยูเรเซีย (Eurasia)
     3.1 ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป
     ทวีปยุโรปตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ ประกอบด้วยที่ราบลุ่ม ที่ราบสูง เทือกเขา และมีคาบสมุทรจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งคาบสมุทร ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินและการมีแม่น้ำสายต่าง ๆ รวมทั้งการมีอุณหภูมิที่อบอุ่น เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่ง

     3.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
     ทวีปยุโรปเป็นดินแดนที่มีมนุษย์เข้าไปตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ล้าหลังมาก ต่อมาจึงได้พัฒนาขึ้น จนกระทั่งสมัยกรีกและโรมันได้สรรค์สร้างวัฒนธรรมทางด้านปรัชญา วรรณกรรม ศิลปกรรม และการปกครองเป็นของตนเอง

     3.3 พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง
     พัฒนาการด้านการเมืองการปกครองของยุโรปแบ่งตามยุคสมัยประวัติศาสตร์เป็น 4 สมัย คือ สมัยโบราณ สมัยกลาง สมัยใหม่ และสมัยปัจจุบัน

     3.4 พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม
     สมัยโบราณ กรีกและโรมันเป็นสังคมชนชั้น โดยแบ่งพลเมืองเป็นชนชั้นปกครอง ได้แก่ ผู้นำทางการเมือง เช่น กษัตริย์ กงสุล จักรพรรดิ รวมถึงทหารและขุนนาง และชนชั้นที่ถูกปกครอง ได้แก่ เสรีชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น พ่อค้า เกษตรกร ช่างฝีมือ รวมถึงทาส
     สมัยกลาง เป็นสังคมแมนเนอร์ที่มีปราสาทของขุนนางเป็นศูนย์กลางชุมชน แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชนชั้นปกครองประกอบด้วยกษัตริย์ ขุนนาง และบาทหลวง และชนชั้นสามัญชน
     สมัยใหม่ ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมเจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะทางความรู้ด้านต่าง ๆ มีการรื้อฟื้นวิทยาการสาขาต่าง ๆ ของกรีกและโรมัน ทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นใช้ได้ผลเป็นครั้งแรกในยุโรป เมื่อ ค.ศ. 1454 ทำให้มีการอ่านหนังสือกันอย่างกว้างขวาง

     3.5 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ
     สมัยโบราณ เศรษฐกิจของยุโรปขึ้นอยู่กับการเกษตรตามบริเวณลุ่มแม่น้ำ และการค้าขายผลผลิตเกษตรและงานหัตถกรรม มีการสร้างเมืองท่าการค้าเพื่อใช้ขนส่งสินค้า
     สมัยกลาง เศรษฐกิจในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5–11 เป็นระบบเศรษฐกิจแบบแมนเนอร์ (Nanorial System) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเกษตรกรรมแบบพึ่งตัวเอง
     สมัยใหม่ ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยม


4. พัฒนาการของทวีปอเมริกาเหนือ
     ทวีปอเมริกาเหนือมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา ภูมิภาคแบ่งตามสภาพสังคมวัฒนธรรมเป็น 2 ส่วน ได้แก่ แองโกลอเมริกา และลาตินอเมริกา
     4.1 ที่ตั้งและสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป
     ทวีปอเมริกาเหนือมีเขตภูมิอากาศที่หลากหลาย มีป่าไม้ซึ่งมีทั้งป่าไม้ผลัดใบ ป่าสนสมบูรณ์ และมีแร่ธาตุนานาชนิด

     4.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
     คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ได้เดินทางมาพบเกาะบริเวณหมู่เกาะเวสต์อินดีส (West Indies) ใน ค.ศ. 1492 และเข้าใจว่าดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย ต่อมาใน ค.ศ. 1499 อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci) ชาวอิตาลีได้เดินทางสำรวจดินแดนที่โคลัมบัสเคยสำรวจมาแล้วจึงทราบว่าดินแดนที่พบนั้นเป็นทวีปใหม่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทวีปเอเชียและเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่อเมริโก เวสปุชชี ชาวยุโรปจึงตั้งชื่อทวีปใหม่นี้ว่า อเมริกา (America)
 


     บทบาทของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914–1918) ช่วงครึ่งแรกของสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเป็นกลางตามหลักการมอนโร แต่เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มเสียเปรียบในการรบและเยอรมนีส่งเรือดำน้ำโจมตีเรือของอังกฤษ เป็นผลให้ชาวอเมริกันเสียชีวิต 124 คน สหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยในสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกาก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศองค์การแรกของโลก คือ องค์การสันนิบาตชาติ
     ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939–1945) หลังจากญี่ปุ่นยึดดินแดนในเอเชียได้แล้วได้ส่งกองกำลังโจมตีฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล (Pearl Harbour) ในหมู่เกาะฮาวายเมื่อ ค.ศ. 1941 สหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูไปทิ้งที่เมืองฮิโระชิมะและนะงะซะกิ ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม

     4.4 พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม
     ทวีปอเมริกาเหนือประกอบด้วยกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ ดังนี้
     1. พวกผิวเหลือง เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อพยพมาจากทวีปเอเชียได้แก่ ชาวเอสกิโม (Eskimo) หรืออเมรินเดียน (Amerindian)


