บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง อารยธรรมตะวันตกสมัยโบราณ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 38.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

อารยธรรมตะวันตกสมัยโบราณ

 

1. อารยธรรมเมโสโปเตเมีย
     1.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการตั้งถิ่นฐาน
อารยธรรมเมโสโปเตเมีย กำเนิดขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำ 2 สายคือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และแม่น้ำยูเฟรทีส (Euphrates) เป็นแหล่งอารยธรรมแห่งแรกของโลก
     1.2 ชาวสุเมเรียน พวกสุเมเรียนมีความเจริญทางด้านคณิตศาสตร์ ปฏิทิน รู้จักการใช้จำนวนที่สามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อยได้มาก ๆ เช่น จำนวน 12 , 24 , 60 , 90 ซึ่งปัจจุบันยังคงใช้อยู่

 

ซิกกูแรต สถาปัตยกรรมทางศาสนาของชาวสุเมเรียน

 

     1.3 อาณาจักรบาบิโลเนีย พวกอามอไรต์ (Amorite) ได้ตั้งอาณาจักรบาบิโลเนีย (Babylonia) ขึ้นมา มีเมืองหลวงที่เมืองบาบิโลน
     1.4 จักรวรรดิอัสซีเรีย ในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช พวกอัสซีเรียน (Assyrian) ได้เข้ายึดครองกรุงบาบิโลนและอาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันตก มีศูนย์กลางในการปกครองที่เมืองนิเนเวห์ (Nineveh)

 

ภาพสลักในสมัยพระเจ้าอัสซูร์บานิปาล

 

     1.5 อาณาจักรคาลเดีย เมื่อ 612 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกคาลเดียน (Chaldean) ซึ่งเป็นชนเผ่าเซไมต์อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลุ่มน้ำไทกริส–ยูเฟรทีสสามารถเข้ายึดกรุงนิเนเวห์ได้สำเร็จ
2. อารยธรรมลุ่มน้ำไนล์
     2.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการตั้งถิ่นฐาน
สภาพภูมิประเทศของลุ่มน้ำไนล์แบ่งบริเวณลุ่มน้ำเป็น 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณอียิปต์ล่าง (Lower Egypt) ตั้งอยู่บริเวณที่ราบปากแม่น้ำไนล์ เป็นบริเวณที่แม่น้ำไนล์แยกเป็นแม่น้ำสาขา มีลักษณะเป็นรูปพัด ซึ่งชาวกรีกโบราณเรียกว่า เดลตา
     2.2 อารยธรรมอียิปต์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้าหลายองค์ โดยมีสุริยเทพหรือเทพเจ้าเร (Re) เป็นเทพเจ้าสูงสุด นอกจากนี้มีเทพเจ้าที่สำคัญองค์อื่น ๆ อีก เช่น โอไซริส (Osiris) เทพแห่งแม่น้ำไนล์ ไอซิส (Isis) เทพีแห่งพื้นดิน
     2.3 อารยธรรมอียิปต์สมัยประวัติศาสตร์
ชาวอียิปต์ได้ประดิษฐ์อักษรภาพที่เรียกว่า ไฮโรกลิฟิก (hieroglyphic) หรืออักษรศักดิ์สิทธิ์ และได้วิวัฒนาการเป็นอักษร แอลฟาเบต (alphabet)
3. ชนชาติเก่าแก่บางกลุ่มในเอเชียไมเนอร์และดินแดนใกล้เคียง
เอเชียไมเนอร์ หมายถึง ดินแดนที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณที่อยู่ระหว่างทะเลดำกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในปัจจุบันได้แก่ ดินแดนปาเลสไตน์ ตุรกี และซีเรีย
     3.1 ฟินิเชียน
ชาวฟินิเซียน (Phoenician) เป็นชนเผ่าเซมิติกเผ่าหนึ่ง มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า ชาวแคนาไนต์ (Canaanite) ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณดินแดนกันอาน (Canaan) แถบซีเรีย ปาเลสไตน์

 

เมืองบีบลอส

 