     2. พวกผิวขาว เป็นประชากรที่อพยพมาจากทวีปยุโรป ได้แก่ ชาวสเปน โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และชาวยุโรปอื่น ๆ
     3. พวกผิวดำ เป็นประชากรที่เพิ่งถูกนำมาจากทวีปแอฟริกาเพื่อใช้แรงงานในไร่นาในประเทศสหรัฐอเมริกา
     4. พวกเลือดผสมได้แก่ พวกเมสติโซ (Mestizo) หมายถึง พวกเลือดผสมระหว่างพวกผิวขาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสเปนกับชาวอินเดียน

     4.5 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ
     เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอเมริกากลาง และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน มีทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรม ต่อมามีการค้นพบแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมในอ่าวเม็กซิโก
     ในทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเจริญก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ


5. พัฒนาการของทวีปอเมริกาใต้
     มีเป็นดินแดนที่มีภูมิอากาศแบบเขตร้อนและเขตอบอุ่น มีที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอนซึ่งเป็นเขตป่าฝนที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นดินแดนอารยธรรมเก่าแก่ของโลก
     5.1 ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป
     ทวีปอเมริกาใต้ทิศเหนือติดต่อกับทวีปอเมริกาเหนือ ทิศใต้ติดต่อกับช่องแคบเดรก (Drake Passage) ซึ่งเป็นน่านน้ำที่คั่นทวีปอเมริกาใต้กับทวีปแอนตาร์กติกา ทิศตะวันออกจดมหาสมุทรแอตแลนติก และทิศตะวันตกจดคลองปานามาและมหาสมุทรแปซิฟิก

     5.2 ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์
       ทวีปอเมริกาใต้เป็นแหล่งอารยธรรมดั้งเดิมของพวกอินคาซึ่งเป็นชาวอินเดียนเผ่าหนึ่ง อารยธรรมของพวกอินคา ได้แก่ การนำหินมาปูถนน การเลี้ยงสัตว์เพื่อนำขนมาทำเครื่องนุ่งห่ม อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวสเปนและโปรตุเกสพากันเดินทางเข้ามาแสวงหาโชคในทวีปนี้มากขึ้น

     5.3 พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง
     ชาวอาณานิคมในทวีปอเมริกาใต้พยายามเรียกร้องอิสรภาพในช่วงที่เป็นอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกส โดยมีผู้นำคนสำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก คือ ซีมอน โบลิวาร์ (Simon Bolivar) ชาวเวเนซุเอลา เป็นผู้เรียกร้องอิสรภาพให้กับเวเนซุเอลาจากสเปน

     5.4 พัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม
     ทวีปอเมริกาใต้มีประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ประมาณร้อยละ 6 ของโลก ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น 2 แห่ง ได้แก่ ด้านฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เพราะมีอุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำเกินไป มีปริมาณฝนปานกลาง มีเส้นทางคมนาคมสะดวก และด้านฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลแคริบเบียนเพราะมีปริมาณฝนสูงและมีปลาชุกชุมเหมาะแก่การทำอุตสาหกรรมประมง

     5.5 พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ
     ช่วงที่เป็นอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกส ชาวยุโรปได้ยึดครองที่ดินทั้งหมดเพื่อทำไร่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ ปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล หรือทำเหมืองแร่ ทำให้ชนพื้นเมืองไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ต้องรับจ้างคนทำงานในไร่และในเหมืองแร่ ผลผลิตทางเกษตรและอุตสาหกรรมส่งไปขายในตลาดยุโรปและทั่วโลก
     หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้นำรัฐบาลในประเทศอเมริกาใต้หลายประเทศเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากการเกษตรแบบดั้งเดิมมาส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตสินค้าไว้ใช้ภายในประเทศ


6. อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก
     อารยธรรมตะวันตก หมายถึง อารยธรรมที่ชาวยุโรปตะวันตกสร้างสรรค์ขึ้นมาตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมาซึ่งคริสต์ศาสนามีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างสรรค์ดังกล่าว
     6.1 อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกต่อพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
     พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากได้รับอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
          1. เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการจำหน่ายแลกเปลี่ยนซื้อขายผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีการรับรองทางกฎหมาย โดยทางเอกชน เพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดให้กับหน่วยงาน
          2. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ และส่งผลต่อการสร้างสรรค์อารยธรรมตะวันตกยุคใหม่ มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ
          3. แนวคิดประชาธิปไตย วิธีการทางวิทยาศาสตร์ทำให้ชาวตะวันตกมีแนวคิดประชาธิปไตย กล้าแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองอย่างมีเหตุผล
          4. วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุสำคัญคือ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมไปถึงการปรับปรุงทางด้านสาธารณสุข ทำให้อัตราการเกิดสูงและอัตราการตายน้อยลง


คำสำคัญ
พัฒนาการของประเทศออสเตรเลีย
พัฒนาการของนิวซีแลนด์
พัฒนาการของทวีปแอฟริกา
พัฒนาการของทวีปยุโรป
พัฒนาการของทวีปอเมริกาเหนือ
พัฒนาการของทวีปอเมริกาใต้
อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก
เศรษฐกิจแบบทุนนิยม
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แนวคิดประชาธิปไตย
วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th