     3.2 ฮีบรู
ฮีบรู (Hebrew) หรือยิว (Jew) ชนเผ่าเซมิติกที่เดินทางเร่ร่อนในทะเลทราย กล่าวกันว่าโมเสส (Moses) ผู้นำคนสำคัญได้ปลดแอกชาวฮีบรูจากการเป็นทาสของอียิปต์ และพาชาวฮีบรูอพยพไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งคำมั่นสัญญา (Promised Land) อันได้แก่ ดินแดนปาเลสไตน์ (Palestine)

 

พระคัมภีร์เก่าของชาวฮีบรู

 

     3.3 เปอร์เซีย
พวกเปอร์เซียเป็นเชื้อสายอินโด–ยูโรเปียน เดิมอยู่บริเวณเหนือทะเลดำ ได้อพยพมายังที่ราบสูงอิหร่าน ดำรงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก ได้ขยายอำนาจออกไปปกครองฟินิเชีย เกาะไซปรัส และตีอียิปต์ได้
4. อารยธรรมกรีก
     4.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการตั้งถิ่นฐาน
ดินแดงของชาวกรีกบนพื้นแผ่นดินในทวีปยุโรปแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ
    1. ภาคเหนือ ได้แก่ แคว้นมาซิโดเนีย (Macedonia) เทสซาลี (Thessaly) และอิไพรัส (Epirus)
     2. ภาคกลาง ได้แก่ บริเวณที่เป็นเนินเขาสูง ซึ่งมีเมืองหลวง คือ นครรัฐเอเธนส์ (Athens) แหล่งกำเนิดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
     3. บริเวณคาบสมุทรเพโลพอนนีซัส (Peloponnesus) อยู่ตอนใต้อ่าวคอรินท์ เป็นที่ตั้งของนครรัฐสปาร์ตา (Sparta) ที่มีชื่อเสียงทางการรบ และโอลิมเปีย (Olympia) ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของบรรดาเทพเจ้ากรีก
     4.2 อารยธรรมกรีกสมัยก่อนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
หลักฐานทางโบราณคดีที่พอค้นได้แสดงว่ามีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในดินแดนกรีซเมื่อประมาณ 4000 ปีก่อนคริสต์ศักราช
     4.3 อารยธรรมกรีกสมัยประวัติศาสตร์
          1. อารยธรรมไมนวน (Minoan Civilization) เกิดขึ้นบนเกาะครีต ชาวครีตหรือชาวครีตัน (Cretan) เป็นชนพื้นเมืองของเกาะนี้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย
          2. อารยธรรมไมซีเน (Mycenae Civilization) เป็นอารายธรรมของพวกไมซีเนียม (Mycenaean)
     4.4 นครรัฐของกรีก
ลักษณะภูมิประเทศของกรีซทำให้การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของชาวกรีก แบ่งออกเป็น นครรัฐ (city–state) ซึ่งชาวกรีกนิยมเรียกว่า โพลิส (polis) มีสภาพสังคมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง
     4.5 มรดกของอารยธรรมกรีก
          1. สถาปัตยกรรม งานก่อสร้างของกรีกจะเป็นวิหารสำหรับเทพเจ้า

 

วิหารพาร์เธนอน

 

          2. ประติมากรรม สะท้อนลักษณะธรรมชาตินิยมอย่างแท้จริง เทพเจ้ามีลักษณะเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ความรู้สึก ท่าทาง และการเคลื่อนไหวเหมือนจริง
          3. จิตรกรรม กรีกได้ค้นพบเทคนิคใหม่ในการวาดภาพประดับฝาผนังขนาดใหญ่โดยใช้หินหรือกระเบื้องสีมาประดับ เรียกว่า โมเสก (Mosaic)
          4. นาฏกรรม การละครของกรีกมีความเกี่ยวกันใกล้ชิดกับเทศกาลบวงสรวงและเฉลิมฉลองให้แก่เทพเจ้าไดโอนิซัน (Dionysus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์พูนสุข
          5. วรรณกรรม นอกจาก มหากาพย์อิเลียด และ โอดิสซีย์ ของมหากวีโฮเมอร์ที่ได้รับการยกย่องในแง่ของโครงเรื่อง ความไพเราะ จินตนาการ
          6. คณิตศาสตร์ นักคณิตศาสตร์เด่นของกรีก ได้แก่ ปิทาโกรัสแห่งซามอส (Pythagoras of Samos ประมาณ 580–496 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้คิดทฤษฎีบทปิทาโกรัส
          7. ฟิสิกส์ อาร์คิมีดีสแห่งเซียราคิวส์ (Archimedes 282–281 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นผู้คิดระหัดวิดน้ำแบบเกลียวลูกรอกชุด ตั้งกฎของคานดีดคานงัด และพบวิธีหาปริมาตรของวัตถุโดยการแทนที่น้ำ
          8. การแพทย์ ฮิปโปคราตีส (Hippocrates ประมาณ 460–377 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการแพทย์” มีความเชื่อว่าโรคทุกชนิดเกิดจากธรรมชาติ ไม่ใช่พระเจ้าลงโทษ
          9. ภูมิศาสตร์ เอราทอสทินีส (Eratosthenes ประมาณ 276–196 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักดาราศาสตร์และนักภูมิศาสตร์ สามารถคำนวณเส้นรอบโลกได้
          10. ประวัติศาสตร์ เฮโรโดตัส (Herodotus ประมาณ 484–425 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้เดินทางไปยังดินแดนต่าง ๆ แล้วเขียนหนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์ (History เป็นภาษากรีก แปลว่าสอบถาม)
5. อารยธรรมโรมัน
     5.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการตั้งถิ่นฐาน
อารยธรรมโรมันกำเนิดในบริเวณคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป โดยมีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเขา
     5.2 อารยธรรมโรมันสมัยประวัติศาสตร์
เมื่อ 27 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวโรมันได้ยุติการปกครองในระบอบสาธารณรัฐและหันมาใช้การปกครองแบบจักรวรรดิอย่างเป็นทางการ ออคเทเวียน (Octavian) ได้รับสมญานามว่า ออกัสตัส (Augustus)
     5.3 มรดกของอารยธรรมโรมัน
ชาวโรมันเรียนรู้วิธีการต่อเรือ การใช้ตัวอักษร เหรียญกษาปณ์ และมาตราชั่ง ตวง วัด ตลอดจนงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ จากกรีก
          1. สถาปัตยกรรม เช่น สร้างโรงมหรสพขนาดใหญ่ จุผู้ชมได้ถึง 67,000 คน เรียกว่า โคลอสเซียม (Colosseum)

 

โคลอสเซียม

 

          2. ประติมากรรม จะสะท้อนบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างสมจริงตามธรรมชาติ มีสัดส่วนงดงามเหมือนกรีก
          3. วรรณกรรม ในระยะแรกเป็นการบันทึกพงศาวดาร ตัวบทกฎหมาย
          4. วิศวกรรม โรมันประสบความสำเร็จในการสร้างถนนคอนกรีตที่มีความแข็งแรงทนทาน
          5. ปฏิทิน เดิมใช้ปฏิทินจันทรคติ จนกระทั่งเมื่อ 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar 100–44 ปีก่อนคริสต์ศักราช) นักประวัติศาสตร์และแม่ทัพผู้มีอำนาจของโรมันให้ใช้ปฏิทินจูเลียนซึ่งเป็นแบบสุริยคติ
          6. กฎหมาย ได้เปลี่ยนจากข้อบัญญัติของพระเจ้ามาเป็นกฎหมายบ้านเมือง ในที่สุดก็ได้มีการตรา กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Law of the Twelve Tables) 

 

คำสำคัญ
อารยธรรมเมโสโปเตเมีย
อาณาจักรบาบิโลเนีย
ไฮโรกลิฟิก (hieroglyphic)
เอเชียไมเนอร์
นครรัฐ (City-State)
ฮีบรู (Hebrew)
โมเสก (Mosaic)
โคลอสเซียม (Colosseum)
กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Law of the Twelve Tables)

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th